วัดใจ กนง. ประชุมนัดหน้า 10 เมษายน 67 จะต้านทานกระแสกดดันไหวไหม ลุ้นกันตัวโก่ง “ลด หรือ ไม่ลด ดอกเบี้ยนโยบาย” ถ้าไทยเดินทางถึงภาวะเงินฝืดทางเทคนิคแล้ว?

วัดใจ กนง. ประชุมนัดหน้า 10 เมษายน 67 จะต้านทานกระแสกดดันไหวไหม ลุ้นกันตัวโก่ง “ลด หรือ ไม่ลด ดอกเบี้ย นโยบาย” ถ้าไทยเดินทางถึงภาวะเงินฝืดทางเทคนิคแล้ว?

หากนับถอยหลังก็จะเหลืออีกแค่เพียงไม่กี่วัน ที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 10 เม.ย.นี้ หลายฝ่ายยังคงจับตามองว่า กนง.จะตัดสินใจที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ เพราะช่วงที่ผ่านมากระแสกดดันจากทั้งภาคการเมือง เอกชน หรือแม้แต่ประชาชนเองก็คะยั้นคะยอ ให้ กนง. ลดเถอะ ถ้าเห็นแก่สภาพเศรษฐกิจและหนี้สินที่ประชาชนแบกอยู่ในมือปัจจุบัน

โดยในการประชุม กนง. ครั้งแรกของปี 2567 หรือในครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดยมี 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เสียงแตกแต่ไม่ดังโพล๊ะ หรือตู้มต้าม ให้ฝั่งที่รอความหวังว่าจะลดได้ดีใจ

ซึ่งในแต่ละครั้ง คุณเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้เหตุผลเสมอว่าเหตุใดจึงไม่ยอมปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะคำตอบที่ว่า “เศรษฐกิจไม่วิกฤต ถ้าลดดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควรจะเป็นการส่งสัญญาณผิด” ทำเอาหลายคนตั้งคำถามแล้วว่า “ยังไม่วิกฤตอีกหร้อออ?” แต่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เองก็ได้ยืนยันเสมอว่ารับทราบดีถึงผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่สูง มีผลต่อความยากลำบากของผู้ที่กู้หนี้ยิมสินอย่างไร เพราะจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่ได้ขยับลงให้ได้โล่งอก แต่สิ่งที่สะท้อนความคอนทราสต์ของคำตอบของผู้ว่าแบงก์ชาติ ก็คือเป็นห่วงว่าถ้าหากลดอัตราดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควร อาจเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน เพราะหนี้ครัวเรือนยังมากกว่า 90% ของจีดีพี

และถ้าหากมองภาพรวมของเศรษฐกิจปัจจุบัน การปรับลดดอกเบี้ย ไม่ได้ส่งผลลดภาระหนี้ของประชาชนได้ เพราะมีสัดส่วนไม่น้อย ดอกจากการลดดอกเบี้ยไม่ได้เป็นผล และอาจทำให้เกิดการกู้เพิ่ม จนหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอีก ที่สำคัญดอกเบี้ยเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จะต้องมีการอิงกับข้อมูล ภาพรวม และต้องดูผลเกี่ยวเนื่องระยะยาว ไม่ใช่แค่ผลระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเฟ้อ ตัวเลขจีดีพีต่างๆ สำคัญที่สุดคือ เสถียรภาพของระบบการเงิน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า ถึงแม้ว่าโดยรวมแล้วเศรษฐกิจจะเป็นไปในทิศทางฟื้นตัว แต่ล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดที่กระทรวงพาณิชย์รายงาน โดยยังติดลบ 0.47% นั้น ทำให้ขณะนี้สะท้อนถึงเงินเฟ้อของไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิค โดยเป็นผลมาจากราคาพลังงานที่รัฐบาลเข้าไปดูแล ทั้งดีเซล และไฟฟ้า ขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตร เช่น เนื้อสัตว์ และผัก–ผลไม้ ยังมีราคาย่อลง แสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบ นั่นจึงเป็นสัญญาณเงินฝืดทางเทคนิคแล้วนั่นเอง

ด้านศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กรุงไทย ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปี ซึ่งมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ จะหนุนให้ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ลง 2 ครั้งติดต่อกันสู่ระดับ 2.0%
แม้อัตราเงินเฟ้อในระยะข้างมีแนวโน้มกลับมาเป็นบวกในไตรมาสที่ 2 แต่คาดว่าทั้งปีเงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ต่ำกว่า 1% ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงกดดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวสูงยังมีน้อย ซึ่งก็ประเมินว่า กนง. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 10 เม.ย. 67 และวันที่ 12 มิ.ย. 67 เพื่อประคองเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าระดับศักยภาพในอดีตที่ 3%

ในขณะที่ผู้ว่าแบงก์ชาติกลับมองว่าปัจจัยเรื่องของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อติดลบ ยังไม่เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดการลดอัตราดอกเบี้ย เพราะจะดูแค่ตัวเลขบางส่วนไม่ได้ เนื่องจากเหตุที่เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง มาจากหลายสาเหตุ เช่น ภาคการผลิตชะลอลงและยังไม่ฟื้น ท่องเที่ยวดีขึ้นแต่นักท่องเที่ยวก็ระมัดระวังการใช้จ่ายเหมือนกัน การเบิกจ่ายรัฐยังล่าช้า เป็นต้น การลดดอกเบี้ยเพื่อหวังจะทิ้งบอมให้เศรษฐกิจฟื้นทันทีทันใดนั้น จึงเป็นไปได้ยาก หรือไม่ได้ช่วยอะไรมาก แต่ในทางกลับกัน แบงก์ชาติ หรือ กนง. กลับมองว่าจะเป็นไปกระตุ้นให้คนไปกู้เพิ่มซะมากกว่า

