เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ‘โครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ’ ที่มีการตีเกราะเคาะกลองมาตั้งแต่สมัยคุณเศรษฐา ทวีสิน ยังเป็นนายกรัฐมนตรี โดยปักไว้เป็นโครงการใหญ่ ที่จะใช้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่รัฐบาลเตรียมพร้อมลงเข็มปักหมุดเรียกเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก และดึงการลงทุนเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจไทย ซึ่งขณะนี้ภายใต้การนำของคุณแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงของไทยก็ได้เดินหน้าผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. หรือ พ.ร.บ. เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปยังการเริ่มต้นสถานบันเทิงขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทย
โดยที่ผ่านมามีการเปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว ล่าสุดอยู่ในครั้งที่ 3 เป็นร่างที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา วาระที่หนึ่งแล้ว โดยขั้นตอนต่อจากนี้จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 4 มีนาคม 2568 นี้ หาก ครม. เห็นชอบจะนำเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภาต่อ
<ทำไมต้องมีกาสิโน ?>
ที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามเปิดเผยรายละเอียดโครงการแบบกว้างๆ แต่หลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตถึงแนวทางการทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ กับธุรกิจในสถานบันเทิงครบวงจร 10 ประเภท ที่นอกเหนือจากห้างสรรพสินค้า โรงแรม สถานบริการ ศูนย์ประชุม สนามกีฬา สวนน้ำ เป็นต้น แต่ต้องสะดุดก็คือ “กาสิโน” ที่จะรวมอยู่ด้วยในสถานบันเทิงแห่งนี้ด้วย
โดยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หอสมุดรัฐสภาได้เปิดเวทีเสวนา ร่าง กฎหมายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ในประเด็น “ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ… กับบริบทสังคมไทย” หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ…. ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา วาระที่ 1 เพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนผ่านเว็บไซต์ เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ จนถึง 1 มีนาคม 2568
คุณธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ตั้งข้อสังเกตว่าเนื้อหาที่สำนักงานกฤษฎีการับฟังความเห็นนั้น หลังจากแก้ไขปรับปรุงล่าสุด “ไม่ตรงปก” เพราะร่างกฎหมายเขียนล็อกโดยใช้คำว่าสถานบันเทิงครบวงจรมีคุณสมบัติคือ 4 กิจการร่วมกับกาสิโน เท่ากับบังคับให้ต้องทำกาสิโนร่วมด้วย
ทั้งนี้กฤษฎีกาปรับปรุงระบุว่าผู้ประกอบการบางรายไม่ทำกาสิโนก็ได้ แต่รายละเอียดรวมถึงแนวคิดอื่นๆ ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งยังมีประเด็นที่กังวล คือการขาดหายของธรรมาภิบาล การตรวจสอบและถ่วงดุล
“ฉบับนี้เปลี่ยนแปลงคือให้อำนาจนโยบายจำนวนมาก เท่ากับการตีเช็คเปล่า นอกจากนั้นแล้วยังให้ตั้งคณะอนุกรรมการให้ทำงานแทนกรรมการนโยบายและให้ถือว่าการทำงานของอนุกรรมการเป็นการดำเนินงานแทนบอร์ดใหญ่ โดยไม่กำหนดคุณสมบัติของผู้เป็นอนุกรรมการ ซึ่งกฤษฎีกาทำกฎหมายรัดกุมหรือหละหลวมกันแน่” คุณธนากร กล่าว
ด้านคุณอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่ารู้สึกหนักใจต่อร่างกฎหมายที่สำนักงานกฤษฎีกาปรับปรุงและเผยแพร่รับฟังความเห็น เพราะเนื้อหาของร่างกฎหมายไม่ตรงปก เนื่องจากชื่อกฎหมายคือสถานบันเทิงครบวงจร แต่รายละเอียดคือกาสิโน ซึ่งในรายละเอียดแม้กฤษฎีกาจะแก้ไขรายละเอียดบางประเด็น ซึ่งเป็นการใส่เทคนิคเล็กน้อย เช่น กำหนดสัดส่วนระหว่างสถาบันเทิงครบวงจร 90% ขณะที่กาสิโน 10% แต่ยังมีความไม่ชัดเจนว่าจะมีการเปิดเป็นจำนวนเท่าไร ภูมิภาคใด แต่กำหนดให้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา คือกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยฝ่ายบริหาร หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ โดยเข้าใจกฤษฎีกาต้องการความเข้มข้น จากเดิมที่ออกเป็นมติบอร์ดสถานบันเทิงครบวงจร
(อ่าน ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือร่วมแสดงความเห็นได้ที่ลิงก์นี้ https://shorturl.asia/IE260)
อย่างไรก็ตาม คุณอรรถวิชช์ บอกอีกว่าเห็นด้วยกับการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร แต่ต้องกำหนดสัดส่วน และขนาดให้ชัดเจน รวมถึงต้องกำหนดรายละเอียดให้ดี เพราะหากจะทำสถานบันเทิงครบวงจรในพื้นที่ใด ถือว่าเป็นการสร้างเมืองใหม่ ดังนั้นต้องมีความพร้อมสำหรับความร่วมมือในการป้องกันปัญหา เช่น ตำรวจ ท้องถิ่น แต่ร่างที่ปรับปรุงนั้นไม่มีการเชื่อมโยงระหว่าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงฝ่ายปกครอง นอกจากนั้นการเขียนกฎหมายแบบนี้เท่ากับว่าให้ไลเซ่นที่ไม่มีราคา แต่กลับทำให้เป็นปัญหาสังคม
<ยกกาสิโนขึ้นบนดิน ต้องเจาะกลุ่มชัด>
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่าวัตถุประสงค์หลักของรัฐบาล เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ไม่ใช่เน้นแต่ธุรกิจการพนันอย่างเดียว ซึ่งปัจจุบันมีหลายประเทศที่สามารถทำเงินจากธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ได้กว่าปีละ 1 ล้านล้านบาท รวมทั้งในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม สปป.ลาว และพม่า ก็มีรายได้จากธุรกิจนี้ตั้งแต่ 5,000 ล้านบาท ไปจนถึงหลายแสนล้านบาทในแต่ละปี ซึ่งที่ผ่านมาทำให้ไทยสูญเสียเงินตราในส่วนนี้ไปจำนวนมาก
รศ.ดร.ธนวรรธน์ แสดงความเห็นด้วยว่านโยบายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เป็นการบริหารจัดการการพนันนอกระบบโดยรัฐบาล แต่เนื่องจากมีทั้งผลบวกและลบ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งประชาสัมพันธ์และเปิดฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง สังคมยังต้องการการถกเถียง และการให้ความรู้มากกว่านี้ รวมทั้งต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้เด็กเข้าถึงการพนันด้วย
ด้านทีดีอาร์ไอ มีข้อคิดเห็นว่าการนำเศรษฐกิจใต้ดินขึ้นมาบนดินต้องพิจารณาให้รอบด้านว่าใครได้ใครเสีย เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมสูง และในกรณีเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่มีกาสิโนถูกกฎหมาย หากมีการจำกัดให้เฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้นที่สามารถใช้บริการได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานของประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้
<นักวิชาการมองเม็ดเงินที่ได้อาจไม่คุ้มเสีย>
เว็บไซต์สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ รายงานความคิดเห็นจากนักวิชาการประเด็นการจัดตั้งสถานบันเทิงครบวงจร โดยมีกาสิโนถูกกฎหมายรวมอยู่ด้วยว่ายังคงเป็นประเด็นเห็นต่างทั้งฝ่ายการเมืองและสังคมโดยรวม
โดยใจความตอนหนึ่งของ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าจากการศึกษาวิจัยที่ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กรณีข้ออ้างความจำเป็นของบ้านเราที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่รายรับไม่เพิ่มขึ้น นั้น หากยกตัวอย่างโมเดลของสิงคโปร์ จะพบว่าสิงคโปร์มีรายได้ปี 2023 จากกาสิโนประมาณ 130,000 ล้าน โดยจัดเก็บภาษีที่เป็นส่วนของรัฐบาลจาก 2 อัตรา คือวีไอพีจัดเก็บเต็ม 12–13% ส่วนบุคคลทั่วไปเก็บ 20% เมื่อเฉลี่ยประมาณ 15% บนฐาน 130,000 ล้าน ก็จะเหลือประมาณ 20,000 ล้าน ฉะนั้นงบจากภาษี 20,000 ล้านเท่านั้นเอง มันไม่มากพอจะแปรเปลี่ยนอะไร
สำหรับในสหรัฐอเมริกา มีการประเมินในหลายพื้นที่ว่าเป็นรายรับ เพราะแต่ละรัฐจะกำกับดูแลแตกต่างกันไป นโยบายเรื่องพนันอยู่ในระดับมลรัฐ ไม่ใช่ระดับประเทศ เพราะฉะนั้นจึงประเมินว่า บางทีก็ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะเมื่อจัดการได้ไม่ดี ปรากฏว่าปัญหาสังคมมาก คนติดพนัน อาชญากรรมทั้งหลายเพียบ จนต้องเอาเงินอีกส่วนหนึ่งของรัฐไปรักษา เยียวยา ป้องกันปัญหา ปรากฏว่าใช้เงินมากกว่าภาษีที่จัดเก็บได้เสียอีก
รศ.ดร.นวลน้อย ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาการฟอกเงิน เพราะกาสิโนจะเป็นเป้าหมายของอาชญากร ซึ่งในโมเดลของสิงคโปร์ที่ชัดเจนก็คือการตรวจสอบคนเล่น และเปิดบัญชีสำหรับคนที่มาเล่นต่างประเทศที่จะมาเล่นเป็นวีไอพี เขาจะเปิดบัญชี แค่ 4,000 เหรียญสิงคโปร์ โดยตรวจสอบว่าเงินมาอย่างไร เพื่อป้องกันการเอาเงินสกปรกเข้าไปหมุน
ด้านอาจารย์ธาม เชื้อสถาปนศิริ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า รัฐบาลปัจจุบันพยายามแก้ปัญหาการพนันออนไลน์ โดยการตั้งกาสิโนออนไซด์ จริงๆ แล้วมันเป็นคนละประเด็นปัญหากัน ไม่ได้เชื่อมโยงกัน ถ้าจะบอกว่าเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ไม่อยากให้คนไทยไปเล่นการพนันในต่างประเทศแถวชายแดน หรือบินไปต่างประเทศ ฉะนั้นกาสิโนก็ควรตั้งในชายขอบ ขณะที่วันนี้เด็กและเยาวชนก็เล่นการพนันออนไลน์อยู่แล้ว การตั้งบ่อนกาสิโน จึงเป็นคนละกลุ่ม
หากตั้งกาสิโนออนไซด์ขึ้นมาแก้ปัญหา มองว่าจุดเชื่อมสำคัญที่เด็กที่ได้รับผลกระทบจริงๆ คือลูกหลานที่พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าไปเล่นในบ่อนออนไซด์ แม้เขาอาจไม่ได้เล่นพนันออนไลน์ แต่เขามีพ่อแม่ที่เล่นจนกลายเป็นมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจครัวเรือน (วนไปสู่ปัญหาหนี้สิน) เด็กจะได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างไม่ค่อยดี เป็นต้น
<เลขาฯ กฤษฎีกายันใส่กลไกป้องกันคนไทยหมกมุ่นพนัน>
ส่วนกรณีกฤษฎีกามีการวางหลักว่าคนไทยที่จะเข้าไปเล่นในกาสิโนจะต้องมีเงิน 50 ล้านบาทนั้น คุณปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่าถือเป็นไอเดียเบื้องต้น โดยอาจจะเป็นการป้องกันไม่ให้คนไทยเข้าไปเล่น หรือถูกมอมเมา แต่ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้
