Topic ร้อนฉ่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาน่าจะหนีไม่พ้นเรื่องค่าไฟบ้านเราที่เตรียมออกตัวพุ่งขึ้นอีกรอบรับปลายปี หลังจากที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เคาะอัตราค่าไฟเพิ่มขึ้นในงวดสุดท้ายปลายปี 2567 นี้
<ทบทวนสักนิดว่าค่าเอฟทีคืออะไร! ทำไมต้องปรับทุก 4 เดือน>
ค่าเอฟที (Ft) คืออัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือค่าไฟฟ้าผันแปร เป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ มีการปรับทุก 4 เดือน เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของต้นทุน โปร่งใสกับผู้ใช้ไฟฟ้าที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้า
ซึ่งการพิจารณาค่าเอฟที กกพ. เป็นผู้พิจารณาปรับค่าเอฟทีทุกๆ 4 เดือน ก่อนประกาศค่าเอฟที จะเปิดรับฟังความคิดเห็น แล้วจึงมีมติเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างเป็นทางการต่อไป โดยจะประกาศล่วงหน้า 1 เดือนก่อนใช้จริง
<แล้วค่าไฟที่เราจ่ายกันทุกเดือนประกอบด้วยอะไรบ้าง?>
1. ค่าพลังงานไฟฟ้า (ค่าไฟฐาน)
2. ค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที)
3. ค่าบริการ
4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ก็จะคำนวณออกมาเป็นค่าไฟตามที่การไฟฟ้าจะส่งบิลไปยังหน้าบ้านของเรา
<ค่าไฟงวด ก.ย. – ธ.ค. 2567 ขึ้นแน่>
กกพ. ได้ออกมาประกาศแล้วว่า จะมีการปรับ “ค่าเอฟที” สำหรับงวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2567 จะปรับขึ้นในระดับ 46.83–182.99 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บในงวด ก.ย. – ธ.ค. 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 4.65–6.01 บาทต่อหน่วยจาก งวดก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย
โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะแนวโน้มค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงิน ดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนตัวลงจากงวดก่อนหน้า 1.29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ (งวด พ.ค. – ส.ค. 2567) เป็น 36.63 บาทต่อเหรียญสหรัฐ การผลิตไฟฟ้าพลังงานในประเทศและต่างประเทศ และการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินแม่เมาะ ซึ่งมีต้นทุนราคาถูกมีความพร้อมในการผลิตลดลง และสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญญาจร (LNG Spot) ในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นจากงวดก่อนหน้า 3.2 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูตามสถานการณ์ ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกที่เพิ่มข้น เนื่องจากกำลังเข้าสู่ฤดูหนาวในปลายปี เป็น 3 สาเหตุหลัก ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น และเมื่อรวมกับการทยอยคืนหนีค่าเชื้อเพลิงค้างชำระในงวดก่อนหน้าส่งผลให้ค่าไฟในช่วงปลายปีนี้อาจจะต้องปรับเพิ่มขึ้น
ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) บอกว่าในการพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ “ค่าเอฟที” และค่าไฟฟ้า สำหรับงวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2567 กกพ. ตระหนักดีและคำนึงถึงผลกระทบทั้งในส่วนของผลกระทบของค่าไฟฟ้าต่อค่าครองชีพของพี่น้อง ประชาชน และความสาคัญในการรักษาไว้ซึ่งความมีเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ เพราะนอกจากไฟฟ้ายังเป็นปัจจัยหลักที่สาคัญในการดารงชีพแล้ว ไฟฟ้ายังเป็นปัจจัยหลักที่หนุนเสริมการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้า และการลงทุนของประเทศ ซึ่งในกระบวนการบริหารจัดการจึงมีเป้าหมายในการ รักษาสมดุลทั้งการดูแลค่าครองชีพ และการดูแลคุณภาพ ความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ เพื่อให้สามารถอยู่ ร่วมกันได้ในช่วงที่ภาคพลังงานของประเทศยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างเต็มที่
