หลังจากที่การเมืองไทยอลหม่าน นายกรัฐมนตรีจำต้องเปลี่ยนตัว ด้วยเหตุผลทางการเมือง ทำให้ล่าสุดไทยได้มีนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 เป็น “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” ซึ่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยยังนับเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยและนับเป็นคนที่ 4 จากตระกูลชินวัตร ที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ และเป็นนายกฯหญิงคนที่ 2 ของไทย
โดยนายกฯ แพทองธาร ได้ประกาศภายหลังจากรับพระบรมราชโองการฯ ว่า “จะมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงรักภักดี” และ “ประสานพลังคนทุกรุ่น” เพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า พร้อมแก้ไขปัญหาปากท้องเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา จากมติศาลรัฐธรรมนูญ 5 ต่อ 4 ที่ให้นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ครม.รักษาการ ทำให้หลายฝ่าย หลายสำนัก พากันคาดการณ์ ครม.ชุดใหม่ ตามการนำของ “นายกฯ แพทองธาร” ว่าจะมีโฉมหน้าเป็นใครบ้าง โดยเฉพาะดรีมทีมเศรษฐกิจของ ครม.แพทองธาร
ภาพการมาของนายกฯ คนที่ 31 ดูเหมือนจะเป็นสัญญาณดีในสายตานักลงทุน หรือต่างชาติ สะท้อนได้จากตลาดหุ้นไทยที่ผงกหัวขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงปลายสัปดาห์ล่าสุด นับตั้งแต่วันโหวตที่ 16–23 สิงหาคม 2567 SET Index บวกไปแล้วกว่า 60 จุด หรือกว่า 5% ผ่านทะลุแนวต้านสำคัญที่ 1,350 จุดไปแล้ว หลังจากที่ซึมมานาน สลับหลุด 1,300 จุด มาเรื่อยๆ จนทำเอานักลงทุนท้อ
การที่ตลาดหุ้นไทยที่เกือบหลับแต่กลับมาได้ในตอนนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะตลาดตอบรับการไม่มีสุญญากาศทางการเมืองให้ลากยาว พรรคแกนนำอย่างเพื่อไทยเดินเกมเร็ว ทำให้ความกังวลสถานการณ์ไม่แน่นอนทางการเมืองลดลงเร็วไปด้วย บางนักวิเคราะห์ยังมองด้วยว่าอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่ออกมาโชว์วิสัยทัศน์ในฐานะครอบครัวพรรคเพื่อไทยและกุนซื้อของนายกฯ แพทองธารที่แสดงแนวทางเกี่ยวกับนโยบายของพรรคแกนนำ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลควรเดิน ก็มีส่วนในการเรียกความเชื่อมั่นให้กับตลาด แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม
โดย บล. กรุงศรี มองว่าหุ้นไทยเมื่อวันศุกร์ 23 สิงหาคม 2567 ปรับตัวขึ้น ขานรับนโยบายนายทักษิณ ชินวัตร ที่แสดงวิสัยทัศน์ Vision for Thailand 2024 เป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจที่ขาดหายไป น่าจะมีความคาดหวังเชิงบวกมากขึ้น เพราะมีการฉายแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจรอบด้านในระยะสั้น กลาง และยาว โดยแนวทางนโยบายหลักที่น่าจะเร่งขับเคลื่อนคือดิจิทัลวอลเล็ต แม้จะมีการปรับรูปแบบบางส่วน, การแก้หนี้ครัวเรือน Entertainment Complex, Data Center จะเป็นตัวแปรหนุนเศรษฐกิจเริ่มกลับมาขยายตัวเร่งขึ้น หนุน SET ฟื้นตัวต่อ
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากตลาดหุ้นที่ฟื้นคืนชีพแล้ว ยังต้องรอดูผลงานการบริหารงานทีม ครม.นายกฯ แพทองธาร ต่อไป เพราะโจทย์ใหญ่ไม่ใช่ตลาดทุน แต่เป็นปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชนที่รอการแก้ไข และปัญหาหนี้ที่คาราคาซังเรื้อรังมานาน ครัวเรือนพากันเป็นหนี้ท่วมหัวเกินกว่า 90% ของจีดีพีแล้ว ที่สำคัญนโยบายเรือธงอย่างดิจิทัลวอลเล็ต ที่หลายคนรอคอย ต่างก็ยังต้องลุ้นกันอยู่ว่าจะดับฝันหรือจะสานฝันต่อ เพราะแง้มออกมาว่าจะมีการปรับรูปแบบเป็นแจกเงินสดให้กลุ่มเปราะบางก่อน เพื่อให้แจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามไทม์ไลน์เดิม ทั้งหมดนี้ก็ยังจะส่งผลต่อตลาดหุ้นอย่างแท้จริงในภายหลังด้วย
ขณะนี้ยังคงอยู่ในช่วงฟอร์มทีมของรัฐบาลแพทองธาร คาดว่าโฉมหน้า ครม. จะชัดเจนในอีก 3 สัปดาห์นี้ ซึ่งทาง บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส มองว่าด้วยตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังเป็นของพรรคเพื่อไทย คาดว่ายังเป็นโควตาของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเป็นพรรคเดิม โควต้ารัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลไม่เปลี่ยน อาจมีการปรับบางตำแหน่งในบางพรรค ไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก ขณะที่นโยบายรัฐบาล จะมีการแถลงในเดือนกันยายนนี้เป็นประเด็นที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งมีกระแสข่าวว่าจะแจกเป็นเงินสดแทน
ด้าน บล. เคจีไอ ประเมินว่า ครม.แพทองธาร อาจปรับเปลี่ยนหรือดำเนิน มาตรการกระตุ้นการบริโภคที่จับต้องได้หรือเข้าถึงง่ายขึ้น
บล. เอเซีย พลัส มองว่าการที่ไทยได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ มีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะเดินไปข้างหน้าต่อเนื่อง มองเป็นเชิงบวกต่อตลาดหุ้น ในแง่มุมของการเดินหน้านโยบายต่างๆ มองว่ารัฐบาลยังมุ่งเป้าไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจหลัง จากการที่จีดีพีไทยเติบโตต่ำมาเป็นเวลานาน ขณะที่โครงการแจกเงิน 10,000 บาท ก็ยังมีการยืนยันจากนายกรัฐมนตรีแล้วว่าจะไม่ล้มเลิก แต่ยังต้องติดตามเงื่อนไขว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร
ล่าสุดโผรายชื่อรายชื่อ ในครม.เศรษฐกิจ ดูจะนิ่งและใกล้เคียงกับที่หลายฝ่ายคาดการณ์ คือน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่นั่งควบกระทรวงใด ขณะที่หัวเรือใหญ่อย่างกระทรวงการคลังคาดว่าเก้าอี้จะไม่ขยับไปไหน โดยจะมีนายพิชัย ชุณหวชิร ยังนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเช่นเดิม ตามมาด้วยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ยังนั่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเหนียวแน่น และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล นั่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตามเดิม นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาฯ ขณะที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ย้ายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ไปนั่งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แทนนายภูมิธรรม เวชยชัย ที่คาดว่าจะได้ไปนั่งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ด้านเก้าอี้กระทรวงพลังงานนั้นคาดว่าจะตกเป็นของนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีพลังงาน ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่วนนายสรวงศ์ เทียนทอง นั่งเก้าอี้ รัฐมนตรีดิจิทัลฯ แทนนายประเสริฐ จันทรรวงทอง
สำหรับตำแหน่งกระทรวงอื่นๆ นอกเหนือจากกระทรวงเศรษฐกิจ ได้แก่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว จะกลับเข้ามานั่งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี นายชูศักดิ์ ศิรินิล คาดว่าจะเข้ามานั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยดูแลงานด้านกฎหมาย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกฯ,น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล รมต.ประจำสำนักนายกฯ
ภาพการเมืองขณะนี้ปฏิเสธได้ยากว่านายกฯ หญิงคนที่ 31 ของไทยจะยังคงอยู่ภายใต้ปีกของผู้เป็นพ่ออย่างอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่หลังจากพ้นคดีก็แสดงความคิดเห็นด้านการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเต็มที่ แม้ว่าที่ผ่านมาก็มีการแสดงความคิดเห็นทำนองนี้อยู่ตลอดในระหว่างอยู่ต่างประเทศก็ตาม ซึ่งทางด้านนายกฯ แพทองธารเอง ก็ได้แสดงจุดยืนของตนเอง โดยยืนยันว่าตนมีความคิดเป็นของตัวเอง และเป็นคนชัดเจนพอสมควร หลังถูกสังคมมองว่าอดีตนายกฯ ทักษิณกำลังจะครอบงำนายกฯ คนที่ 31 ของไทย และยังย้ำด้วยว่าเธอและพ่อเคารพหน้าที่และไม่ก้าวก่ายกัน
ต่อจากนี้ทำได้เพียงลุ้นโฉมหน้า ครม.ชุดใหม่ เพื่อพิสูจน์ฝีมือการทำงานของ “นายกฯ แพทองธาร” ในฐานะคนรุ่นใหม่ อีกทั้งจะสามารถลบภาพเงาของอดีตนายกฯ ผู้เป็นพ่อได้ตามที่เธอหวังและตั้งใจได้หรือไม่ ก็คงต้องติดตาม…