ดอกเบี้ยไทยสวนโลก กนง. คงอัตราเท่าเดิม คนละทิศกับ “เฟด” ที่ลดดอกเบี้ย สะท้อนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าได้แบบใด

ดอกเบี้ย ไทยสวนโลก กนง. คงอัตราเท่าเดิม คนละทิศกับ “เฟด” ที่ลดดอกเบี้ย สะท้อนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าได้แบบใด

มีรายงานในหลายสำนักวิจัยที่ประเมินว่าทิศทางดอกเบี้ยโลกในปี 2568 มีแนวโน้มว่าธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกจะลดดอกเบี้ย เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากหลายปัจจัย โดยเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปชะลอตัว ยังคงสนับสนุนมุมมองดอกเบี้ยขาลงในปี 2568 ขณะที่เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวอย่างเปราะบาง

<กนง. ไม่ลดดอกเบี้ย สวนทางประเทศอื่น>
แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมาในการประชุมนัดส่งท้ายปี ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ถือว่าไม่หักปากกาเซียน เพราะ กนง. ได้มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี แม้ว่าแนวโน้มธนาคารกลางทั่วโลก จะมีแนวโน้มลดดอกเบี้ย เพื่อพยุงเงินเฟ้อ เศรษฐกิจที่ซึมมาตั้งแต่โดนพิษโควิด–19

สาเหตุที่ กนง. คงดอกเบี้ยนั้น ก็เนื่องมาจาก การที่ กนง. เห็นว่าแม้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับความท้าทายจากการแข่งขันจากภายนอกที่รุนแรงขึ้น และความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก แต่ยังสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวได้ช้าจากบางกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างเช่น อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ที่ประสบปัญหาความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง เงินเฟ้อที่โน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน

ดังนั้น กนง. จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยคงคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไว้ที่ 2.7% และ 2.9% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ และหั่นคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปเหลือ 0.4% ในปี 2567 และ 1.1% ในปี 2568 ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน คาดว่าจะอยู่ที่ 0.6% และ 1.0%

แต่หากมองไปในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความไม่แน่นอนที่ปรับสูงขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น ทิศทางนโยบายการค้าโลก ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และผลกระทบจากคุณภาพหนี้ ต่อภาวะการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม โดยความเสี่ยงในปี 2568 มีมากขึ้นจากความไม่แน่นอน ซึ่งนั่นจะมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำกว่า 2.9%

คุณสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กนง. คงจุดยืนนโยบายการเงินที่เป็นกลาง (neutral stance) เพื่อรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน(Policy space) เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่ปรับสูงขึ้น โดยปัจจุบันโมเมนตัมเศรษฐกิจยังไปได้โดยเฉพาะไตรมาสนี้ และไตรมาส 1/2568 ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไตรมาส 3/2567 ที่ปรับดีขึ้น และตัวเลขการส่งออกที่เติบโตเกินคาด แต่หากแนวโน้มเศรษฐกิจมีปัญหาอย่างชัดเจน ก็พร้อมพิจารณาลดดอกเบี้ย

ด้านความเสี่ยงในระบบการเงิน ยังมีประเด็นให้ต้องกังวล เนื่องจากความเสี่ยงไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยระยะยาวมองว่าความเสี่ยงหนี้ครัวเรือนจะลดลง จากปัจจุบันที่มีการชะลอตัว ด้านความเสี่ยงระยะสั้นจากสินเชื่อที่ตึงตัว การออกมาตรการแก้หนี้ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในช่วงที่ผ่านมา และมาตรการล่าสุด ‘คุณสู้ เราช่วย’ ประกอบกับการลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง. ในเดือน ต.ค. ช่วยแบ่งเบาความเสี่ยงดังกล่าว

“ระยะยาว เราเห็นการชะลอตัวของหนี้ครัวเรือน ดังนั้นความเสี่ยงระยะยาวของเสถียรภาพระบบการเงิน ไม่ได้เป็นประเด็น และลดลง แต่ระยะสั้น จากสินเชื่อตึงตัว ภาวะการเงินต่างๆ ก็มีมาตรการเข้ามาช่วย และผลจากการลดดอกเบี้ยครั้งก่อน ซึ่งช่วยครัวเรือนที่มีภาระหนี้สูง” นายสักกะภพ ระบุ

<ธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ยตามคาด 0.25% แต่ปีหน้าหั่นน้อยลง>
ด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ตามความคาดหมายของนักวิเคราะห์ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ครั้งสุดท้ายของปีเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2567 ด้วยมติ 11 ต่อ 1 เสียง

อย่างไรก็ตาม “เจอโรม พาวเวล” ประธานเฟดได้ส่งสัญญาณถึงทิศทางดอกเบี้ยในปี 2568 ว่าเฟดจะชะลอการลดดอกเบี้ยในปีหน้าออกไป โดยการปรับลดดอกเบี้ยในอนาคตจะขึ้นอยู่กับความคืบหน้าในการลดอัตราเงินเฟ้อที่สูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้กำหนดนโยบายเริ่มตระหนักถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ภายใต้รัฐบาลว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังจะเข้ามาบริหารในปีหน้า

ในการประชุมยังมีการเปิดเผยรายงานคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสหรัฐในอนาคต (Dot Plot) ที่ออกมาในทุกไตรมาส โดยในครั้งนี้กรรมการเสียงส่วนใหญ่ 10 เสียง ของเฟดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2568 จะอยู่ที่ระดับ 3.75–4.0% หรือหมายความว่า เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าลงเพียงแค่ 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% เท่านั้น

ทิศทางล่าสุดนี้นับว่าลดลงมากเมื่อเทียบกับรายงาน Dot Plot ที่ออกในเดือน ก.ย. ซึ่งครั้งนั้นกรรมการเฟดให้คะแนนเท่ากันฝั่งละ 6 เสียง ระหว่างการลดดอกเบี้ย 3 ครั้งกับ 4 ครั้งในปีหน้า

นอกจากนี้ เฟดยังส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในปี 2569 และลดอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในปี 2570

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่เฟดได้ปรับเพิ่มตัวเลขอัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลางในระยะยาวสู่ระดับ 3.0% จากเดิมที่ระบุไว้ในเดือน ก.ย. ที่ระดับ 2.9%

<“กิตติรัตน์” ว่าที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติย้ำจุดยืน ต้องลดดอกเบี้ย>
หลังจากที่หายหน้าหายตาไปจากหน้าสื่อสักพัก คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ว่าที่ประธานกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้ออกมากล่าวถึงกรณี กนง. มีมติเอกฉันท์ “คงดอกเบี้ย” นโยบายรอบล่าสุด (18 ธ.ค.) ว่าโดยส่วนตัวผมเคารพการตัดสินใจของที่ประชุม กนง.ทั้ง 7 ราย เพราะเป็นคนที่มีเหตุและมีผล แต่อย่างไรก็ตาม “จุดยืน” ของผมยังเหมือนเดิมว่าควร “ลดดอกเบี้ยนโยบาย” ให้เร็วและแรง คือหนทางป้องกันความหายนะ

ซึ่งเคยพูดเรื่องนี้มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2566 ซึ่งความเชื่อไม่เคยเปลี่ยนแปลงหลังจากได้ถูกเสนอชื่อให้ไปทำหน้าที่คณะกรรมการ ธปท. แต่ทั้งนี้จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เห็นการลดดอกเบี้ยเร็วและก็ยังไม่ได้ลดแรง

“ผมมองว่าการคงดอกเบี้ยรอบล่าสุดของ กนง. คณะกรรมการมองเห็นว่าสถานการณ์โดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ และเครื่องมือที่มีอยู่ต้องเก็บไว้ใช้ในอนาคต ซึ่งสเตตเมนต์ที่ออกมาถูกเขียนด้วยภาษานักเศรษฐศาสตร์ แต่คำอธิบายที่ปรากฎเพียง 1 หน้า ผมมองว่าเป็นเนื้อหาที่สั้นไป

และถ้าเกิดพูดด้วยภาษาชาวบ้าน ‘ขอให้เห็นใจเถอะ’ เราเคยมียาอยู่ 8 เม็ด เพื่อที่จะรักษาปัญหาโรคที่เราเป็นอยู่ และเผอิญเรากินยาไปแล้ว 1 เม็ด ทำให้เหลือยา 7 เม็ด จะรีบกินตอนนี้ก็จะเหลือยา 6 เม็ด ซึ่งทาง กนง. (คณะแพทย์) เขาก็เลือกไม่กินยาโดยเก็บไว้ก่อน แต่ถ้าเห็นใจกินยาไปอีกเม็ด เราก็ยังเหลือยาอีกตั้ง 6 เม็ด ซึ่งเป็นเรื่องที่จริงๆ ก็ทำได้ ถ้าเกิดเหลือยาอยู่สัก 2 เม็ด และเลือกไม่กิน ผมก็พอจะเข้าใจเยอะกว่านี้ได้”

แต่อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะลดลงแต่ละครั้ง 0.25% เป็นส่วนเดียวของกลไกนโยบายการเงิน สิ่งที่สนใจมากกว่านั้นคือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่างหาก โดยสินเชื่อส่วนบุคคลจ่ายดอกเบี้ยอยู่ 30% ต่อปี และ 24% ต่อปี และบัตรเครดิต 16% ต่อปี และเวลาผิดนัดชำระ (คนที่จ่ายไม่ไหว) กลับไปเพิ่มภาระดอกเบี้ย

หรือว่าส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ทำไมถึงสูงมากขนาดนั้น ควรจะแคบลงมาได้หรือไม่ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ธนาคารสามารถมีกำไรได้ดีขึ้นแม้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะลดลง หากการทำเช่นนั้นทำให้ความเสี่ยงของหนี้เสียน้อยลง การตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญก็น้อยลง และเคยถูกตั้งสำรองไว้แล้วก็สามารถรับกลับมาเป็นรายได้ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ควรจะมาพูดคุยกัน

<ความเสี่ยงยังต้องตั้งรับ>
ไม่ว่าการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด แต่ชะลอลดในปีหน้า หรือ กนง. จะยังคงดอกเบี้ยไว้ สะท้อนมุมมองที่ไปในทิศทางเดียวกันนั่นก็คือเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอน และมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องตั้งรับ

ในทางวิชาการ เศรษฐศาสตร์ หรือหลักการใดๆ ก็ตาม อาจมองว่าเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นและดีขึ้น แต่ในแง่ความรู้สึก และเงินจริงในกระเป๋าอาจไม่ได้รู้สึกว่าดีขึ้นสักเท่าไหร่ นอกจากรอให้นโยบาย และมาตรการต่างๆ ได้ทำหน้าที่แล้ว ประชาชนก็คงต้องเซพเงิน เซพตัวเองกันด้วยในยุคที่เศรษฐกิจยังลุ่มๆ ดอนๆ แบบนี้…

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles