หรือเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณวิกฤต? เมื่อนโยบายการเงินต้องออกโรง กนง. หั่นดอกเบี้ยช่วยพยุง หนี้ยังสูง ท่องเที่ยวชะลอ สงครามการค้า ภาษีทรัมป์ยังเสี่ยง

หรือ เศรษฐกิจไทย ส่งสัญญาณวิกฤต? เมื่อนโยบายการเงินต้องออกโรง กนง. หั่นดอกเบี้ยช่วยพยุง หนี้ยังสูง ท่องเที่ยวชะลอ สงครามการค้า ภาษีทรัมป์ยังเสี่ยง

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. นัดล่าสุด (30 เม.ย. 68) ได้มีมติลดดอกเบี้ยด้วยมติ 5 ต่อ 2 เสียง ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ลงมาอยู่ที่ 1.75% ต่อปี ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องจากประชุมนัดที่แล้ว ตามที่บรรดากูรู นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้

ซึ่งการลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ หลักๆ ก็เพื่อพยุงเศรษฐกิจหลังจากไทยยังเผชิญสารพัดความเสี่ยง ทั้งจากปัญหาภายนอก โดยเฉพาะนโยบายการค้าสหรัฐ และการตอบโต้ของประเทศเศรษฐกิจหลัก การท่องเที่ยวที่ชะลอตัวจากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ลดลงหลังสงกรานต์ ภาวะการเงินโดยรวมที่ยังตึงตัวจากปัญหาหนี้เรื้อรังช่วงที่ผ่านมา ทำให้กำลังซื้อคนไทยยังไม่ฟื้น

“ในขณะนี้เรายังไม่ได้อยู่ในช่วงพายุ แต่พายุใหญ่กำลังจะมา ซึ่ง กนง. มองว่าใน 2 ไตรมาสแรก ผลกระทบอาจจะไม่มากนัก เพราะยังเห็นการเร่งส่งออก และมีนักท่องเที่ยว แต่ในครึ่งปีหลังพายุจะเข้ามา โดยเราจะรู้แล้วว่าภาษีที่สหรัฐฯ จะเก็บเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไร และประเทศอื่นๆ จะเป็นอย่างไร และผลกระทบเช่นนี้จะลากยาวไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้ กนง. มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวลดลงและมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น โดยการส่งออกและนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มลดลง ทำให้ กนง. ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ และอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ลง” สักกะภพ พันธยานุกูล เลขานุการ กนง. กล่าว

กนง. มองว่าผลกระทบในปัจจุบันยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ความไม่แน่นอนยังมีสูงมาก เพราะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับลดลง และสถานการณ์มีแนวโน้มยืดเยื้อและผลกระทบจะทอดยาว ทำให้ประสิทธิภาพการค้าและการผลิตโลกลดลงในระยะยาว รวมทั้งนโยบายการค้าโลกของประเทศเศรษฐกิจหลักในอนาคตยังคาดเดาได้ยาก ขณะที่ภาวะการเงินยังคงตึงตัว ทำให้ ธปท. จะต้องติดตามภาวะความเสี่ยงในด้านการเงินของผู้ที่ได้รับผลกระทบเศรษฐกิจไทยที่ชะลอลงแรง และฐานะการเงินโดยรวมของประชาชนในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ผลประชุมได้มีกรรมการ 2 ท่านเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อใช้ในจังหวะที่เกิดประสิทธิผลสูงสุดภายใต้ขีดความสามารถของนโยบายการเงินที่มีจำกัด กนง. มองว่านโยบายการค้าจะเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้น ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2568 และได้ประเมินผลกระทบไว้ 2 กรณี คือกรณีที่ 1 การเจรจาทางการค้ามีความยืดเยื้อและภาษีนำเข้าของสหรัฐใกล้เคียงกับอัตราปัจจุบัน อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวประมาณร้อยละ 2 และกรณีที่ 2 สงครามการค้ารุนแรงมากและภาษีนำเข้าของสหรัฐอยู่ในอัตราที่สูง อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวได้แค่ร้อยละ 1.3 ที่แน่ๆ ดอกเบี้ยลด จะส่งผลดีต่อบรรดาลูกหนี้เงินผ่อน เช่น หนี้บ้าน ที่จะมีภาระดอกเบี้ยลดลง

<กนง. อาจจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยลงอีก>

SCB EIC มองว่านโยบายการเงินจะต้องผ่อนคลายเพิ่มเติมอีก เพราะปัจจุบันภาวะการเงินของไทยยังคงตึงตัวเทียบกับในอดีต แม้จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหลายครั้ง นอกจากสถานการณ์ในประเทศที่สินเชื่อหดตัว และคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลง ดัชนีค่าเงินบาทยังคงแข็งค่ากว่าในอดีต ภาวะการเงินที่ยังตึงตัวอยู่ชี้ให้เห็นว่า กนง. อาจต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม เพื่อให้ภาวะการเงินเอื้อต่อสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มจะโตชะลอลงมาก

ในสงครามการค้าครั้งแรกมีการขึ้นภาษีตอบโต้กันไปมาระหว่างสหรัฐและจีน โดยไทยได้รับผลกระทบแค่ทางอ้อมเท่านั้น ขณะนั้นค่าเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ที่เพียง 0.3% เท่านั้น ซึ่งแตกต่างกับในปัจจุบันที่สงครามการค้ารุนแรงขึ้นมาก และไทยได้รับผลกระทบทางตรงที่รุนแรง แต่ดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ที่ 0.7% การรับมือกับสงครามการค้ารอบนี้จึงอาจต้องอาศัยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำลงกว่าอดีต

<แนวโน้มหั่นดอกเบี้ยได้อีก รองรับความเสี่ยง>

SCB EIC มองว่าจากสถานการณ์ปัจจุบันของไทย ทำให้คาดว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ สู่ระดับ 1.25% ภายในสิ้นปี 2025 เพื่อรองรับเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงตามความไม่แน่นอนที่ปรับสูงขึ้นจากนโยบายการค้าสหรัฐ ความตึงตัวของภาวะการเงินที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ประเมินว่าระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีนี้จะต่ำกว่าช่วงปีที่เกิดสงครามการค้า 1.0 ระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งขณะนั้นไทยยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ ประเมินว่า กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมอีก เพื่อรองรับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมาก แต่จะดำเนินการอย่างระมัดระวัง เนื่องจากต้องคำนึงถึงการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต (Policy Space) คาดว่าอาจเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในการประชุมเดือนสิงหาคม 2568 สู่ระดับ 1.50% ในปี 2568

<พาเหรดหั่นคาดการณ์จีดีพีไทย>

หลังจาก กนง. ได้หั่นดอกเบี้ยนโยบายตามที่หลายๆ กูรูคาด ต่อมากระทรวงการคลัง โดยนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ก็ได้ประกาศตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 โดยลดลงจากคาดการณ์เดิมลงมาอยู่ที่ 2.1% จากเดิมคาดโต 3% ซึ่งสาเหตุหลักมาจากแรงกดดันด้านการค้าโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ประเมินเศรษฐกิจไทย ปี 2568 ว่าจะขยายตัวได้เพียง 1.3–2 % ลดลงจากการประชุมครั้งก่อน ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.5% ขณะที่ในปี 69 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ที่ 1–1.8% โดยมองผลกระทบของสงครามการค้าจะรุนแรงมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 68

ขณะที่ทิสโก้ ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 มาอยู่ที่ 2.1% จากเดิมที่คาดไว้ 2.8% และมองว่ามีความเสี่ยงที่จะขยายตัวได้เพียง 1.5% เท่านั้น หากอัตราภาษีไม่ลดลงจากระดับ 36% ที่ประกาศไว้ในวันปลดแอกของสหรัฐฯ (Liberation Day)

โดยคาดว่าผลกระทบอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี จากการส่งออกที่จ่อหดตัวในระดับเลขสองหลัก การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะชะลอการตัดสินใจออกไป หรือในกรณีย่ำแย่บางส่วนอาจถึงขั้นล้มแผนการลงทุน และที่น่ากังวลคือการปิดกิจการและการเลิกจ้าง โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs จากกำลังการผลิตส่วนเกินของสินค้าจีนที่จะทะลักเข้ามาในประเทศ กดดันกำลังซื้อ ลดการบริโภค เพราะต่างเซพเงินในกระเป๋า ทำให้การหมุนเวียนของเงินชะลอตัว และเสี่ยงเกิดเป็น Negative Feedback Loop ซึ่งจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมซึมลงไปเรื่อยๆ

<หรือจะเป็นสัญญาณของวิกฤตไทยระลอกใหม่?>

การที่บรรดาหน่วยงานต่างๆ พากันหั่นจีดีพีสะท้อนนัยสำคัญได้หลายอย่าง โดยเฉพาะความสุ่มเสี่ยงที่ไทยจะเข้าสู่วิกฤตใหญ่อีกครั้ง เพราะตอนนี้การเจรจาภาษีกับสหรัฐก็ยังไม่เกิดขึ้น แค่เริ่มต้นสถานการณ์ก็ดูจะเป็นไปในทางลบเสียแล้ว ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจไทยแต่เดิมที่ยังซึม ฟื้นได้ไม่เต็มเหนี่ยว เมื่อความเสี่ยงจากสงครามการค้าที่หนักขึ้นยิ่งถ่วงเศรษฐกิจไทยให้ยิ่งเข็นขึ้นยากเข้าไปอีก

ทิสโก้ มองว่าแม้รัฐบาลจะมีวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในงบกลางกว่า 1.5 แสนล้านบาท และมีการเปิดเผยถึงแผนการกู้เพิ่มเติมอีกราว 5 แสนล้านบาท ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง แต่อาจจำเป็นจะต้องปรับกรอบเพดานหนี้สาธารณะขึ้นไปสูงกว่าปัจจุบันที่ตั้งไว้ 70% แต่ทิสโก้ยังคงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจะระยะยาว ตลอดจนปัญหาเชิงโครงสร้างเมื่อก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในอีก 5 ปีข้างหน้าเป็นสำคัญ

ความหวังที่จะผ่อนหนักให้เป็นเบาตอนนี้ คงหนีไม่พ้นการเจรจาของรัฐบาลไทยกับสหรัฐ เพื่อให้การส่งออกที่ถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองหลักเศรษฐกิจ ไม่ให้ถูกกระทบมาก ผนึกกับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงของแบงก์ชาติจะเป็นไม้ซุงพยุงเศรษฐกิจไทยไม่ให้ล้มไปมากกว่านี้…

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles