เชื่อว่าใครหลายคนจะต้องอยู่ในเหตุการณ์ “ระบบเครือข่ายทรูล่ม” เมื่อวันพฤหัส (22 พ.ค. 68) ที่ผ่านมา จนทำให้ลูกค้าของทรูในหลายพื้นที่ ไม่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตและโทรเข้า-ออก ได้อยู่หลายชั่วโมง
ทำเอา #ทรูล่ม บนแพลตฟอร์ม X ติดเทรนด์ค้นหาอันดับ 1 พร้อมกับกระแสวิจารณ์และเสียงบ่นของบรรดาลูกค้าของทรูที่ไม่สามารถใช้งานมือถือได้ จนเกิดผลกระทบในวงกว้าง เช่น ในกลุ่มของบรรดาพี่ๆ ไรเดอร์ ที่บริการจัดส่งเดลิเวอรี การติดต่อธุรกิจ ระบบจองบริการต่างๆ หรือแม้แต่การทำธุรกรรมการเงิน โอนเงินผ่านแอปฯ ธนาคาร เพื่อจ่ายค่าข้าว ค่าเดินทาง ที่ทำได้แค่ยืนทำตาปริบๆ ขอความเมตตาจากแม่ค้า พี่วิน เพราะโอนจ่ายเงินไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งนับเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว
ในวันเดียวกันหลังจากเกิดปัญหา บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) ก็ได้ออกมาโพสต์บนสื่อโซเชียลมีเดียว่าได้รับทราบปัญหา พร้อมทั้งขอโทษผู้ใช้งาน และยืนยันว่ากำลังอยู่ระหว่างเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ด้านคุณไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ก็ได้ออกมาเปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้เชิญผู้บริหารจากบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) เข้าชี้แจงเป็นการด่วน กรณีสัญญาณโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตทรูใช้งานไม่ได้ชั่วคราว โดยได้สั่งการให้บริษัท รายงานการดำเนินการ สาเหตุของปัญหา และมาตรการเยียวยาให้กับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในวันนี้ (22 พ.ค.)
อีกทั้ง กสทช. ยังได้ออกหนังสือกำชับให้ทรูอำนวยความสะดวกกับประชาชนในการติดต่อสื่อสารอย่างมีมาตรฐาน หมั่นตรวจสอบเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ โครงข่ายต่าง ๆ ให้พร้อมใช้งานและสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ หากมีเหตุขัดข้องในลักษณะดังกล่าวอีก จะมีการพิจารณาถึงบทลงโทษตามมาตรการต่อไปด้วย
และในช่วงค่ำ ทรูก็ได้มีมาตรการชดเชยเยียวยาของลูกค้าทรูออกมา โดยได้ให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ “โทรฟรี 100 นาที ดาต้าฟรี 10 GB ภายใน 24 ชั่วโมง” ซึ่งปรากฏว่ายังไม่เป็นผลที่น่าพอใจสำหรับประชาชนและผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้น สำนักงาน กสทช. จึงสั่งให้ทรูฯ ทบทวนมาตรการเยียวยาชดเชยผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบนี้อีกครั้ง
<คนไทยใช้เวลาอยู่กับอินเทอร์เน็ตบนมือถือสูงถึง 5 ชั่วโมงต่อวัน ติด TOP 5 ของโลก>
We Are Social ได้รายงานสถิติ พบว่าเวลาเฉลี่ยที่คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือต่อวันคือ 5 ชั่วโมง สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก ขณะที่ค่าเฉลี่ยของการใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตบนมือถือทั่วโลกอยู่ที่วันละ 3 ชั่วโมง 46 นาที
ปัจจุบันมีผู้คนกว่า 5.78 พันล้านคน ใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งคิดเป็น 70.5% ของประชากรโลกทั้งหมด พบด้วยว่าผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น 112 ล้านรายในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เฉลี่ยเติบโตราว 2% ต่อปี ส่วนการใช้สมาร์ทโฟนคิดเป็น 87% ของโทรศัพท์มือถือที่ใช้ทั่วโลก
ขณะที่ตัวเลขของประชากรอินเทอร์เน็ต ต้นปี 2568 ทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 5.56 พันล้านคน มีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 67.9% เพิ่มขึ้น 136 ล้านคน หรือ 2.5% ในช่วงปี 2567 ทว่ายังคงมีประชากรที่ออฟไลน์กว่า 2,630 ล้านคน ณ ต้นปี 2568 ส่วนผู้ใช้โซเชียลมีเดียมีอยู่ 5.24 พันล้านคน คิดเป็น 63.9% ของประชากรทั้งโลก เพิ่มขึ้น 4.1% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยมีผู้ใช้รายใหม่เพิ่มขึ้น 206 ล้านคน
และที่น่าสนใจอีกอย่างคือนักช้อปออนไลน์ในประเทศไทยครองแชมป์โลกของการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ต่อสัปดาห์ คิดเป็น 69.2% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ในขณะที่ตัวเลขเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 55.8% ซึ่งสถิติเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในช่วงปีที่ผ่านมา
ดังนั้น เมื่อวันที่เครือข่ายทรูล่ม จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ มีเทคโนโลยีดิจิทัลรองรับ จึงได้รับผลกระทบมาก
<เครือข่ายมือถือล่มนานไม่ใช่ครั้งแรก>
คุณจุฑา สังขชาติ อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวว่าเหตุการณ์ทรูล่มส่งผลกระทบในวงกว้างเนื่องจากทรูมีผู้ใช้บริการมากกว่า 62.93 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 57.79% ของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งเห็นได้ชัดว่าความเสียหายของประชาชนกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศที่ใช้บริการทรูนั้น อาจประเมินมูลค่าไม่ได้ โดยเมื่อสืบค้นข้อมูลเหตุการณ์อินเทอร์เน็ตล่มในช่วงที่ผ่านมา พบว่าเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้หลายครั้ง เช่น 30 พฤษภาคม 2567 อินเทอร์เน็ตทรูล่มนานกว่า 5 ชั่วโมง 27 เมษายน 2568 อินเทอร์เน็ตบ้าน AIS Fibre ล่มนานหลายชั่วโมง 10 พฤษภาคม 2567 สัญญาณมือถือของ AIS ขัดข้องในหลายพื้นที่ เป็นต้น
“เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง บางครั้งก็ไม่มีการเยียวยาอะไรเลย ผู้บริโภคก็ไม่รู้จะทำอย่างไร มันไม่ควรเป็นภาระของประชาชนที่จะต้องตามทวงสิทธิของตัวเอง”
<ค่ายมือถือของไทย มีแค่ 2 ราย สะท้อนความมั่นคงทางไซเบอร์>
หลังจากที่ TRUE และ DTAC ได้ควบรวมกิจการกัน ก็ทำให้ปัจจุบันผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครือข่ายมือถือในประเทศไทย เหลือเพียงแค่ 2 ราย นั่นก็คือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ซึ่งทั้ง 2 บริษัทเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมาย
โดย TRUE เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ และเทเลนอร์ เอเชีย ซึ่งเป็นโฮลดิงคอมปานีที่ให้บริการสื่อองค์รวมแบบครบวงจร ทั้งด้านโทรคมนาคมพื้นฐานและอินเทอร์เน็ต รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในด้านจำนวนผู้ใช้งาน ภายใต้เครื่องหมายการค้า ทรู ออนไลน์ ให้บริการโทรศัพท์มือถือภายใต้เครื่องหมายการค้า ทรูมูฟ เอช และ ดีแทค ไตรเน็ต ให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก ทรูวิชั่นส์ และรวมไปถึงสื่อบันเทิง ทั้งด้านโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต เกมออนไลน์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ภายใต้แบรนด์ ทรู ดิจิทัล
ส่วน AIS เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศตามจำนวนผู้ใช้งาน เดิมเป็นบริษัทย่อยบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ก่อนที่อินทัชจะควบรวมกิจการกับกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ทำให้ปัจจุบันเอไอเอสเป็นบริษัทย่อยของบริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) โดยในปี 2563 เอไอเอสถือเป็นบริษัทที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงเป็นอันดับสี่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยครั้งราคาปกติ
คุณจุฑา ได้แสดงถึงความกังวลว่าความถี่ของเหตุการณ์เครือข่ายมือถือล่มเหล่านี้ สะท้อนว่าปัญหาไม่ได้อยู่แค่ผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่ง แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในขณะที่ประเทศไทยมีผู้ให้บริการโทรคมนาคมหลักเหลือเพียง 2 ราย กำลังสร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางไซเบอร์ สิทธิของผู้บริโภค และระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม โดยเฉพาะภายหลังการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด ชี้ว่าความมั่นคงทางไซเบอร์ของประเทศกำลังสั่นคลอน ในภาวะผูกขาดเมื่อ 1 ใน 2 ผู้ให้บริการมีปัญหาการส่งสัญญาณ
<ทีดีอาร์ไอ จี้ กสทช. เพิ่มบทลงโทษหากเครือข่ายล่มอีก>
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าเครือข่ายทรูที่ขัดข้องทั่วประเทศเป็นเวลานาน ทำให้เห็นถึงอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของระบบโทรคมนาคมในประเทศไทย ที่มีผู้ให้บริการเหลืออยู่เพียง 2 ราย ซึ่งและข้อมูลหลังการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค และ AIS-3BB ที่ผู้บริโภคประสบปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพสัญญาณมากขึ้น เช่น สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า หลุดบ่อย หรือมีเหตุขัดข้องที่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานจริง
ผลสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพบว่าผู้ใช้บริการกว่า 81% ประสบปัญหาการใช้งานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะเครือข่ายของบริษัทที่มีการควบรวมพบปัญหามากที่สุด
ดร.สมเกียรติ มองว่าหากไทยสามารถลดความเสี่ยงอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมได้ ด้วยการที่ตลาดโทรคมนาคมต้องเป็นตลาดที่มีการแข่งขันมากกว่าที่เป็นอยู่ จึงคาดหวังว่ารัฐบาลจะเร่งรัดเปิดเสรีให้มีผู้ให้บริการโทรคมนาคมหน้าใหม่เกิดขึ้นในอนาคต โดยเริ่มจากการเปิดเสรีบริการโทรคมนาคมให้แก่สหรัฐอเมริกา ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นระหว่างผู้ให้บริการ ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลงด้วย
และยังเสนอให้ กสทช. ควรเข้มงวดกวดขันกับผู้ให้บริการเพื่อให้การบริการได้ตามมาตรฐานสากล โดยควรกำหนดบทลงโทษกับผู้ให้บริการ ตามระดับความรุนแรง และระยะเวลาที่เกิดเหตุขัดข้อง โดยพิจารณาเพิ่มค่าปรับหากเกิดเหตุซ้ำ หรือยาวนาน เช่น เมื่อปี 2022 หน่วยงานกำกับดูแลโทรคมนาคมออสเตรเลียปรับบริษัท Optus เป็นเงิน 12 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 250 ล้านบาท) เนื่องจากบริษัทไม่สามารถให้บริการโทรศัพท์ฉุกเฉินแก่ผู้ใช้บริการหลายพันรายในช่วงที่เกิดเหตุขัดข้องทั่วประเทศ
<เมื่อระบบผูกขาดแค่ 2 ค่าย สะท้อนอะไร?>
ในขณะที่ระบบทรูล่มยังไม่ได้รับการแก้ไข กลับเป็นโอกาสของ AIS ที่ใช้โอกาสนี้เสนอโปรโมชันแพ็กเกจฉ่ำ เรียงเต็มหน้าสื่อโซเชียลมีเดียแทบจะทุกช่องทาง ซึ่งก็แน่นอนว่าลูกค้าฝั่งที่ผิดหวังกับบริการของทรูก็ไม่ลังเลที่จะย้ายเครือข่ายภายในวันนั้นไม่น้อย
แน่นอนว่าสิ่งที่คนไทยในฐานะผู้บริโภคที่มีความ “จำเป็น” ต้องใช้บริการเครือข่ายมือถือไม่เจ้าใดก็เจ้าหนึ่ง ย่อมอยากได้ระบบเครือข่ายที่ดี สัญญาณไม่ติดขัด และการบริการที่ดี สมเหตุสมผลกับเงินที่ต้องจ่าย
ในขณะที่คนไทยมีทางเลือกอยู่เท่านี้? แต่กลับจะต้องเจอปัญหาเดิมๆ อยู่แบบนี้ต่อไปอย่างนั้นหรือ? คำตอบที่อยู่ในใจของแต่ละคนก็น่าจะสะท้อนอะไรได้หลายอย่างของประเทศไทยในยุคดิจิทัลนี้เป็นอย่างดี… ว่าไหม?