เทศกาลตรุษจีน 2567 ในยุคค่าครองชีพพุ่ง ของแพง ทองขึ้น เงินเท่าเดิมแต่ซื้อของได้น้อยลง จริงหรือ??

เทศกาล ตรุษจีน 2567 ในยุค ค่าครองชีพ พุ่ง ของแพง ทองขึ้น เงินเท่าเดิมแต่ซื้อของได้น้อยลง จริงหรือ??

เทศกาล ตรุษจีน 2567 ในยุค ค่าครองชีพ พุ่ง ของแพง ทองขึ้น เงินเท่าเดิมแต่ซื้อของได้น้อยลง จริงหรือ??

และแล้วเราก็เข้าสู่ช่วงเทศกาลตรุษจีนอย่างจริงจัง เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหนเราก็จะได้เห็นบรรยากาศห้างร้านต่างๆ พากันประดับตกแต่งในธีมตรุษจีน สร้างบรรยากาศต้อนรับความเฮง ความปังของตรุษจีนปีนี้

วันตรุษจีน เป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนที่จะมีการเฉลิมฉลองกันเป็นเวลา15 วันยาวๆ โดยวันแรกเรียกว่า “วันจ่าย” เป็นวันที่คนในครอบครัวออกไปจับจ่ายซื้อของสำหรับไหว้บรรพบุรุษและเฉลิมฉลองปีใหม่ วันรุ่งขึ้นเรียกว่า “วันไหว้” เป็นวันไหว้บรรพบุรุษและเทพเจ้าต่างๆ วันสุดท้ายเรียกว่า “วันเที่ยว” เป็นวันที่คนในครอบครัวไปเยี่ยมญาติมิตรและเฉลิมฉลองปีใหม่กัน โดยตรุษจีนปี 2567 นี้ก็ตรงกับวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ และก็คงไม่แปลกใจถ้าจะได้ยินพลุประทัดกันตั้งแต่เช้า ผู้คนพลุกพล่าน จอแจตามสถานที่ต่างๆ เพราะเป็นประเพณีของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนที่เค้าปฏิบัติสืบต่อๆ กันมา

แต่ในยุคที่ข้าวยากหมากแพง ค่าครองชีพสูงลิ่วตอนนี้ ทำให้บรรยากาศของเทศกาลตรุษจีนที่แม้จะคึกคัก แต่ก็เหมือนจะยังไม่ค่อยเต็มที่ จะหยิบจะจ่า จะซื้อหาอะไรก็ยังต้องคิดนาน เพราะราคาของแพงขึ้น เงินมีนะ แต่ภาระรออยู่ข้างหลังอีกเพียบ สะท้อนได้จากผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่ามีการวางแผนท่องเที่ยวช่วงเทศกาลมากขึ้น แต่ 55.7% ส่วนใหญ่เที่ยวในประเทศ และไม่ไปเที่ยว 44.3% อีกทั้ง 40.3% บอกว่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่วน 33.7% บอกใช้จ่ายลดลง และอีก 26.0% ใช้จ่ายเท่าเดิม

อาจารย์ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์ฯ กล่าวว่าจากผลสำรวจตรุษจีนปีนี้มีความคึกคักมากกว่าปีที่ผ่านมา มูลค่าการใช้จ่ายของประชาชนจะอยู่ที่ 49,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.1% จากปี 66 ที่มีมูลค่า 45,017 ล้านบาท แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือโพลบอกว่าคนวางแผนเที่ยวในประเทศมากกว่าต่างประเทศ ไม่ค่อยกล้าใช้เงินเยอะ สะท้อนว่าเศรษฐกิจปัจจุบันยังฟื้นตัวไม่โดดเด่น

ส่วนบรรยากาศร้านทอง ที่ปกติคนไทยเชื้อสายจีน หรือคนจีนที่อยู่ในไทยจะนิยมมาซื้อ เพื่อเป็นของขวัญช่วงเทศกาลตามธรรมเนียมก็ดูจะไม่คึกคักเท่าไรนัก โดยคุณจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมผู้ค้าทองคำ เล่าว่าการซื้อขายทองคำช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ เป้ายอดขายช่วงเทศกาลที่ตั้งไว้ 10-20% คงจะไม่ได้ตามเป้าและอาจจะต่ำกว่าที่หวัง เพราะราคาทองคำแพงขึ้นมาก ซึ่งพฤติกรรมของลูกค้าที่มาซื้อส่วนใหญ่ก็จะซื้อทองชิ้นเล็กลงแทน เพราะราคาขึ้นมามากกว่าเทศกาลตรุษจีนปีที่ผ่านมามากจริงๆ

ด้านคุณพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ ก็ยังกล่าวด้วยว่าราคาทองคำขายปลีกในบ้านเราปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนถึง 3,000 บาท ซึ่งทำให้คนที่มีทอง แห่เอาทองมาขายซะมากกว่า ซึ่งราคาทองคำขายปลีกในประเทศเมื่อวันศุกร์ก็ปิดราคาขายทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ ของวันไหว้ก่อนเข้าวันตรุษจีนไปแล้ว สาเหตุหลักก็มาจากการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า และมีทีท่าว่าจะอ่อนต่อ

ขณะที่ราคาสินค้าของไหว้ต่างๆ กรมการค้าภายในสำรวจแล้ว ราคาไม่ห่างจากปีที่แล้วมากนัก ขณะที่ชุดกี่เพ้า เสื้อคอจีนที่นิยมซื้อสวมใส่กันช่วงเทศกาล ปีนี้ก็พบว่าร้านค้ามือสองกลับได้รับความนิยมมากขึ้นแทนร้านเสื้อผ้ามือ 1 เพราะหลายครอบครัวหันมาซื้อชุดมือสองเป็นทางเลือก เพื่อที่จะได้ประหยัดเงินในกระเป๋า โดยเฉพาะชุดของผู้หญิงที่ปกติถ้าซื้อใหม่ราคาก็จะอยู่ที่ประมาณหลายร้อยบาทไปจนถึงหลักพันบาท ก็จะมีงบเอาไปเฉลี่ยซื้อของไหว้ ใช้จ่ายวันเที่ยว หรือใส่ซองอั่งเปาแทน

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการกระจายกำลังซื้อในช่วงเทศกาลสำคัญคือ “ค่าครองชีพที่ยังสูง” แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะพยายามออกมาตรการช่วยลดค่าครองชีพหลายอย่างเท่าที่พอทำได้ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน LPG ค่าไฟฟ้า ต่างๆ ซึ่งอาจจะเห็นผลจริงในแง่ของการลดค่าใช้จ่าย แต่ภาระที่ยังหนักอึ้ง ซึ่งหากดูจาก ดัชนี KR-ECI ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นเดือน ม.ค. 67 ยังทรงๆ จากเดือนก่อนหน้าที่ 38.8 ดัชนีฯ 3 เดือนข้างหน้าก็ทรงตัวที่ 40.5 สาเหตุก็เพราะความกังวลเกี่ยวกับราคาพลังงานด้วย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแนวโน้มการอุดหนุนราคาพลังงานของรัฐบาลที่เตรียมจะโบกมือลา

ผลสำรวจดัชนี KR-ECI ยังระบุอีกด้วยว่าจากสถานการณ์ที่ต้นทุนการครองชีพที่อยู่ในระดับสูง ครัวเรือนไทยก็เลือกที่จะงดใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยมากที่สุด คิดเป็น 34.3% ขณะที่มุมมองของครัวเรือนที่มีต่อรายได้ในปี 2567 พบว่าครัวเรือนส่วนใหญ่มองว่าไม่แตกต่างจากเดิมนักที่ 59.7%

ภาระหนักสุดของครัวเรือนไหนคงหนีไม่พ้น “หนี้สิน” ที่แบงก์ชาติให้คำนิยามว่า “หนี้เรื้อรัง” ก็เป็นอีกปัจจัยที่สกัดกำลังซื้อของผู้บริโภคคนไทย เพราะโพลของหอการค้าเองก็สะท้อนให้เห็นว่าส่วนใหญ่ 39.3% ยังมองว่าหนี้เท่าเดิม และอีก 32.9% บอกว่าหนี้เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งมีผลต่อความเป็นอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทลงไป

เพราะฉะนั้น กำลังซื้อที่เห็นว่ายังกะปริบกะปรอย ไม่ปลดปล่อยออกมาเต็มที่เหมือนตรุษจีนปีก่อนๆ นั้น ก็คงไม่น่าแปลกใจนัก ความเห็นทั้งวิชาการ เศรษฐศาตร์ นายแบงก์ นายห้างฯ ก็มีให้เห็นกันบ่อยๆ ว่าตัวการสำคัญที่เป็นกำแพงใหญ่และมีผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นยาก ก็คือ “ปัญหาหนี้” แถมมีหนี้เสียสูงลิบลิ่วอีกต่างหาก แต่ถึงอย่างนั้น… ก็ยังไม่วายจะถกเถียงกันไม่เลิกว่าเศรษฐกิจไทยจริงๆ แล้วมันเข้าขั้น “วิกฤตหรือไม่วิกฤต” “เงินฝืด หรือเงินไม่ฝืด” เอาดีๆ นะ คนที่ตอบคำถามนี้ได้ ก็คงจะเป็น (คุณ) ผู้บริโภค ประชาชน คนที่กุมเงินของตัวเอง แล้วดูซิว่าที่จ่ายไปแล้ว เหลือเท่าไร… พอใช้ถึงสิ้นเดือนไหม…?

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles