ศึกสงครามการค้าส่อแววปะทุเดือด นโยบาย “ทรัมป์ 2.0” พ่นพิษ ตั้งกำแพงภาษีนำเข้ากระทบชิ่งหลายชาติ ด้านจีนงัดข้อ ขึ้นภาษีสู้กลับ สะเทือนการค้า เศรษฐกิจทั่วโลก

ทรัมป์ ภาษี จีน

ผ่านไปได้เพียง 2 สัปดาห์กับการหวนคืนเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ก็ออกสตาร์ทแนวทาง “America First” ด้วยการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน จุดไฟสงครามการค้าขึ้นมาอีกรอบ หลังจากที่ทั้งสองชาติกระทบกระทั่งทำศึกกันมาตั้งแต่ปี 2561

โดยทรัมป์ได้เดินเครื่องนโบายทรัมป์ 2.0 ด้วยการประกาศตั้งกำแพงภาษีสั่งจัดเก็บภาษีศุลกากร 25% ต่อสินค้าส่วนมากที่นำเข้ามาจากแคนาดาและเม็กซิโก และเพิ่มภาษี 10% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนจนกว่ารัฐบาลของทั้งสองประเทศจะสามารถหยุดยั้งกลุ่มผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายและขจัดการลักลอบนำเข้ายาเฟนทานิลเข้าสหรัฐฯ ได้ และยังขู่ว่าจะเก็บภาษีทางการค้ากับสหภาพยุโรป หรืออียู (European Union) อีกด้วย

<ปัจจุบัน “ทรัมป์” ออกมาตรการทางภาษีประเทศใดบ้าง?>

เริ่มทำงานในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐสมัยล่าสุด “ทรัมป์” ก็หยอดน้ำจิ้มรสแซ่บด้วย

  • การเก็บภาษี 25% กับสินค้าทุกชนิดที่นำเข้าจากเม็กซิโก
  • การเก็บภาษี 25% กับสินค้าทุกชนิดที่นำเข้าจากแคนาดา
    แต่ได้ยกเว้นเฉพาะน้ำมันดิบและสินค้าพลังงานอื่นๆ จากแคนาดาที่เก็บ 10%

อย่างไรก็ตามจากคำขู่ของทรัมป์ แคนาดาและเม็กซิโกก็ได้ทำข้อตกลงในการดำเนินการ เพื่อการยับยั้งการอพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายในสหรัฐฯ รวมทั้งมาตรการด้านความมั่นคงชายแดนในการป้องกันการไหลเข้ามาของยาเสพติดโดยเฉพาะยาเฟนนิล ซึ่งทรัมป์เองก็ยอมยืดเวลาบังคับใช้ไปอีก 1 เดือน ภายหลังจากการหารือตกลงกันได้ด้วยดี

  • สั่งเก็บภาษีสินค้าที่มาจากจีนเพิ่มขึ้น 10% โดยเพิ่มจากอัตราภาษีที่มีอยู่เดิม ซึ่งมาตรการทางภาษีกับจีนมีผลบังคับใช้เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นอกจากภาษีที่เก็บจีนเพิ่ม ช่วงที่ผ่านมาทรัมป์ยังขู่เก็บภาษีเพิ่มกับอีกหลายชาติ ได้แก่

  • ขู่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหภาพยุโรป (EU) หากไม่ซื้อน้ำมันและก๊าซจากสหรัฐฯ เพิ่ม
  • จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมต่อรัสเซียและประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในยูเครน หากรัสเซียไม่บรรลุข้อตกลงยุติสงคราม
  • เรียกร้องให้ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากโคลอมเบียทั้งหมด หลังจากเครื่องบินของสหรัฐฯ ที่ใช้เคลื่อนย้ายผู้ถูกเนรเทศจากโคลอมเบียถูกห้ามไม่ให้เข้าประเทศ
  • วางแผนจะเก็บภาษีนำเข้าชิป ยา เหล็กกล้า และอะลูมิเนียม

<จีนไม่อยู่เฉย ออกมาตรการโต้กลับ>

ล่าสุดรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ โดยตั้งเป้าเก็บภาษีกับสินค้าสหรัฐฯ บางรายการ รวมถึงมาตรการอื่นๆ เพื่อตอบสนองต่อภาษีเหมารวม 10% ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้กับสินค้านำเข้าจากจีน

โดยมาตรการโต้กลับของจีน ส่วนหนึ่งคือการประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในกลุ่มถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในอัตรา 10% และน้ำมันดิบในอัตรา 15% ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะทำให้บริษัทที่ต้องการนำเข้าพลังงานฟอสซิลจากสหรัฐฯ และจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มเพื่อนำเข้าสินค้าเหล่านั้น แต่ทว่า การค้าพลังงานฟอสซิลระหว่างจีนและสหรัฐฯ ถือว่ามีขนาดเล็ก โดยในปี 2566 ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ คิดเป็นเพียง 1.7% ของยอดนำเข้ารวมของจีน ซึ่งบ่งชี้ว่าจีนไม่ได้พึ่งพาสหรัฐฯ มากนัก และผลกระทบจากภาษีอาจมีเพียงเล็กน้อยต่อเศรษฐกิจของจีน

นอกจากนี้ จีนยังได้กำหนดภาษีนำเข้า 10% สำหรับเครื่องจักรทางการเกษตร รถกระบะ และรถยนต์ขนาดใหญ่บางประเภทด้วย แต่ถึงอย่างนั้นจีนก็ไม่ได้เป็นผู้นำเข้ารถกระบะจากสหรัฐฯ รายใหญ่ ส่วนใหญ่จีนนำเข้ารถยนต์จากยุโรปและญี่ปุ่น ดังนั้น ภาษี 10% ที่กำหนดกับสินค้ากลุ่มนี้ ซึ่งมีปริมาณการนำเข้าในระดับต่ำอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคมากนัก

อย่างไรก็ตามมีมุมมองว่าการตอบโต้ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นส่วนหนึ่งของข้อพิพาททางการค้าของจีนและสหรัฐที่มานานมากแล้ว จากที่ก่อนหน้านี้มีการกำหนดและขู่ใช้มาตรการทางภาษีกับสินค้าต่าง ๆ มาตั้งแต่ปี 2561 หรือในช่วงแรกๆ ที่ทั้งสองชาติเริ่มพิพาทกัน และยังมีนักวิเคราะห์มองว่ามาตรการตอบโต้ของพี่จีนนั้นค่อนข้างเบา เมื่อเทียบกับมาตรการของสหรัฐที่ซัดตู้มเดียวกระทบไปทั่วแบบนั้น

<พิษขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน กระทบชิ่งไทย>

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าประเทศไทยน่าจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการที่ประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐเป็นอันดับที่ 10 ของโลก ดังนั้นกลยุทธ์ของไทยในการรับมือคงต้องเปิดตลาดให้กับธุรกิจสหรัฐมากขึ้น หรือเพิ่มการนำเข้าสินค้าของสหรัฐ เพื่อลดการได้ดุลการค้ากับสหรัฐ

นอกจากนี้ หากผลกระทบจากสงครามการค้าขยายวงกว้าง เฟดอาจจะไม่สามารถลดดอกเบี้ยเพิ่ม จากที่คาดว่าจะลดลง 2 ครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ตามในวันที่ 1 เมษายนนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมที่จะเก็บภาษีในประเทศต่างๆ ซึ่งประเทศไทยอาจจะเป็นหนึ่งในประเทศที่อาจถูกมาตรการภาษีได้

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่าค่าเงินบาทในปี 2568 จะเผชิญกับความผันผวนสูงขึ้นกว่าช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 ที่สูงอยู่ก่อนแล้ว จากบริบทเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไป ขณะที่ผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ โดยเฉพาะการกีดกัดทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยซ้ำเติมความผันผวนของค่าเงิน

ขณะเดียวกันยังส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ทางการเงินโลกอย่างมีนัย โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ซึ่งภาพดังกล่าวคาดว่าจะมีต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเปิดปี 2568 ค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าแตะระดับ 34.80 บาท ก่อนทยอยกลับมาเคลื่อนไหวทิศทางแข็งค่าแตะระดับต่ำสุด 33.60 บาท ขณะที่ปัจจุบันเคลื่อนไหวใกล้เคียงระดับ 33.66 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568)

<สงครามการค้าครึ่งปีแรกแค่เผาหลอก>

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่าการทำสงครามการค้าเต็มรูปแบบระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศคู่ค้ายังไม่ได้เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก และแคนาดาเพิ่มอีก 25% นั้น หลังการเจรจาต่อรองก็ชะลอขยายเวลาออกไปอีก 1 เดือน ส่วนการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกเพียง 10% จากที่เคยประกาศไว้ 65% แม้ไม่มีการเจรจาก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อจีน เนื่องจากสินค้ามีราคาถูก และถือว่าสหรัฐฯ ยังไม่ประกาศสงครามการค้าเต็มตัว เนื่องจากขณะนี้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อยู่ที่ 2.9% หากราคาสินค้ากลับมาแพงขึ้น อาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) คาดว่าสงครามการค้ารอบใหม่ (Trade War 2.0) ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่ม จะส่งผลกระทบกับไทยแน่ๆ เพราะ

1. Trump 2.0 เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีความเข้มข้นมากขึ้นกว่าสมัยแรก โดยเฉพาะ Trade War 2.0 ที่เริ่มต้นในไม่ถึงเดือนหลังรับตำแหน่งและมาตรการต่างๆ ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะกับจีน แต่พุ่งเป้าไปที่ประเทศคู่ค้าอื่นที่เกินดุลกับสหรัฐฯ และที่สำคัญการดำเนินมาตรการส่วนใหญ่ เป็นไปเพื่อกดดันให้เกิดการเจรจาต่อรองที่จะเอื้อประโยชน์สูงสุดให้แก่สหรัฐฯ อย่างที่เกิดขึ้นกับแคนาดาและเม็กซิโก

2. Trade War 2.0 ระยะแรก ซึ่งสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 10% คาดว่าจะยังส่งผลกระทบต่อไทยไม่มากนัก เนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าและโลจิสติกส์ของจีนที่อยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะไทย ทำให้แม้จีนถูกเก็บภาษีอีก 10% ไทยก็อาจยังได้ประโยชน์ไม่มากนักจากการส่งสินค้าไปตลาดสหรัฐฯ แทนจีน แต่ถ้าหากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจีนเพิ่มขึ้นอีกในระยะถัดไป ไทยก็มีโอกาสได้อานิสงส์เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องระวังสถานการณ์ที่จีนนำสินค้าที่ไม่สามารถส่งไปตลาดสหรัฐฯ มาทุ่มตลาดประเทศอื่น รวมถึงไทยแทน

3. ไทยยังต้องพึงระวังความเสี่ยงจากการถูกดำเนินมาตรการจากสหรัฐฯ จากที่กล่าวไปแล้วว่า Trump 2.0 มีการดำเนินมาตรการที่รวดเร็วและเข้มข้น ทำให้การที่ไทยเป็นคู่ค้าที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ อันดับที่ 12 มูลค่าราว 40,720 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 66 อาจกลายเป็นเป้าของสหรัฐฯ ในการใช้มาตรการการค้ามากดดันไทยเพื่อให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น สหรัฐฯ อาจขู่ขึ้นภาษีกับไทยเพื่อเจรจาให้ไทยนำเข้าสินค้าบางรายการจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าเกษตร โดย ยังต้องติดตามมาตรการไต่สวน AD/CVD จากสหรัฐฯ ที่อาจมีมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นการย้ายฐานมาจากจีน เช่นที่เกิดขึ้นแล้วกับสินค้าแผงโซลาร์ เป็นต้น

ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้นำคณะเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ เพื่อเจรจาต่อรองล่วงหน้าแล้ว ก่อนที่จะมีมาตรการออกมา ซึ่งคาดว่าจะมีโอกาสได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐฯ และประเทศไทยมีท่าทีเชิงรุก กรณีจะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพื่อสร้างสมดุลเรื่องการค้า ที่ผ่านมานายทรัมป์ยังไม่ได้พูดถึงประเทศไทยแต่อย่างใด ซึ่งต้องรอเดือนเมษายน 2568 เนื่องจากประเทศไทยมีความเสี่ยง เนื่องจากเกินดุลการค้าจากสหรัฐฯ ในลำดับต้นๆ

<ลุ้น “ทรัมป์” เจรจา “สีจิ้นผิง”>

แน่นอนว่าสงครามการค้าของ 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ย่อมเป็นที่จับตา เพราะไม่ว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรก็มีผลกระทบไปในวงกว้างแทบจะทุกตลาด การส่งออก การลงทุน ตลาดสินทรัพย์ ตลาดทุน คริปโทฯ ทองคำ ต่างมีผลทั้งสิ้น ดังนั้นการที่ ทรัมป์ ออกมาบอกว่าเขามีแผนที่จะเจรจากับประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ของจีน มองเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการนำไปสู่ข้อตกลงของสองชาติมหาอำนาจ

แต่หากจีนดำเนินมาตรการตอบโต้ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ตามแผน ก็ยังจะต้องมาลุ้นกันอีกว่า “ทรัมป์” จะออกมาใช้ยาแรงเล่นงานจีนอีกรอบหรือไม่ เพราะการขึ้นภาษีนำเข้าจีน 10% ยังเป็นแค่นน้ำจิ้มเท่านั้น…

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles