ค้าปลีกไทยคืนชีพ ตลาดสินค้าลักชัวรีไทยโตแรง ท้าทายเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมลักชูฯทั่วโลก ท่องเที่ยวฟื้น ลูกค้ากระเป๋าหนัก ดันยอดขายโตก้าวกระโดด

ค้าปลีกไทยคืนชีพ ตลาด สินค้าลักชัวรี ไทยโตแรง ท้าทายเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมลักชูฯทั่วโลก ท่องเที่ยวฟื้น ลูกค้ากระเป๋าหนัก ดันยอดขายโตก้าวกระโดด

ปัจจุบันตลาดสินค้าลักชัวรีทั่วโลกมีมูลค่า 386,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามการรายงานของ Bain & Company บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำในสหรัฐอเมริกาที่ประเมินว่ายอดขายในจีนจะลดลง 20-22% ความต้องการจากตลาดใหญ่ที่ยังไม่ฟื้นเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดให้ยอดขายแบรนด์เนมตกต่ำลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2567 นี้ยอดขายสินค้าลักชัวรีทั่วโลกจะหดตัว 2% มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยราคาสินค้าที่สูงขึ้นและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทำให้ฐานลูกค้าน้อยลง

<ทำไมตลาดลักชัวรีไทยโตสวนเศรษฐกิจ>
แต่กลับพบว่าตลาดสินค้าลักชัวรี หรือลักชูฯ ในไทยกลับโตสวนกระแสโลก สะท้อนได้จากเม็ดเงินโฆษณาแบรนด์หรูต่างๆ ที่ Target ในไทย เติบโตถึง 214% ในครึ่งปีแรก 2567 สูงที่สุดในเอเชีย

โดยส่วนสำคัญในการกระตุ้นตลาดลักชูฯ ไทยโตแรงก็มาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือภาคการท่องเที่ยวที่บูสต์ขึ้นเร็ว ดึงเอาเม็ดเงินจากต่างชาติที่นอกจากมาเที่ยวแล้วยังมาชอปปิงแบรนเนมหรูในไทยด้วย และอีกส่วนหนึ่งก็คือกำลังซื้อของลูกค้าระดับบน หรือกำลังซื้อสูง กลุ่มนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามากนัก ยังมีกำลังที่มากพอที่จะจ่าย โดยเฉพาะสินค้าหรู ซึ่งสองปัจจัยนี้เป็นฟีเจอร์สำคัญในการดันให้ตลาดค้าปลีกโดยรวมฟื้นตัวได้เร็ว หลังจากวิกฤตโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา

คุณณัฐธีรา บุญศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ในเครือเซ็นทรัล รีเทล บอกว่าการที่ตลาดค้าปลีก โดยเฉพาะกลุ่มลักชัวรีเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอื่นๆ เนื่องมาจากลูกค้าในกลุ่ม ลูกค้าระดับบนในประเทศที่มีกำลังซื้อสูงยังมีอำนาจในการใช้จ่าย รวมทั้งลูกค้าในกลุ่มเจน Y-Z ที่มีกำลังซื้อมากขึ้น รวมทั้งการที่ลูกค้าคนไทยเองก็รักในแฟชั่นทำให้ตลาดยังโตได้ต่อเนื่อง

“ยอดชอปปิงสินค้าแบรนด์หรูของเซ็นทรัลเฉลี่ยอยู่ที่ 6 แสนบาทต่อปี ส่วนลูกค้าจะอยู่ที่ 7,000 คนต่อปี โดยยอดการชอปสูงสุดเฉพาะที่เซ็นทรัลชิดลมจะอยู่ที่ 20,000 กว่าบาทต่อครั้ง(ต่อบิล)ส่วนสาขาอื่นจะอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาทต่อครั้ง (ต่อบิล) ซึ่งนับว่าโตกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว โดยมองว่าโอกาสเติบโตของตลาดลักชัวรีไทยยังมีมาก อย่างในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (1 มิ.ย. 67–30 พ.ย. 67) เซ็นทรัลชิดลมมียอดขายเติบโตสูงถึง 25% แล้ว และในปีหน้า 2568 ตั้งเป้าว่าจะสร้างยอดขายเติบโตเป็น 30% เมื่อรีโนเวทเซ็นทรัลชิดลมเสร็จครบ 100% เพราะเป็นห้างสรรพสินค้าที่อยู่ใจกลางเมืองของกรุงเทพ”

ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาชอปแบรนด์เนมในบ้านเรา ต่างจากอดีตที่จะมีสัดส่วนลูกค้าจีนมากที่สุด แต่ปัจจุบันลดลง และพบว่ามีชาติอื่นๆ เข้ามาทดแทน เช่น รัสเซีย อินเดีย และอาเซียน เป็นต้น ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในกลุ่มลักชัวรี ซึ่งหากคิดเป็นสัดส่วนลูกค้าของเซ็นทรัลคิดเป็นต่างชาติ 20% นอกนั้นอีก 80% เป็น (เศรษฐี) คนไทย

คุณณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา กรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ยังกล่าวด้วยว่าสิ่งที่สะท้อนว่าตลาดแบรนด์ลักชูฯ ในไทยโตมาก ก็มาจากการที่แบรนด์หรูระดับโลกหลายแบรนด์เริ่มหันมาใช้บุคคลที่มีชื่อเสียง หรือ KOLs ไทย ในฐานะ Brand Ambassador สะท้อนอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะกับกลุ่ม Young Gen

<ตลาดลักชัวรีปี 68 โตต่อ>
แนวโน้มตลาดสินค้าลักชัวรีในปี 2568 รายงานของ Bain & Company คาดว่าตลาดจะมีอัตราการเติบโตที่ 0%– 4% ที่ระดับอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ โดยจะได้รับแรงหนุนจากยอดขายในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ด้านยอดขายในจีนคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนี้การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะประธานาธิบดี คาดว่าจะช่วยลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสงคราม การเข้าสู่ดอกเบี้ยขาลงของเฟด และนโยบายลดภาษีเงินได้ของทรัมป์ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้ชาวอเมริกันใช้จ่ายมากขึ้น

<รัฐบาลเล็งขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT จะมีผลไหม?>
ตอนนี้มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลมีแนวคิดที่จะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT อัตรา 10%-15% เลยทีเดียว โดยอ้างผลศึกษาจากต่างชาติ แม้จะยังไม่ชัดเจนในเรื่องของรายละเอียดเพราะกำลังศึกษากันอยู่ก็ตาม แต่ข่าวลือที่ออกมากลับมีความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือที่ไม่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ถ้าจะขึ้นในอัตรานั้นจริง

ยกตัวอย่างเช่น คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่บอกว่าเพดาน VAT ของไทยอยู่ที่ 10% แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยยังเติบโตในระดับต่ำไม่ถึง 2% ทำให้รัฐบาลที่ผ่านมายังคงต่ออายุการเก็บ VAT ไว้ที่ 7% เท่านั้น อีกทั้งในปีนี้เศรษฐกิจไทยยังเติบโตอยู่ในระดับเช่นเดิม ดังนั้น ขณะนี้จึงยังไม่ใช่เวลาที่จะปรับขึ้น VAT เพราะการจะปรับขึ้นจาก 7% เป็น 10% หรือ 15% จะส่งผลกระทบต่อทั้งประชาชน และภาคเอกชน โดยเฉพาะอาจทำให้มีการเลี่ยงภาษีเกิดขึ้น

ด้านคุณแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่าขณะนี้ไม่ใช่เวลาเหมาะสมที่จะปรับขึ้น VAT เพราะเศรษฐกิจไทยยังเติบโตต่ำ ประชาชนมีปัญหาหนี้ครัวเรือน และภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SME ยังมีปัญหาหนี้สิน ทางที่ดีรัฐบาลควรผลักดันให้ธุรกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใต้ดิน ธุรกิจต่างๆ ที่เป็นนอมินีของคนต่างด้าว ฯลฯ เพื่อที่รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นเงินจะไหลออกนอกประเทศหมด

ขณะที่ ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เชียร์ว่า ควรขึ้น! แต่ขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น ขึ้น 1% ก่อน แล้วหาจังหวะในอนาคต ขึ้นทีละ 1%แต่ต้องไม่ประกาศล่วงหน้า เพราะอาจทำให้เกิดการคาดการณ์เงินเฟ้อได้ แล้วไปจบที่ 10% ภายใน 5 ปี เป็นต้น

ในมุมมองของบรรดาผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ามองว่าธุรกิจค้าปลีกสินค้าลักชัวรีจะยังโตได้ โดยปัจจัยหนุนก็มาจากการท่องเที่ยว และกำลังซื้อในกลุ่มระดับบนที่ยังมีต่อเนื่อง แม้กำลังซื้อระดับล่างและระดับกลางจะยังไม่กระเตื้องมากพอ ก็ยังมีความหวังจากกลุ่มระดับบนที่กระเป๋ายังหนักและลูกค้าต่างชาติพร้อมจ่าย มากระตุ้นตลาดค้าปลีกบ้านเราให้คึกคักได้ ส่วนนโยบายขึ้นภาษี VAT เราอาจจะต้องติดตามกันต่อ ไม่ว่าจะขึ้นหรือไม่ขึ้นผลกระทบที่ตามมาย่อมเกิด ไม่ว่าจะทางบวกหรือทางลบก็ตาม…

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles