เป็นกระแสฮือฮาอย่างมาก ภายหลังจากแพลตฟอร์มน้องใหม่จากจีนอย่าง เทมู (Temu) ที่เปิดตัวในประเทศไทยอย่างเป็นทางการไปเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว เปิดศึกอีคอมเมิร์ซในไทยทั้งเจ้าใหญ่เจ้าเล็กด้วยการทำการตลาดลดราคาสินค้าถึง 90% เพื่อหวังจะดึงลูกค้าคนไทยในเวลาอันสั้น
ซึ่งจากการสำรวจของ BTimes ก็พบว่าสินค้าใน Temu มีความหลากหลาย คล้ายๆ แอปส้มแอปฟ้าเจ้าเก่า ซึ่งในช่วงเปิดตัวมีลดส่วนตั้งแต่ 50–90 %เลยทีเดียว ส่วนราคาสินค้าก็มีตั้งแต่หลัก 10 บาท จนถึงถึงหลักพัน ซึ่งสิ่งที่จูงใจได้มากสำหรับลูกค้าคนไทยอย่างเราๆ ก็คือ “ส่วนลด” และ”ส่งฟรี” ที่นับเป็นกลยุทธ์ไม้ตายที่ดูดขาชอปบ้านเราได้ไม่ยาก
<กระแสกำลังมา ปลากำลังขึ้น>
ในช่วงหลายวันมานี้ บนโลกโซเชียลมีเดียต่างก็มีการวิจารณ์เกี่ยวกับแอปฯ จีนน้องใหม่กันแพร่หลาย มีทั้งรีวิวสินค้าจากการทดลองสั่งครั้งแรก ซึ่งก็ยิ่งทำให้ “Temu” ยิ่งเป็นที่รู้จัก เหมือนน้ำมา ปลากำลังขึ้น
ซึ่งจากกระแสในตอนนี้ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการไทยเป็นกังวล เพราะที่ผ่านมาสินค้าจากประเทศจีนมีอิทธิพลต่อบ้านเราไปมากแล้ว เอาดีๆ คือสินค้าจีนแทรกซึมเข้ามาในไทยมานานแทบจะนับย้อนเวลากันยากมาก แต่เพิ่งจะตื่นตัวและเบิกเนตรกันได้ไม่นานมานี้เองจากข่าวคราวของทุนจีนสีเทา ขบวนการแย่งอาชีพคนไทยต่างๆ นานา และที่เห็นในรูปแบบถูกกฎหมายก็คงเป็นการลงทุนฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า นำเข้ารถยนต์อีวีจากจีนที่ปัจจุบันหลายค่ายก็แข่งกันหั่นราคากันเป็นว่าเล่น ทำให้ตลาดรถอีวีในไทยโตแบบก้าวกระโดด
<อีคอมเมิร์ซโตดี ยิ่งน่าจอย>
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ETDA รายงานผลการสำรวจ Value of e–Commerce Survey in Thailand 2023 พบว่า ปี 2565 มูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีมูลค่าถึง 5.43 ล้านล้านบาท โดยช่องทาง e–Marketplaces และ Social Commerce ได้รับความนิยมมาก ส่งผลให้ปี 2566 มูลค่าพุ่งถึง 5.96 ล้านล้านบาทไปแล้ว
ล่าสุดคุณกุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (อีคอมเมิร์ซ) บอกว่า การเข้ามาของแพลตฟอร์ม “Temu” ของจีน จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะร้านค้าเอสเอ็มอี เนื่องจากขายสินค้าราคาถูก และส่งคืนสินค้านานกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้ภายใน 90 วัน ขณะที่แพลตฟอร์มอื่นอยู่ที่ประมาณ 14 วัน ยิ่งทำให้ได้รับความสนใจจากลูกค้ามากขึ้น
<ทำความรู้จัก Temu และผู้ก่อตั้ง>
แพลตฟอร์มเทมู (Temu) เป็นแบรนด์อีคอมเมิร์ซดาวรุ่งจากประเทศจีนที่นำเสนอผลิตภัณฑ์มากมายในราคาที่ต่ำ ตั้งแต่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเสื้อผ้า ไปจนถึงอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์และเครื่องสำอาง เชื่อมลูกค้าเข้ากับผู้ผลิตโดยตรง แล้วตัดคนกลางทิ้งทั้งหมด ซึ่งทำให้ Temu ลดราคาสินค้าลงแบบที่ไม่มีใครทำได้ และบนแอปจะแสดงข้อมูลร้านที่มียอดขายยอดนิยม ซึ่งก็เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ (ซึ่งก็คล้ายๆ กันกับแอปเดิมที่เราๆ เคยใช้กันอยู่) ว่าร้านไหนมีสัดส่วนการซื้อซ้ำสูง หรือผู้ขายรายใดเปิดร้านมาเกิน 1 ปีมีจำนวนผู้ติดตาม จำนวนสินค้าที่ขายได้มากน้อยแค่ไหน มีเครื่องหมายการันตีว่าเป็นของแบรนด์ที่เป็นที่รู้จัก เชื่อถือได้หรือไม่
ขณะที่ผู้บริหารหรือเจ้าของแพลตฟอร์ม คือ คอลิน หวง (Colin Huang) อายุ 44 ปี ที่เป็นผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ “พินตัวตัว” (Pinduoduo) (PDD Holdings Inc.) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนบริษัทแม่ของ “เทมู” (Temu)
