การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แบบดุดันไม่เกรงใจใคร เพราะเป็นการคิดคำนวณจากระดับ 50% จากฐานภาษีเฉลี่ยที่แต่ละประเทศ เก็บจากสินค้าสินค้านำเข้าจากสหรัฐ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ เรียกได้เลยว่าอ่วม!!
นำมาโดยกัมพูชา ที่ถูกเรียกเก็บมากสุด 49%, สปป.ลาว 48%, เวียดนาม ที่ 46%, เมียนมา 44%, อินโดนีเซีย 32%, มาเลเซีย, บรูไน 24%, ฟิลิปปินส์ 17%, สิงคโปร์ 10% ส่วนไทยเรานั้น โดนเก็บที่ 37% ซึ่งหลายสำนักวิจัย นักเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าผิดคาดไปมาก มากกว่าที่ภาครัฐและเอกชนคาดการณ์ไว้เกือบ 3 เท่า
<เอฟเฟกต์ภาษีมาแบบกระชั้นชิด>
คุณณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่าจากกรณีสหรัฐปรับเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศไทยในอัตราสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะมีผลในวันที่ 9 เม.ย.นี้ ถือว่าค่อนข้างกระชั้นชิด และไทยต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐที่จะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
คุณเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่าผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของไทย ประเมินที่ 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4 แสนล้านบาทในปี 2568 โดยตัวเลขดังกล่าวอาจปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับผลการเจรจาของภาครัฐหลังจากนี้ กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า รถยนต์และชิ้นส่วน เกษตร และอาหาร เป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อประกอบภาพกับกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอลงเพิ่มเติมหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว
อีกทั้งสถานการณ์ที่ไม่นิ่ง มีผลต่อการตัดสินใจชะลอการลงทุนทั้งในระยะสั้นถึงกลาง โดยอุตสาหกรรมที่ไทยยังได้เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเป็นการย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดอาเซียน หนีไม่พ้นกลุ่มที่เข้ามาในไทยอยู่แล้ว ประสิทธิภาพในการผลิตและการดำเนินธุรกิจของไทยแข่งขันได้มากน้อยเท่าใดในช่วงของการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วนี้ จึงถึงเวลาแล้วที่เราต้องรื้อเชิงโครงสร้างการประกอบธุรกิจ ยกระดับต้นทุนการผลิต เพราะประเมินแล้วมองว่าอุตสาหกรรมของไทยอาจยังไม่เอื้อในการดึงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเข้ามาเพิ่มเติม
<จีดีพีไทยส่อทรุด ต่ำสุดอาจเหลือ 1.1% ปีนี้>
ดร. หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP บอกว่าผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว และการขึ้นภาษีตอบโต้ของสหรัฐที่ไทยโดยเรียกเก็บ 37% การค้าโลกได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีนำเข้า ซึ่งผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไปยังสหรัฐ ประเมินผลกระทบต่อเอเชียทั้งหมดประมาณ 0.6% ขณะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศในเอเชียอื่นๆ เนื่องจากประเทศไทยส่งออกต่อจีดีพีสูง หากอัตราภาษีที่ 36-37% อยู่ไปตลอดทั้งปีนี้ จะเป็นลบต่อจีดีพีไทยที่ 1.1% และเศรษฐกิจไทยที่ประเมินไว้ที่ 2.3% จะลดลงไปที่ 1%
คุณคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการขึ้นภาษีต่างตอบแทนจากหลายประเทศเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา นับเป็นมาตรการที่เข้มงวดที่สุดในรอบกว่า 100 ปี ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมากราว 1.35% จากปัจจุบันที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.8% จะลดเหลือเพียง 1.45% โดยยังไม่นับรวมผลของมาตรการที่รัฐบาลจำเป็นต้องบังคับใช้เพื่อประโยชน์ต่อการเจรจาต่อรอง เช่น การลดการกีดกันทางการค้า (Non-tariff Barrier) และเปิดเสรีให้กับสินค้าเกษตรสหรัฐฯ มากขึ้น การเพิ่มโควต้านำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ของหลายประเทศ อาจส่งผลให้สินค้าไทยที่คล้ายคลึงกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรถูกลดการนำเข้าจากตลาดในต่างประเทศลง ส่วนผลกระทบทางอ้อมเช่น แนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติที่อาจลดลง เนื่องจากอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ทำให้การตัดสินใจย้ายฐานการผลิตทำได้ยากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าการส่งออกปี 2568 จะหดตัว 0.5% จากเดิมที่มองไว้ 2.5% ส่วนจีดีพีไทยได้รับผลกระทบประมาณ 1% ทำให้ประมาณการใหม่อยู่ที่ 1.4% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 2.4% ซึ่งการประเมินดังกล่าวยังไม่ได้รวมผลของการเจรจากับสหรัฐ โดยจากการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะในครึ่งปีแรกยังสามารถเติบโตได้ แต่ครึ่งปีหลังน่ากังวลอยู่บ้าง
<อาฟเตอร์ช็อกการค้าโลกจากภาษีทรัมป์>
ดร.สันติธาร เสถียรไทย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจอนาคต (Future Economy) ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นกรณีที่ไทยต้องเสียภาษีให้กับสหรัฐฯเพิ่มขึ้น โดยมีเนื้อหาบางส่วนระบุว่า “รัฐบาลอเมริกาเพิ่งประกาศกำแพงภาษีครั้งใหญ่ที่เปรียบเสมือนเป็น ‘แผ่นดินไหว’ ช็อคการค้าไปทั้งโลกก็ว่าได้
ทุกประเทศโดนภาษีอย่างน้อย 10% อีก 60 ประเทศโดนภาษี ‘หมัดสวน’ (reciprocal tariff) ที่ประเทศไทยจะโดนถึง 36% สูงกว่าหลายประเทศ
อาฟเตอร์ช็อกของมาตรการครั้งนี้อาจจะรุนแรงและซับซ้อน เพราะว่าหลายประเทศอาจเลือกที่จะใช้ไม้แข็งตั้งกำแพงภาษีกลับ สู้กันไปมา ทำให้การค้าโลกโดยรวมทรุดกว่าที่คิด บางประเทศอาจเสี่ยงตกเข้าภาวะเศรษฐกิจถดถอย (ความเสี่ยงของอเมริกาเองก็เพิ่มขึ้น) ทำให้เมื่อตลาดอเมริกาเหมือนจะกลายเป็นเมืองล้อมด้วยกำแพงที่สินค้าเข้าไม่ได้หรือยากขึ้น ทุกประเทศก็จะคิดคล้ายๆ กันคือต้องส่งออกไปตลาดอื่น ดังนั้นการแข่งขันจะเข้มข้นขึ้นทั้งสำหรับการส่งออกของไทยในตลาดที่ 3 และสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ อาจทะลักเข้ามาในไทยมากขึ้น
เดิมการลงทุนที่ไทยได้จากการหลบเลี่ยงสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ อาจชะงักหรือชะลอเพราะตอนนี้ไทยเองก็โดนภาษีในระดับสูงเช่นกัน (แม้ว่าเวียดนามขะโดนมากกว่า) แน่นอนว่ายังมีความไม่แน่นอนอีกหลายอย่าง เช่นว่ากำแพงภาษีทั้งหมดนี้เจรจาได้แค่ไหน แต่ความไม่แน่นอนนี่เองก็จะทำให้ธุรกิจต่างๆทั่วโลกต้องหยุดเพื่อรอดู ปรับแผน มีผลลบกับเศรษฐกิจการลงทุนทันที”
<ผลกระทบมาก–น้อย ดูรายสินค้า>
คุณคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) บอกว่าอุตสาหกรรมการส่งออกทุกภาคส่วนของไทยจะได้รับผลกระทบทั้งสิ้น แต่ขึ้นอยู่กับว่าสินค้าประเภทไหนจะได้รับผลกระทบมากน้อยกว่ากัน โดยไม่ได้ขึ้นอยู่แค่เพียงว่าประเภทสินค้าใดมีปริมาณการส่งออกไปยังสหรัฐมากที่สุด หรือมีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด หรือได้ดุลการค้าจากสหรัฐ แต่ยังรวมไปถึงค่าเสียโอกาสในการส่งออก เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งขันของไทยที่ส่งออกสินค้าประเภทเดียวกันไปยังสหรัฐ
ยกตัวอย่างเช่น สินค้าประเภทยางพารา ที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 3 คิดเป็นสัดส่วน 10.6% ของสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในปี 2567 คู่แข่งรายสำคัญต่อการส่งออกยางพาราของไทยคือมาเลเซีย แต่สหรัฐเก็บภาษีนำเข้ากับมาเลเซียเพียง 24% เท่านั้น ในการประกาศครั้งล่าสุด
โดยหากเป็นสินค้าบริโภคทั่วไปไทย มีแข่งกับจีนและเวียดนาม ซึ่งไทยเสียภาษีสูงกว่าจีนเล็กน้อย แต่เวียดนามเหมือนจะได้เปรียบ แต่ยังต้องไปดูเรื่องต้นทุนการผลิตประกอบด้วย
<ส.อ.ท. โอดอุตสาหกรรมยานยนต์อ่วมสุด>
คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บอกว่ามาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อหลายกลุ่มอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งถูกเก็บภาษีในอัตรา 25% ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2568 อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของบริษัทแม่ในการย้ายฐานการผลิต ขณะที่รถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปสหรัฐมากกว่ารถยนต์ อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากประเทศคู่แข่ง
กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมก็ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากถูกเก็บภาษี 25% ตั้งแต่แรกแล้ว ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐสูงขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้อาจต้องเผชิญกับการคำสั่งซื้อที่ลดลงของคำสั่งซื้อและความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล เนื่องจากคู่แข่งจากประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่ายังคงสามารถรักษาต้นทุนที่ต่ำกว่าได้
ส่วนอุตสาหกรรมที่กระทบเต็มๆ คืออุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะอาหารแปรรูปและสินค้าประมง เช่น ปลาทูน่าและกุ้งแปรรูป ซึ่งเดิมมีอัตราภาษี 0% แต่ถูกปรับขึ้นเป็น 36% ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมเคมี มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 11% ของทั้งหมด ซึ่งอาจลดลงหากมาตรการภาษีของสหรัฐ ยังคงดำเนินต่อไป อุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน โดยมูลค่าการค้าลดลงจาก 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อาจต้องชะลอการผลิตและการส่งออก เนื่องจากผู้ซื้อต่างประเทศอาจปฏิเสธรับมอบสินค้าไทย เพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษีนำเข้าสูง เป็นต้น
<ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ช็อก ดิ่งกันถ้วนหน้า>
จากความกังวลต่อการลุกลามของการทำสงครามการค้าทั่วโลก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจถดถอย เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (4 เม.ย.) ตลาดหุ้นไทยปิดดำดิ่งกว่า 36.60 จุด ลดลง -3.15% แตะจุดต่ำสุดในรอบ 5 ปี ที่ 1,125.21 จุด วอลุ่มการซื้อขาย 48,286 ล้านบาท
ดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารโตเกียวปิดตลาดร่วงลงกว่า 8% ทำให้ตลอดสัปดาห์นี้ปรับตัวลดลงแล้วถึง 20% ขณะที่หุ้น Mitsubishi UFJ Financial Group สถาบันการเงินรายใหญ่ที่สุดของประเทศตามมูลค่าสินทรัพย์ดิ่งลง 8.5%
ด้านดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 1,000 จุดเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน โดย ณ เวลา 20.49 น. (4 เม.ย.) ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 39,513.05 จุด ลบ 1,032.88 จุด หรือ 2.55% หลังจากที่ จีนประกาศเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐ เพื่อตอบโต้ต่อการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) ต่อจีนก่อนหน้านี้
<ความหวังท่องเที่ยวไฮซีซั่นต่อชีวิต>
ช่วงที่ผ่าน ไทยยังเผชิญอยู่กับหลายปัญหา ทั้งปัญหาหนี้ กำลังซื้อชะลอตัว ทำให้เศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้นได้เต็มที่ ความหวังอีกเฮือกนั่นคือการท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ ที่หวังว่าจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวมาใช้เงินในบ้านเราเยอะๆ แต่เหมือนเคราะห์ซ้ำเมื่อไม่กี่วันมานี้ ไทยต้องเจอกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรง สร้างความกังวลให้กับนักท่องเที่ยวอยู่ไม่น้อย ยอดยกเลิกจองห้องพักไม่ต่ำกว่า 1,000 ห้อง รวมถึงผลกระทบอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐ เหมือนทุกอย่างประเดประดังเข้ามาไม่พัก หลายฝ่ายยังลุ้นว่าเมื่อถึงสงกรานต์ทุกอย่างจะไม่เลวร้ายจนเกินไป อีกทั้งยังหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรีบแอคชั่น มีมาตรการออกมากู้สถานการร์ต่างๆ นี้โดยเร็วที่สุด
นอกเหนือจากปัญหาเศรษฐกิจ เรายังคงต้องเอาใจช่วยเจ้าหน้าที่ น้องๆ สุนัข K9 ที่กำลังเร่งค้นหา ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่ติดอยู่ใต้ซากอาคาร สตง.ที่ ถล่มอย่างเต็มที่ ทีม BTimes ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจส่งไปยังคนทำงานและครอบครัวผู้ประสบภัยทุกคนด้วย…