อาจารย์ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า กนง. เคยมีมองมุมว่าถ้าตัดเรื่องราคาพลังงานออก เงินเฟ้อทั่วไปยังใกล้เคียง 1% อยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1–3% และกนง. ยังมีแนวทางมาโดยตลอดว่า สัญญาณของเศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัวขึ้นจากการที่นโยบายการคลังจะมีการใช้จ่ายเงินปกติ และเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากปีที่แล้ว โดยคาดว่าปีนี้ขยายตัว 2.7% จากปีก่อน 1.9% ดังนั้น ยังไม่มีเหตุผลมากพอที่จะลดดอกเบี้ย ขณะเดียวกันค่าเงินบาทอยู่ที่ 36.80 บาท/ดอลลาร์ ยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ หากปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าสหรัฐฯ อาจทำให้ค่าเงินบาทอ่อนหลุด 37.00 บาท/ดอลลาร์ได้ เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และไทยจะห่างกันมากขึ้น

ถ้า กนง. ลดดอกเบี้ยในเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งมีผลให้เงินบาทอ่อน ก็จะเป็นแรงกดดันให้กองทุนน้ำมันมีหนี้เพิ่มมากขึ้น เกิดแรงกดดันต่อราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันสูงขึ้น อีกทั้งหากเงินบาทอ่อนค่ามาก จะยิ่งส่งผลต่อต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นด้วย ดังนั้นเชื่อว่า กนง. อาจเริ่มลดดอกเบี้ยหลังจากที่ประเทศอื่นๆ ทยอยลดไปแล้ว โดยเฉพาะหลังจากการลดดอกเบี้ยของเฟด

ด้านอาจารย์อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย คาดว่าในวันที่ 10 เม.ย.นี้ จะมีการ “ลดดอกเบี้ยลงทันที 0.25%” และปรับลดลงในการประชุมเดือน มิ.ย. อีก 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายลดลงเหลือ 2.0% ปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.50% ตามที่ประเมินไว้ว่า กนง.จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งในปีนี้ เพื่อจะประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดลงมากกว่าเดิม

ขณะที่คุณรุ่งสงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มองว่ากนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปีแต่ถ้ามีเสียงแตก ก็เชื่อว่าน่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเดือน มิ.ย. และ ส.ค. 67 ซึ่งจะเกิดขึ้นครั้งละ 0.25% โดย กนง. อาจต้องการรอดูข้อมูลจีดีพีไตรมาส 1 ซึ่งจะมีการประกาศออกมาในช่วงเดือน พ.ค. และแนวโน้มเศรษฐกิจหลังภาครัฐเบิกจ่ายงบเป็นสำคัญ รวมถึงเสถียรภาพค่าเงินบาท

อย่างไรก็ตาม ฟากฝั่งของการเมือง นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และการเมือง พรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ยังคงยืนยันที่ต้องการจะให้กนง. เดินหน้าลดดอกเบี้ย ตามแนวทางของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เพราะเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่ำมาก ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว และเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ปีนี้ก็จะไม่ดีเช่นกัน การขยายตัวน่าจะแย่กว่าไตรมาส 4 ปีที่แล้วด้วยซ้ำ เงินเฟ้อของไทยติดลบมา 5 เดือนติดกันแล้ว และอาจจะติดลบอีกเป็นเดือนที่ 6

ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี บอกอีกว่าการที่แบงก์ชาติอ้างว่านโยบายทางการเงินไม่ได้เป็นยารักษาโรคเฉพาะทางนั้น อาจจะถูกบางส่วนและไม่ถูกบางส่วน เพราะปัญหาเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน อีกทั้งปัญหาเศรษฐกิจของไทยเกิดขึ้นแทบทุกด้าน ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำ หนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง เงินเฟ้อติดลบมา 5 เดือน การส่งออกที่ขยายตัวได้น้อย การลงทุนที่หดหาย สภาพคล่องในระบบที่ลดลง ซึ่งเรื่องเหล่านี้นโยบายทางการเงินสามารถช่วยได้อย่างมาก โดยเฉพาะการลดดอกเบี้ย การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม รวมถึงการเพิ่มสภาพคล่องในระบบ ซึ่ง ธปท. น่าจะทราบดีอยู่แล้ว อย่าให้ข้อมูลที่ทำให้ประชาชนสับสนเหมือนรัฐบาลบังคับให้ ธปท. ออกยาเฉพาะทาง ทั้งที่ปัจจุบันปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้นหลายด้านเหมือนร่างกายที่ทรุดโทรมต้องการการฟื้นฟูทั้งระบบ และ ธปท. จำเป็นต้องช่วยกันแก้ไขเหมือนเป็นการรักษาร่างกายโดยรวม

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน 10 ครั้งล่าสุด กนง. ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 8 ครั้ง ติดต่อกัน ครั้งละ 0.25% ต่อปี จากระดับ 0.5% มาจนถึงระดับ 2.5% ต่อปี เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 66 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นการปรับขึ้นมาแล้ว 2% ต่อปี และการประชุม 3 ครั้ง หลังสุด เมื่อวันที่ 27 ก.ย. วันที่ 29 พ.ย. 66 และ วันที่ 7 ก.พ. 67 กนง.ได้มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ต่อปี ต่อเนื่องทั้ง 3 ครั้ง ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอ่อนค่าสลับผันผวนอย่างต่อเนื่อง

เอาเป็นว่าในวันที่ 10 เม.ย.ที่จะถึงนี้ เรามาลุ้นตัวโก่งไปพร้อมๆ กันว่าในท้ายที่สุด กนง. จะตัดสินใจอย่างไร ท่ามกลางแรงกดดัน และโจทย์ใหญ่ที่ต้องแบกรับร่วมกับรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ…

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles