สถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยึกยักกันมาได้สักพักจากปมคลิปเสียงเจรจาของอดีตนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร กับ “ฮุน เซน” กรณีข้อพิพาทชายแดนไทยกัมพูชาช่วงที่ผ่านมา จนทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติหน้าที่ของอดีตนายกรัฐมนตรี
จนในที่สุด เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 สถานการณ์กลับพลิกผัน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเอกฉันท์ 9 เสียง “รับคำร้อง” ที่ “มงคล สุระสัจจะ” ประธานวุฒิสภา ในนามสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 36 คน ยื่นถอดถอน “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี จากกรณีคลิปเสียงสนทนากับ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา ที่อาจเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ชายแดนไทย – กัมพูชา ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 7 ต่อ 2 เสียง สั่งให้ “แพทองธาร” หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
กลายเป็นสุญญากาศทางการเมือง และตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ต้องหยุดภารกิจกะทันหัน ท่ามกลางปัญหาสารพัดที่ยังต้องได้รับการแก้ไข และท่ามกลางกระแสการเมืองร้อนระอุ “อนุทิน ชาญวีรกูล” พรรคภูมิใจไทย ก็ได้ชิงถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาลไปก่อน ยกเหตุผลคลิปเสียงของนายกฯและฮุน เซนเกี่ยวกับปัญหาชายแดนไทย – กัมพูชา ซึ่งมีผลกระทบต่ออธิปไตย ดินแดน ผลประโยชน์ของประเทศไทย และกองทัพไทย ทำให้เก้าอี้รัฐมนตรีสัดส่วนพรรคภูมิใจไทยว่างลง
จนในที่สุดรัฐบาลแพทองธาร ก็ได้เดินหมากเกมใหม่ ด้วยการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
โดยวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการ ประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระปรเมทรรามารีบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่าตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 16 สิงหาคม พุทธศักราช 2567 แล้ว และแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ตามประกาศลงวันที่ 3 กันยายน พุทธศักราช 2527 นั้น
บัดนี้ นายกฐมนตรีได้กราบบังคมทูลว่าได้มีรัฐมนตรีลาออกบางตำแหน่ง สมควรแต่งตั้งรัฐมนตรีแทนตำแหน่งที่ว่างและปรับปรุงรัฐมนตรีบางตำแหน่ง เพื่อความเหมาะสมและบังเกิดประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 158 ของรัฐธธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
– นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
– นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
– นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
– นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
– นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
– นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีให้แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
– นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
– นายสุชาติ ตันเจริญ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
– นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
– นายอรรถกร ศิริลัทธยากร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
– นายจตุพร บุรุษพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
– นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
– นายเดชอิศม์ ขาวทอง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
– นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
– นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม อีกตำแหน่งหนึ่ง
– นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
– นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
– นายเทวัญ ลิปตพัลลภ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
– นายอนุชา สะสมทรัพย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
– นายชัยชนะ เดชเดโช เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 30 มิถุนายน พุทธศักราช 2568 เป็นปีที่ 10 ในรัชกาลปัจจุบัน
<ปมหลักอยู่ที่ “แพทองธาร”>
การปรับ ครม.แพทองธาร ในครั้งนี้ หลักใหญ่ใจความอยู่ที่ “แพทองธาร ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ปรับเปลี่ยนมาดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โดยระบุเหตุผลของการรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมว่า “ต้องดูเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ ไม่ว่ากระทรวงวัฒนธรรมจะเป็นเกรดบี หรือเกรดซี แต่เป็นกระทรวงที่สำคัญไม่แพ้กัน” ซึ่งก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการแก้เกมเพื่อจะนั่งใน ครม.ต่อไป หลังจากถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งพักงานนายกฯ เท่านั้น
และได้ตั้ง “ภูมิธรรม เวชยชัย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรองนายกรัฐมนตรีขึ้นนั่งรักษาการนายกรัฐมนตรีแทนแพทองธาร
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ครม.ชุดใหม่ได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
<เอกชนห่วงการเมืองฉุดเชื่อมั่น ทำเศรษฐกิจเซ>
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยังมองว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะโครงการที่อยู่ระหว่างรอการอนุมัติหรือรอการเริ่มก่อสร้าง ซึ่งหลายรายอาจชะลอออกไปอย่างไม่มีกำหนด ถ้ายิ่งสถานการณ์ภายในยังไม่นิ่ง แม้ปัจจัยภายนอก เช่น การกีดกันทางการค้า จากการเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อัตรา 36% ซึ่งควบคุมไม่ได้ แต่ปัจจัยภายใน โดยเฉพาะเสถียรภาพของรัฐบาล เป็นสิ่งที่รัฐต้องเร่งจัดการ เพื่อไม่ให้เสียโอกาสจากการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะในสายตานักลงทุนสถานการณ์นี้ต้องอาศัยการเมืองที่เข้มแข็ง มีเอกภาพ และสร้างความเชื่อมั่น เราไม่สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกอย่างนโยบายของสหรัฐฯ ได้ แต่เสถียรภาพภายในเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้
อีกทั้งแนวโน้มที่สหรัฐอเมริกาอาจพิจารณาเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตราสูงถึง 36% หากการเจรจาระหว่างสองประเทศไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้นั้น รัฐบาลจะเตรียมมาตรการฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก ซึ่งกรณีสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงกับเวียดนาม โดยลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าลงจาก 46% เหลือ 20% แต่ไทยยังอยู่ที่ 36% เท่ากับว่าเรากำลังเสียเปรียบในตลาดสหรัฐฯ โดยตรง เพราะเรากับเวียดนามส่งออกสินค้าโครงสร้างใกล้เคียงกันมาก
ด้านจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ว่าแม้ยังไม่ได้ข้อสรุปสุดท้าย แต่ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างเจรจาในหลายระดับ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้อาจไม่จบง่าย 100% อาจจะต้องมีการเปิดเวทีเพื่อให้มีการพูดคุยกันต่อ รวมถึงเชื่ออีกว่าสหรัฐฯ จะเข้าใจ และจะมีการเลื่อนกรอบระยะเวลาที่จะมีผลกระทบออกไปอีก ส่วนอัตราภาษีสรุปสุดท้ายจะออกมาอยู่ที่อัตราเท่าใดนั้น ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา แต่เชื่อมั่นว่าจะมีผลลัพธ์ที่ดี
<ร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ยังรอชี้ชะตา>
โครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ที่รัฐบาลแพทองธาร หวังจะเป็นโครงการเรือธงรองจากเงินดิจิทัล ที่หวังจะจะกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ก็ดูเหมือนจะยังลุ่มๆ ดอนๆ ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าในวันที่ 7 กรกฎาคมนี้ จะมีการหารือกันในที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เพื่อหาความชัดเจนในเรื่องการเสนอร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่าจะ “เลื่อน” หรือ “ถอน” ร่างกฎหมายดังกล่าวออกไปก่อน โดยจะต้องให้ได้ข้อสรุปก่อนวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ซึ่งจะมีการประชุมสภาฯ ในสัปดาห์หน้า
โดยรัฐบาลยังยืนยันชัดเจนว่าเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ เป็นแนวคิดของรัฐบาลที่ต้องการปรับเปลี่ยนภาคการท่องเที่ยว ต้องการดึงเม็ดเงินขนาดใหญ่ระดับแสนล้านบาทเข้ามาในประเทศ ต้องการให้เป็นจุดเปลี่ยนของภาคการท่องเที่ยวในการดึงดูดนักท่องเที่ยวใหม่ๆ เพิ่มทางเลือกให้แก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีนักลงทุนจำนวนมากที่แสดงความสนใจ และพร้อมที่จะเข้ามาลงทุน
<ปัญหาเศรษฐกิจยังรอการแก้ไข>
รัฐบาลคาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 2% และยืนยันว่ายังคงเดินหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังบอกว่ารัฐบาลจะไม่หยุดเพียงแค่นี้ โดยมองว่าดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย เพราะหากไม่ทำอะไรเลย เศรษฐกิจไทยอาจจะเติบโตได้ต่ำกว่า 1% ไปแล้ว ดังนั้น การตั้งเป้าจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพื่อให้เราสามารถเดินไปได้ไกลที่สุด
<“แปซิฟิคโพล” เผยคนไทยส่วนใหญ่ เชื่อมั่น ครม.แพทองธาร 2>
ภายใต้การเดินหน้าต่อไปของ ครม.แพทองธาร 2 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นแปซิฟิคโพล จัดทำโดยสถาบันวิทยาการจัดการแห่งแปซิฟิค ได้เปิดเผยรายงานผลการสำรวจความเชื่อมั่นรัฐบาลว่า “คนไทยมั่นใจต่อตัวนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี แพทองธาร” โดยสอบถามความเห็นจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,500 ตัวอย่าง ในวันที่ 30 มิถุนายน 2568 มีค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 95
โดยรายละเอียดการสำรวจมีดังนี้
จากผลการสำรวจ พบว่าประชาชนรับทราบข่าวสารเกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรี ทราบดีและติดตามข่าวสาร ร้อยละ 68.1 ทราบบ้าง แต่ไม่ละเอียด ร้อยละ 27.6 และไม่ทราบเลย ร้อยละ 4.3
ขณะที่ความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลแพทองธาร จะทำงานครบวาระหรือไม่ พบว่าเชื่อมั่นปานกลาง ร้อยละ 37.1 เชื่อมั่นมาก ร้อยละ 29.5 ไม่มั่นใจ ร้อยละ 16.6 ไม่มั่นใจเลย ร้อยละ 16.2 และปานกลาง ร้อยละ 9.0
ส่วนความเชื่อมั่นต่อการทำงานของคณะรัฐมนตรี แพทองธาร พบว่าเชื่อมั่นมาก ร้อยละ 29.4 ปานกลาง ร้อยละ 23.3 เชื่อมั่นปานกลาง ร้อยละ 22.1 ไม่มั่นใจเลย ร้อยละ 16.8 ไม่มั่นใจ ร้อยละ 9.4
“การปรับ ครม. อาจไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนคาดหวัง แต่การเร่งเดินหน้าแก้วิกฤตที่อยู่ตรงหน้า โดยเฉพาะด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายยังรอชมผลงาน จากที่ผ่านมาอาจจะยังไม่เข้าตา เพราะในท้ายที่สุดไม่ว่ารัฐบาลจะปรับ ครม. อีกกี่ชุด แต่ถ้าปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น ก็อาจจะยังต้องรับแรงกดดัน เสียงคัดค้าน และความศรัทธาที่ลดน้อยถอยลง ดังนั้น “โจทย์ใหญ่” โจทย์เดิมคือเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน…ต้องมาก่อน”