<พิจารณาจากต้นทุนเป็นหลัก>
ปัจจัยในการพิจารณาค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีนี้ ของ กกพ. นั้น ยังคงมาจากเรื่องต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซทั้งก๊าซในอ่าวไทย และ LNG Spot นำเข้า ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า มีราคาสูงขึ้น เพราะก๊าซทั้งสองแหล่งต่างได้รับผลกระทบต่อโครงสร้างต้นทุนจากค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงิน ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ 36.63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากต้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 33 บาทต่อ ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมาภาวะราคา LNG Spot ในตลาดโลกมีการปรับตัวเข้าสู่ภาวะ ปกติอย่างต่อเนื่องทั้งปริมาณและราคาซึ่งเฉลี่ยอยู่ในระดับ 10–12 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู และคาดการณ์ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2567 ขึนมาอยู่ที่เฉลี่ย 13 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู เนื่องจากมีปริมาณความต้องการใช้เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว
ส่วนปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังการผลิตได้กลับมาสู่ภาวะปกติแล้วเช่นกัน โดยมีปริมาณการผลิตทุกแหล่งรวมกันเฉลี่ย 2,184 ล้านบีทียูต่อวัน แต่แหล่งก๊าซในเมียนมายังคงมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่ที่เฉลี่ย 468 ล้านบีทียูต่อวัน จากงวดก่อนหน้านี้อยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 483 ล้านบีทียูต่อวัน ส่งผลต้องมีการนำเข้า LNG Spot เข้ามาทดแทน
<เปิดรับฟังความคิดเห็น ก่อนประกาศอัตราทางการอีกครั้ง>
ในการประชุมครั้งที่ 28/2567 (ครั้งที่ 913) เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567 กกพ. มีมติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจารอบเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณ ค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน ก.ย – ธ.ค. 2567 พร้อมให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 12 – 26 ก.ค. 2567 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการดังนี้
ทางเลือกที่ 1 จ่ายคืนหนี้ กฟผ. ทั้งหมดภายในเดือนธันวาคมนี้ เมื่อบวกกับค่า Ft ค่าไฟจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.01 บาทต่อหน่วย หรือ เพิ่มขึ้น 44% จากระดับ 4.18 บาทในปัจจุบัน
ทางเลือกที่ 2 แบ่งคืนหนี้ กฟผ. 3 งวด เมื่อบวกกับค่า Ft ค่าไฟจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.92 บาทต่อหน่วย หรือ เพิ่มขึ้น 18% จากงวดปัจจุบัน
ทางเลือกที่ 3 แบ่งคืนหนี้ กฟผ. 6 งวด บวกค่า Ft ค่าไฟจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย หรือ เพิ่มขึ้น 11% จากงวดปัจจุบัน
โดย กกพ. จะนำทั้ง 3 แนวทางไปเปิดรับฟังความคิดเห็น ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ระหว่างวันที่ 12–26 ก.ค.นี้ ก่อนสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป
<ย้อนดูค่าไฟงวดที่ผ่านมา>
โดยค่าไฟงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 นั้น เดิมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย อัตราใหม่ 4.18 บาทต่อหน่วย
ส่วนค่าไฟงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 2567 นี้ รัฐบาลสั่งตรึงไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยก่อน และเตรียมจะปรับขึ้นแล้วในงวดสุดท้ายของปี ก.ย. – ธ.ค. 2567
<เอกชนส่งสัญญาณขึ้นค่าไฟจะซ้ำเติมประเทศ นักลงทุนอาจหนีหาย>
คุณอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าที่ค่าไฟขึ้น มาจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอ่อนค่าลงมาก และค่าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งก็เข้าใจได้ แต่มองว่าในครึ่งปีหลังปริมาณการใช้จริง ไม่น่าจะสูงขึ้นมาก เนื่องจากปัญหาสงครามไม่รุนแรงตามที่คาด จนส่งผลให้ราคาพลังงานสูงขึ้น และราคาพลังงานก็มีขึ้นมีลง จึงไม่ควรไปตั้งราคาไว้สูงขนาดนั้น ส่วนการคืนหนี้ กฟผ. ที่ถูกนำมากล่าวอ้าง วันนี้สถานการณ์ก็เริ่มดีขึ้น ซึ่งหากขึ้นค่าไฟจะยิ่งซ้ำเติมขีดความสามารถการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันก็ย่ำแย่อยู่แล้ว ทำนักลงทุนหนีไปประเทศอื่นแทน
ดังนั้นจึงอยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หางบประมาณมาอุ้มค่าไฟ เพื่อไม่ให้ค่าไฟสูงเกิน 4.18 บาทต่อหน่วย เพราะจะกระทบกับประชาชนและผู้ประกอบการ
<หุ้นกลุ่มพลังงานโรงไฟฟ้าเตรียมดี๊ด๊า>
ด้านมุมมองของตลาดทุนแล้ว นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ประเมินว่าแนวโน้มการปรับค่าเอฟทีจะส่งผลให้แนวโน้มค่าไฟงวดใหม่ปรับขึ้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวถือเป็น SENTIMENT เชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าทั้งกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ที่มีสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้า อุตสาหกรรมค่อนข้างสูง อาทิ GPSC (สัดส่วนราว 30–35% ของรายได้รวม) BGRIM (สัดส่วนราว 25–27% ของรายได้รวม) และ GULF (สัดส่วนราว 10% ของรายได้รวม) ที่จะส่งผลให้มีรายได้จากการขายไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้น
ขณะที่ในเชิงของอัตรากำไร ส่วนหนึ่งถือเป็นกลไกค่าไฟฟ้าที่มีการปรับเพิ่มตามต้นทุน แต่อาจได้รับประโยชน์จากส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าสำหรับการทยอยชำระคืนหนี้ให้แก่ภาครัฐ (EGAT) ซึ่งยังถือเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตามว่าจะมีการทยอยชำระคืนหนี้ดังกล่าวในสัดส่วนเท่าใดด้วย
<พาณิชย์เกาะติดราคาสินค้าจ่อดันต้นทุนแพง ถ้าค่าไฟขึ้น>
แน่นอนว่าเรื่องใกล้ตัวที่สุดนอกเหนือจากต้องควักตังค์จ่ายค่าไฟแพงขึ้นแล้ว ราคาสินค้าก็ไม่แคล้วจะขยับขึ้นตาม เพราะเหตุผลในการขึ้นราคาสำคัญก็คือต้นทุน ด้วยค่าไฟก็เป็นต้นทุนหนักของบรรดาการผลิตสินค้าอยู่แล้ว
คุณวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ายังติดตามต้นทุนราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด หลังจากที่มาตรการในการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดในช่วงเดือน ก.ค. 2567 นี้ โดยยังรอดูท่าทีของกระทรวงพลังงานว่าจะขยายระยะเวลามาตรการออกไปอีกหรือไม่ รวมทั้งยังมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้นอีกด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดขอปรับขึ้นราคาสินค้าเข้ามา ส่วนใหญ่ไม่อยากขึ้นราคาเพราะภาพรวมกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้น ระมัดระวังการใช้จ่าย จึงยังจำเป็นต้องตรึงราคาสินค้าไว้ก่อน เพื่อดึงยอดขาย อีกทั้งกรมฯ ยังได้ขอความร่วมมือห้างค้าส่งค้าปลีก จัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าช่วยผู้บริโภคควบคู่กันไปด้วย
ไม่ว่าค่าไฟจะขึ้นมากขึ้นน้อย แต่หลายฝ่ายต่างก็ฟันธงว่าขึ้นแน่ๆ จะมากจะน้อยก็อยู่ที่ กกพ. จะพิจารณา แต่หากต้องการจะร่วมออกความคิดเห็นสะท้อนความจริงไปยังรัฐบาลแล้วละก็ สามารถไปร่วมแสดงความคิดเห็นในมุมมองประชาชนแบบเราๆ ได้ที่เว็บไซต์ของ กกพ. หรือจะคลิกที่ลิงก์นี้ก็ได้ https://www.erc.or.th/th/listen–to–opinions/539 โดย กกพ. จะมีแบบฟอร์มรับฟังความคิดเห็นให้กรอกกันด้วย เหมือนการตอบแบบสอบถามวิทยานิพนธ์ประมาณๆ นั้น เผื่อว่าหนึ่งในคำบ่น เอ้ย! ความคิดเห็นจากประชาชนตาดำๆ จะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดค่าไฟของพวกเราสักนิดก็ยังดี…