ผวา “นโยบายทรัมป์ 2.0” ป่วนเศรษฐกิจโลก ไทยหนีไม่พ้นอยู่บนความเสี่ยง ต้องตั้งรับแบบใด?

ผวา “นโยบาย ทรัมป์ 2.0” ป่วนเศรษฐกิจโลก ไทยหนีไม่พ้นอยู่บนความเสี่ยง ต้องตั้งรับแบบใด?

การกลับมาของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก โดยเฉพาะ “นโยบาย ทรัมป์ 2.0” ที่น่าจับตามากที่สุด นั่นคือการขึ้นภาษีนำเข้า เพราะมีผลกระทบต่อการค้าทั่วโลก แถมยังกระทบไปยังตลาดทุน หุ้น ตลาดเงิน ที่มองได้ชัดก็ค่าเงินบาทไทย ที่เมื่อทรัมป์ขยับปากร่ายนโยบาย หรือแนวทางการบริหารงานหลังพิธีสาบานตน เช่น ประเด็นที่สหรัฐยังจะต้องลดดอกเบี้ยนโยบาย ก็ทำให้ดอลลาร์กลับอ่อนค่าดันบาทไทยแข็งค่าได้ หรือแม้แต่สร้างความกังวลให้ตลาดหุ้นทั้งสหรัฐและไทยเช่นกัน

แม้ไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มกำลังพัฒนา และเป็นประเทศเล็กๆ เมื่อเทียบกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ แต่บรรดากูรู นักวิเคราะห์ หน่วยงานต่างๆ เริ่มมีมุมมองในทิศทางเดียวกันว่าไม่ใช่แค่จีนที่สหรัฐเล็งเป้าในการขึ้นภาษี แต่ประเทศไทยก็มีความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะเก็บภาษีสูงขึ้นเช่นกัน

บทวิเคราะห์ของ KKP Research เรื่องไทยเตรียมรับแรงกระแทกจาก Trump 2.0 ชี้ว่าแนวคิดการขึ้นภาษีของทรัมป์ที่ใช้นโยบายการขึ้นภาษีสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงกับประเด็นต่างๆ สร้างความเป็นธรรมให้กับสหรัฐฯ นั้น ทรัมป์คิดแล้วว่าเครื่องมือสำคัญที่สหรัฐฯ จะใช้เจรจาการค้าที่เป็นธรรมคือการใช้ภาษีนำเข้าในการต่อรองกับกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุเป้าหมายของนโยบายต่างประเทศ ซึ่งรวมไปถึงประเด็นผู้อพยพ ยาเสพติด ค่าใช้จ่ายทางการทหาร การเปิดตลาดให้สหรัฐฯ และประเด็นการค้าและธุรกิจอื่นๆ

ซึ่ง 5 กลุ่มเป้าหมายสำคัญที่สหรัฐเล็งขึ้นภาษี ได้แก่

1. บริษัทสัญชาติอเมริกา ที่ย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศและส่งสินค้ากลับไปขายผู้บริโภคในสหรัฐฯ

2. สินค้าจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยตรง และส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้ผลิตท้องถิ่น

3. ประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ขนาดสูง ไม่ว่าจะเป็น เม็กซิโก แคนาดา เวียดนาม (และอาจจะรวมถึงไทยด้วย)

4. สินค้าจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ผ่านประเทศที่สาม เพื่อพยายามหลบหลีกภาษีนำเข้า (ซึ่งหนึ่งในนั้นก็อาจจะเป็นไทยด้วย จากปริมาณสินค้าจีนที่ทะลักมาในบ้านเรามหาศาลตอนนี้)

5. ประเทศที่มีมาตรการกีดกันสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านภาษีหรืออื่นๆ

    ภาษีนำเข้าอาจไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดดุลทางการค้าเรื้อรังได้ทั้งหมด แต่ประธานาธิบดีทรัมป์มองว่าจะใช้การขึ้นภาษีนำเข้าเป็นเครื่องมือสำคัญในการกดดันประเทศหรือบริษัทต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้น และแม้ว่าสหรัฐฯ จะไม่สามารถผลิตสินค้าทุกอย่างเองได้ทั้งหมด แต่หากนโยบายเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในสินค้าที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญและสามารถลดมาตรการกีดกันสินค้าสหรัฐฯ ได้ ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะยาวเติบโตได้ดีมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่น

    <ทำไมไทยถึงเสี่ยงเข้าข่ายเป็นประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายของสหรัฐฯ ?>

    KKP research ระบุไว้ว่า

    1. การเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ของอาเซียน ซึ่งไทยมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อยู่ที่ 4.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปี 2024 ที่ผ่านมา ซึ่งมีขนาดเกินดุลมากที่สุดคิดเป็นอันดับที่ 11 จากประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ ทั้งหมด แม้ว่าไทยจะไม่ได้เป็นประเทศที่มีขนาดเกินดุลกับสหรัฐฯ มากที่สุด แต่หากสหรัฐฯ มองไทยและประเทศอื่นในอาเซียนเป็นกลุ่มประเทศเดียวกันทั้งหมดจะพบว่ากลุ่มประเทศอาเซียนมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อยู่ที่ 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอันดับที่ 2 รองจากจีนเท่านั้น

        ประเทศในกลุ่มอาเซียนจึงมีความเสี่ยงที่จะเจอกับมาตรการกีดกันการส่งออกจากสหรัฐฯ พร้อมกันทั้งหมดได้ โดยสินค้าของไทยที่มีการเกินดุลในระดับสูง เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดดิสก์ ยางรถยนต์ เป็นต้น สินค้าเหล่านี้อาจถูกยกขึ้นมาเป็นเป้าหมายของภาษีนำเข้าและเป็นเป้าหมายในการเจรจาหากสหรัฐฯ ต้องการที่จะเล่นงานการเกินดุลการค้าของไทย

        2. ทางผ่านสินค้าจีนที่ส่งจากไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ จากการที่มีสินค้ากลุ่มที่สอง อาจตกเป็นเป้าหมายของหรัฐฯ คือสินค้าที่จีนใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า นับตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในปี 2018 ดุลการค้าของไทยที่เพิ่มขึ้นกับสหรัฐฯ พร้อมกับการขาดดุลกับจีนที่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ทำให้เราตั้งข้อสงสัยว่ากิจกรรมการค้าบางส่วนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาในไทยส่วนหนึ่งคือการหลีกเลี่ยงภาษีจากสหรัฐฯ ของจีน แม้ว่าจะประเมินได้ยากว่ามีสินค้าอะไรบ้างที่เข้าข่ายและกิจกรรมเหล่านี้มีมูลค่ารวมเท่าไร แต่สินค้าอย่างแผงโซลาร์เซลล์ โมเด็ม/เราเตอร์ หรือหม้อแปลงไฟฟ้า อาจเข้าข่ายสินค้าจีนใช้ตลาดไทยเป็นทางผ่านในการส่งไปยังตลาดสหรัฐฯ เท่านั้น

          โดยข้อมูลจาก ITC Trade map แสดงให้เห็นว่าปริมาณการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากจีนสะสมต้องแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2022 มีปริมาณใกล้เคียงกับปริมาณการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สหรัฐฯ ทราบเป็นอย่างดีและเพิ่มมาตรการกีดกันสินค้าเหล่านี้ จนกว่าแนวโน้มการส่งออกจะลดลง สหรัฐฯ อาจถึงขั้นกำหนดว่าประเทศที่เข้าข่ายเป็นทางผ่านจะต้องพิสูจน์มูลค่าเพิ่ม เพื่อแสดงให้เห็นว่ามูลค่าเพิ่มส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากจีนและนั่นอาจทำให้กระบวนการทางการค้าในอนาคตมีความยุ่งยากและต้นทุนมากขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการไทย

          3. มาตรการกีดกันสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ โดยในประเด็นที่ประธานาธิบดีทรัมป์หาเสียงไว้หลายครั้งคือนโยบาย Reciprocal Trade Act กล่าวคือหากประเทศไหนขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าสหรัฐฯ สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีกลับในอัตราที่เท่ากันในสินค้าเหล่านั้น นี่คือหนึ่งในหลักการสำคัญของการค้าที่เป็นธรรมในมุมมองของประธานาธิบดีทรัมป์ เพราะหลายประเทศในช่วงที่ผ่านมาคิดภาษีนำเข้าบนสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงกว่าที่สหรัฐคิดกับประเทศเหล่านั้น

            ในกรณีของประเทศไทย สินค้าหลักที่ไทยคิดภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงกว่าสหรัฐฯ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์อาหาร ยานพาหนะสำหรับการคมนาคม โดย KKP Research มองว่าสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงสุดคือเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ หรือเนื้อวัว เพราะหากดูสัดส่วนการนำเข้าของไทยจะพบว่าไทยนำเข้าสินค้าเหล่านี้น้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนที่สหรัฐฯ ส่งออกให้โลก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะส่วนต่างของภาษีนำเข้าที่อยู่ในระดับสูง รวมไปถึงว่าไทยมีการใช้มาตรการปกป้องผู้บริโภคไทยจากสารเร่งเนื้อแดงของสหรัฐฯ ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี (Non–tariff barrier) และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินค้าจากไทยมีความได้เปรียบกว่าสหรัฐฯ อย่างไม่เป็นธรรมและใช้เป็นเหตุผลในการขึ้นภาษีกับสินค้าไทยได้

            <ผลกระทบที่จะเกิดกับไทย มีอะไรบ้าง?>
            ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับไทยในอนาคตนั้น ก็ได้แก่ สินค้าที่ไทยผลิตและส่งออกไปยังสหรัฐฯ อาทิ เช่น ฮาร์ดดิสก์ ยางรถยนต์ เป็นต้น จะได้รับผลกระทบ สินค้าที่เข้าข่ายเป็นสินค้าจีนที่ส่งผ่านไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ อาจมีแนวโน้มหดตัวในระยะข้างเนื่องจากนโยบายสหรัฐฯ ที่จะเพ่งเล็งสินค้านี้เป็นพิเศษ หรือไทยอาจถูกบังคับให้นำเข้าเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ โดยที่ไทยอาจต้องเลือกระหว่างลดภาษีนำเข้าและมาตรการกีดกันอื่นในกลุ่มสินค้าอื่นๆ (เช่น กลุ่มสินค้าเกษตร) เพื่อเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐฯ หรือสินค้าส่งออกไทยอาจเผชิญกับภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น รวมไปถึงสินค้าจีนมีโอกาสทะลักเข้าไทยมากขึ้น ซึ่งยิ่งสหรัฐฯ กดดันจีนมากเท่าไหร่ผ่านการขึ้นภาษีนำเข้า จีนอาจยิ่งตอบโต้ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศและสนับสนุนให้ธุรกิจหาตลาดส่งออกอื่น โดยเฉพาะตลาดอาเซียน เพื่อแทนที่ตลาดสหรัฐฯ เป็นต้น

            <เอกชนอยากให้รัฐตั้งทีมเจรจารับมือ “ทรัมป์”>
            คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย และหอการค้าไทย เสนอว่าให้ภาคเอกชนเป็นตัวแทนในทีมเจรจาที่รัฐบาลจัดตั้งเพื่อรับมือผลกระทบต่างๆ เพราะเอกชนเป็นผู้ที่อยู่ในสนามการค้าโดยตรง มีข้อมูลเชิงลึก สามารถสะท้อนปัญหาที่แท้จริงให้รัฐบาลใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนรับมือ พร้อมเจรจาต่อรองในสินค้าอื่นด้วย

            ขณะเดียวกันทีมเจรจาควรให้ความสำคัญกับมาตรการที่เกี่ยวข้องกับตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ที่เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับสหรัฐ และส่วนหนึ่งก็มีผลต่อตัวเลขการส่งออกทางอ้อมของไทย อีกทั้งทีมเจรจาควรจะมีการพิจารณาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย เพื่อสร้างสมดุลทางการค้าและลดความเสี่ยงจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์

            <แนะไทยวางตัวเป็นกลางอย่างชัดเจน>
            ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มองว่าในประเด็นนโยบายทรัมป์ 2.0 เรื่องที่ดีคือสงครามการค้าที่ประกาศว่าจะขึ้นกำแพงภาษีกับประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐในระดับสูงได้ชะลอออกไปก่อน ทำให้การตอบรับการกลับมาของทรัมป์ผ่านทั้งหุ้นสหรัฐ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ทองคำ และสกุลเงินดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี) ที่ประกาศไว้ว่าจะหาที่ยืนของคริปโทฯ เพื่อทำตามเทรนด์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น เป็นการตอบรับในเชิงการปรับตัวขึ้น

            หากประเมินผลกระทบต่อประเทศไทย มีหลายส่วนเพราะมีความเชื่อมโยงต่างประเทศหลายส่วน ได้แก่ การส่งออก การท่องเที่ยว เงินทุนไหลเข้า และค่าเงิน เพราะประเทศไทยเป็นเกาะเล็กๆ ของโลก ประเด็นเหล่านี้จึงมีความสำคัญกับไทย โดยมองว่าสงครามการค้า ตอนนี้เป็นการต่อรองกันอยู่ จะสู้กันอย่างไร ตรงนี้มีปัญหาแน่ แต่จะเมื่อใดและมากน้อยเท่าใดเท่านั้น โดยสงครามการค้าของไทยน่าจะบริหารจัดหารได้ เพราะมีความประหลาดจากเดิมเป็นสงครามการค้าที่ 1 คนทะเลาะกับทั่วโลก ไม่ได้เป็นกลุ่มๆ ที่ทะเลาะกัน เป็นการขึ้นภาษีเฉพาะเจาะจงกับจีน และโรงงานจีนที่ไปตั้งหลบซ่อนในแต่ละประเทศที่วางไว้

            จึงอยากให้ประเทศไทยวางตัวเป็นกลางอย่างชัดเจน อาจมีปัญหาในเรื่องการเข้ามาจัดตั้งโรงงานจีนในไทยมากอยู่ แต่น่าจะเป็นการต่อสู้แบบเฉพาะเจาะจง เนื่องจากมองว่าไทยยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการต่อสู้กับจีน

            “สมรภูมิการเมืองระหว่างสหรัฐและจีนจะรุนแรงคุกรุ่นมาก แต่มองว่าประเทศไทยอาจได้รับอานิสงส์ผลดีก็ได้ จากที่หลายคนประเมินกันว่าจะแย่หมด เพราะคิดง่ายๆ คือหากสหรัฐการขึ้นภาษีกับจีนแค่ 30% ไม่ต้องถึง 60% ก็ได้ แต่ขึ้นภาษีสินค้าไทย 10% เมื่อขึ้นภาษีแล้วราคาสินค้าทุกอย่างที่มาจากจีนจะปรับขึ้น 30% ไทยขึ้นเพียง 10% เราจึงอาจได้อานิสงส์จากส่วนแบ่งสินค้าของจีนที่หายไป ซึ่งถือเป็นหัวใจที่ได้รับประโยชน์จากสงครามการค้า”

            <คลังยันติดตามผลกระทบใกล้ชิดอยู่แล้ว>
            คุณจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ประเมินผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า และการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ตามนโยบายทรัมป์ 2.0 ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทย แต่ก็เชื่อว่าไม่ได้เป็นปัญหาทั้งหมด สิ่งสำคัญคือต้องมาจับตาอย่างใกล้ชิด

            ส่วนกรณีที่เอกชนเสนอให้ตั้งวอร์รูมนั้น มองว่าทุกกระทรวงทำอยู่แล้ว อาจไม่ถึงวอร์รูม แต่มีทีมที่ติดตาม เพื่อประเมิรว่าจะมีผลกระทบในมิติใดบ้าง นอกจากนี้ได้ตั้งทีมเจรจาทางการค้ากับสหรัฐ เพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุด พร้อมหาโอกาสทางการค้าเพื่อให้สินค้าไทยได้ส่งออกไปอเมริกาได้มากขึ้น

            เอฟเฟ็กต์จากนโยบายทรัมป์ ที่ไทยต้องเป็นห่วงยังมีอีกหลายด้าน อาจมีทั้งโอกาสและความเสี่ยง แต่ที่แน่ๆ การบริหารงานของรัฐบาลสหรัฐที่นำโดย ประธานาธิบดีที่ชื่อว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” จะตามมาด้วยความปั่นป่วนไปทั่วโลก ซึ่งไทยเองก็ไม่ควรประมาท และเชื่อว่าหลายฝ่ายจะเฝ้าติดตามผลกระทบที่จะเกิดกับไทยและเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดแน่นอน…

            ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
            Latest Posts

            Related Articles