โดยความคืบหน้าการปรับถ้อยคำร่าง พ.ร.บ. เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ขณะนี้อยู่ในวาระที่ 2 ส่วนร่างที่เสร็จไปเบื้องต้นนั้น พิจารณาในหลักการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้อยู่ในช่วงการรับฟังความคิดเห็นทั่วไป ซึ่งสามารถแสดงความคิดเห็นกันได้ ก่อนที่จะเอาไปประกอบการพิจารณาในวาระที่ 2 ต่อไป โดยเลขาฯ กฤษฎีกายืนยันว่าทันตามกรอบเวลา 50 วันแน่นอน
<คลังไม่เอาด้วย ตั้งเพดานเงินเข้ากาสิโน 50 ล้าน>
คุุณจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มองว่าการที่กฤษฎีกากำหนดว่าผู้ที่จะเข้าเล่นได้จะต้องมีเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท ต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 6 เดือนนั้น ต่างจากหลักคิดของรัฐบาลบางส่วน เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้มุ่งเพียงแค่กระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการพนันผิดกฎหมายด้วย
“หากกำหนดที่ 50 ล้านบาท ลองคิดภาพง่ายๆ ว่าถ้ามีเงินคนไทยมีเงิน 50 ล้านบาทในบัญชีประมาณ 10,000 บัญชี แปลว่าเราจะดันกลุ่มคนหนึ่งที่ปัจจุบันยังไปเล่นตามชายแดน และเล่นในลักษณะผิดกฎหมายออกไปแทนที่จะดึงเข้าสู่ระบบ หากคิดถึงส่วนนี้จะเห็นว่าหลักคิดแตกต่างกัน ดังนั้นเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องมีการหารือกันต่อไป ซึ่งมีขั้นตอนของทางสภาอีก” คุณจุลพันธ์ กล่าว
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับการเสนอว่าจะปรับลดตัวเลขหรือไม่ เนื่องจากต้องหารือกับกฤษฎีกาก่อน เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจึงจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสู่การพิจารณาของสภา สุดท้ายอยู่ที่สภาจะวินิจฉัย และลงมติอย่างไร และจะเข้า ครม. ได้เมื่อไรนั้นขึ้นอยู่กับกฤษฎีกา
<กฤษฎีกาขอให้ทำความเข้าใจดีๆ>
พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่นั้น เลขาฯ กฤษฎีการะบุว่าจะต้องรับฟังความคิดเห็นในหลักการ โดยมี 2 เรื่องที่คล้ายๆ กันอยู่ คือการรับฟังความคิดเห็นและการทำประชามติ ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นเป็นการนำไปประกอบการพิจารณาของฝ่ายนโยบายว่าเมื่อรับฟังความคิดเห็นแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งต่างจากการทำประชามติ โดยในประชามติเมื่อมีความคิดเห็นอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น ต้องแยกกันให้ออก อย่าเอาไปปนกัน ตอนนี้สังคมเอาไปปนกันหมดเลย ทั้งเรื่องการรับฟังความคิดเห็นและการทำประชามติ
อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการกฤษฎีการับฟังความคิดเห็นแล้วประชาชนไม่เห็นด้วย รัฐบาลจะเดินหน้าต่อได้หรือไม่ นั้น เลขาฯ กฤษฎีกา ตอบแค่เพียงว่า “แล้วแต่รัฐบาลและสภาจะพิจารณาอย่างไร และจะแก้อย่างไรตามที่เห็นสมควร”
แม้ว่ากฎหมายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ จุดมุ่งหมายหลักคือเม็ดเงินมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นประเด็นละเอียดอ่อนในสังคมบ้านเรา สิ่งที่รัฐบาลต้องตอบคำถามให้ได้คือ “ประชาชนจะได้อะไร คุ้มไหม ถ้าต้องเสี่ยงกับปัญหาสังคม เพื่อแลกกับเม็ดเงินนักพนัน น่าจะเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายต้องการคำตอบ… แล้วคุณล่ะ คิดเห็นอย่างไร?