โดย หวง ดีกรีเป็นถึงอดีตวิศวกร Google แต่ประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อยในธุรกิจเกม และอีคอมเมิร์ซ ซึ่งก่อนหน้านี้เขาพักรักษาตัวจากอาหารป่วยอยู่ 1 ปี ก็กลับมาสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในวงการ “อีคอมเมิร์ซ” ด้วยการก่อตั้ง Pinduoduo ด้วยโมเดลธุรกิจที่เน้นการขายสินค้าราคาถูก และโปรโมชันสุดคุ้ม ทำให้ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในบุคคลที่รวยที่สุดในโลก
ในช่วงโควิด–19 ทรัพย์สินของหวงได้หายไปอย่างรวดเร็วลดลง 87% ในเวลาประมาณหนึ่งปี จากนั้นเกิดเรื่องราวที่น่าประหลาดใจขึ้นกับบริษัทพินตัวตัวที่กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยมีการขยายธุรกิจออกไปนอกประเทศจีนภายใต้ชื่อแบรนด์ Temu ช่วยต่อกรกับเศรษฐกิจภายในประเทศที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง ซึ่งหวงมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีน หลังจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ ผู้คนหันมาจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวังมากขึ้น และมองหาสินค้าที่มีราคาถูก และคุ้มค่า ซึ่งตรงกับโมเดลธุรกิจของ Pinduoduo พอดี
อย่างไรก็ตาม การที่ Pinduoduo เน้นการขายสินค้าในราคาที่ถูกมาก ทำให้ซัพพลายเออร์บางรายไม่พอใจกับการลดราคา และกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวด และในที่สุด แม้ว่า Pinduoduo จะเป็นผู้นำตลาดอีคอมเมิร์ซกลุ่มหนึ่ง แต่ก็ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งรายอื่นๆ ทั้งใน และต่างประเทศ
และความสำเร็จของ Pinduoduo ทำให้ Colin Huang กลายเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของจีน ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ด้วยทรัพย์สินมูลค่า 48,600 ล้านดอลลาร์ แซงหน้า “จงซานซาน” เจ้าสัวน้ำดื่มหนงฟู่สปริงที่ครองตำแหน่งมานานกว่า 3 ปี
<ผู้ประกอบการไทย เอสเอ็มอี พากันนั่งไม่ติดหวั่นธุรกิจถูกฆ่าตัดตอน>
คุณแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเข้ามาของ Temu โดยได้รับเรื่องปัญหาทุนจีนเข้ามารุกตลาดไทย กระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนมาก โดยตอนนี้หลายธุรกิจไม่แค่แพลตฟอร์มออนไลน์ “Temu” ที่รูปแบบทำธุรกิจเหมาทั้งระบบ กำลังเป็นปัญหาของธุรกิจไทยกำลังถูกฆ่าตัดตอน รัฐจะอ้างว่าเป็นเสรีการค้า เป็นคนละเรื่อง ซึ่งการเปิดเสรีการค้าก็ต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมหรือธุรกิจในประเทศต้องเดือดร้อน รัฐบาลปล่อยปัญหาไปเรื่อยๆ ธุรกิจไทยคงปิดตัวลง เอสเอ็มอีไทยก็ยังเจอปัญหาเดิม คือ เข้าไม่ถึงแหล่งทุน แม้รัฐออกซอฟต์โลนก็ติดเกณฑ์เดิมๆ คือนิยามขนาดเอสเอ็มอีแต่ละธนาคารไม่เหมือนกัน และยังเลือกปล่อยกู้ให้ลูกค้าเดิมที่แข็งแรงอยู่แล้ว ไม่ได้มีการขยายถึงเอสเอ็มอีใหม่ที่แข็งแรง ตั้งใจทำธุรกิจ แค่ติดเรื่องขาดสภาพคล่องจากวิกฤตสะสมตั้งแต่โควิด–19
<กลัวเศรษฐกิจไทยถูกซ้ำเติม>
คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บอกว่ารู้สึกกังวลเรื่องไทยขาดดุลการค้ากับจีน หลังจากที่ 6 เดือนแรกของปี 2567 มีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 7.12% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (YoY) คิดเป็นมูลค่ากว่า 37,569.89 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีน –19,967.46 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 15.66% และวันนี้อุตสาหกรรมไทยยังถูกซ้ำเติมจาก Platform e–Commerce น้องใหม่ Temu ทะลักเข้ามาเปิดตลาดในประเทศ โดยขายสินค้าจากโรงงานตรงจากจีน ส่วนใหญ่ 100% เอาไปขายทั่วโลกรวมถึงไทย ส่งตรงถึงผู้บริโภคในราคาถูก ซึ่งเป็นการค้ารูปแบบใหม่ของจีนที่จีนตัดคนกลางทิ้ง ต้นทุนต่ำมาก อีกทั้งราคาถูกอย่างเหลือเชื่อ จะเห็นได้ว่า Temu เข้าไปถล่มเจ้าตลาดสหรัฐฯ อย่าง Amazon แค่ปีกว่ามีผู้เข้าไปใช้บริการ 51 ล้านคน
ความน่ากังวลของแพลตฟอร์มออนไลน์นี้คือการตัดราคาโดยไม่ผ่านคนกลาง ซึ่งมองว่าแพลตฟอร์มนี้จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างหนัก ซึ่งมีการไหลบ่าเข้ามาของสินค้าจีนจากทางอื่นที่ทรุดหนักอยู่แล้ว ที่น่าก็ห่วงก็คงจะเป็นเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นเศรษฐกิจรากฐานของประเทศ
<วิจารณ์หนัก Temu ไม่อยู่ในระบบภาษี>
มีข้อกังวลว่า Temu ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีและจะโกยเงินกลับไปบ้านของเขาแทนจะสร้างเงินหมุนเวียนในไทย และมองว่าเข้ามาแบบถูกกฎหมายหรือไม่ เสียภาษีแบบใด จนถึงหูคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ได้สั่งให้กระทรวงดีอี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และกรมสรรพากร ไปตรวจสอบ โดยเฉพาะเรื่องของสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับการยกเว้นภาษีเพิ่ม(VAT) ก็ถือเป็นส่วนหนึ่ง เพราะเอสเอ็มอีเป็นภาคส่วนที่เปราะบาง ต้องช่วยปกป้อง
ล่าสุดคุณกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร ออกมาเปิดเผยแล้วว่ากรมสรรพากรได้ดำเนินการติดต่อไปยัง Temu แล้ว โดยการส่งอีเมล์ ซึ่งเป็นการแนะนำให้เข้ามาจดทะเบียนเป็นผู้เสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายไทยเท่านั้น อย่างไรก็ดีปัจจุบันสถานะของ “Temu” ยังไม่เข้าข่ายตามกฎหมายการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการที่ต้องเสียภาษีมูลค่า (แวต) เพิ่มในประเทศไทย เพราะฉะนั้น ทำให้ไม่สามารถบังคับให้เขามาจดทะเบียนแวตได้
“Temu เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ขายสินค้าจากต่างประเทศโดยตรงที่ไม่มีผู้ประกอบการคนไทยเข้าไปเป็นสื่อกลางการใช้บริการ หรือเปิดร้านซื้อขายบนแพลตฟอร์ม เพราฉะนั้น Temu จึงยังไม่เข้าข่ายผู้ต้องเสียภาษีในประเทศไทย คือภาษีแวต ที่เรียกเก็บจากแพลตฟอร์มต่างชาติ หรือ VES : VAT for Electronic Service ไม่เหมือนกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่มีผู้ประกอบการไทยเข้าไปใช้บริการ แพลตฟอร์มจึงต้องจ่ายแวตเข้ามาที่สรรพากร”
<เปิดเสรีได้แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐาน กฎหมายต้องเข้ม>
ในมุมมองของเอกชนเองนั้น อยากให้รัฐบาลเข้มงวดการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้า กำกับ และควบคุมสินค้าที่หลีกเลี่ยงภาษี โดยบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าภายในประเทศอย่างเข้มข้น สกัดกั้นตั้งแต่ด่านแรกของกระทรวงการคลังและการค้าชายแดน กระทรวงพาณิชย์ โดยมองว่าภาคาครัฐควรเพิ่มแต้มต่อให้กับสินค้าไทย จากปัจจุบัน 5% อยากให้เพิ่มเป็น 5–20% และควรต้องทำในระยะเวลานาน เพื่อให้ผู้ประกอบการฟื้นตัว อย่างน้อยต้อง 2 ปี และเรื่องนี้ต้องทำเร่งด่วน
ทั้งนี้ทั้งนั้น ของถูกและดีย่อมดีต่อผุ็บริโภคแน่นอน แต่สิ่งที่ประเทศไทยควรมีคือ ผู้ประกอบการไทยและ Supply Chain ไทยมีความเข้มแข็ง ที่สำคัญกฎหมายต้องไม่อ่อนปวกเปียกจนเป็นช่องว่างให้คนนอกบ้าน มากอบโกยผลประโยชน์ที่เป็นของคนไทยไปมากเกินจนน่าเกลียด อย่างนั้นถึงจะสมดุล ทุกกลุ่มอยู่รอดปลอดภัยจากวิกฤต ไม่ล้มหายตายจากไปจากตลาด…