มหากาพย์ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม มากกว่า 10 ปี สานฝันคนกรุงพกบัตรโดยสารใบเดียวเดินทางครอบคลุมทุกระบบ ความหวังต่อยอดรถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย จ่ายง่ายสบายกระเป๋า ลดฝุ่นพิษ PM 2.5

มหากาพย์ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม มากกว่า 10 ปี สานฝันคนกรุงพกบัตรโดยสารใบเดียวเดินทางครอบคลุมทุกระบบ ความหวังต่อยอดรถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย จ่ายง่ายสบายกระเป๋า ลดฝุ่นพิษ PM 2.5

การเดินทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทุกวันนี้ที่แทบจะไม่ต่างจากการไปออกรบ ด้วยสภาพการจราจรที่ติดขัด กว่าจะถึงที่ทำงานก็เล่นเอาเหนื่อย หลายคนที่อาจจะไม่มีรถส่วนตัว หรือมี จึงเลือกมาเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ เรือโดยสาร รถไฟฟ้า รถตู้ต่างๆ แต่ถ้าหากบ้านหรือคอนโดระยะทางไกลๆ เช่น ชานเมือง อาจต้องเดินทางต่อหลายทอด ลำพังเฉพาะค่าเดินทางต่อเดือนก็นับเป็นจำนวนไม่ใช่น้อยในภาวะที่ค่าครองชีพสูงแบบนี้

<ย้อนไทม์ไลน์ “ระบบตั๋วร่วม”>

หลายรัฐบาลมีแนวคิดที่จะให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทางให้ง่าย สะดวกขึ้นด้วยตั๋วใบเดียวมานานมากแล้ว เชื่อหรือไม่ว่าที่ผ่านมาจึงมีรัฐบาลขายฝันให้กับคนกรุงอย่างเราๆ ว่าจะมี “ระบบตั๋วร่วม” มาแล้วมากกว่า 10 ปี ซึ่งเป้าหมายเพื่อเข้ามาอำนวยความสะดวกประชาชน และให้ราคาค่าเดินทางนั้นถูกลง

โดย “ระบบตั๋วร่วม” นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่กระทรวงคมนาคมเสนอตั้งแต่ 7 พฤศจิกายน 2549 และถูกหยิบยกขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้งเมื่อปี 2555

เว็บไซต์ policywatch ระบุไว้ว่ากระทรวงคมนาคมเริ่มให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีการศึกษาและพัฒนาระบบตั๋วร่วมมาตั้งแต่ปี 2555 พร้อมทั้งจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และได้มีการปรับปรุงมาแล้วหลายครั้ง

ต่อมาในปี 2556–2558 มีการศึกษาวางแนวทางการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม

ในปี 2558–2560 มีการศึกษาระบบจัดทำศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) ซึ่งดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ

และเมื่อปี 2561 สนข. ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอออก พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ต่อมาปี 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฯ เห็นสมควรปรับร่าง พ.ร.บ.เป็นร่างระเบียนสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … และได้รับการเห็นชอบเมื่อ 15 เมษายน 2563

ส่วน ร่าง พ.ร.บ.ฯ อยู่ระหว่างการปรับปรุง ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น โดยคาดว่าจะนำเสนอให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติภายในกลางปี 2565

อย่างไรก็ตามในระหว่างทางกว่าจะมาเป็น พ.ร.บ.ตั๋วร่วม นั้น มีอุปสรรคเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน หากย้อนรอยเข้าจริง มหากาพย์ระบบตั๋วร่วมเริ่มขึ้นแต่แรก จนกระทั่งในปี 2557 สนข. ได้มีการเปิดประมูลให้เอกชนลงทุน จัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Clearing House) สำหรับระบบตั๋วร่วม โดยมีกลุ่มบริษัท BSV ที่นำโดย BTS ชนะการประมูล งบประมาณ 338 ล้านบาท แต่ก็มีประเด็นในเรื่องความโปร่งใส จึงทำให้โครงการล่าช้าออกไปอีก

และในปี 2558 สนข. จะจัดตั้ง “บริษัทจัดการระบบตั๋วร่วม” มาบริหารจัดการทั้งระบบเติมเงินเพื่อใช้บริการ ดูแลระบบ รายได้ ทำการตลาด ซึ่งได้มีการประกวดตั้งชื่อ ออกแบบตั๋วร่วมกันด้วย โดยหน้าตาก็น่าจะพอคลับคล้ายคลับคลา เหมือนกับปกบทความของ BTimes ที่เป็นรูปบัตรแมงมุมในปัจจุบัน

ในปี 2559 ระบบติดตั้งแล้วเสร็จ มีการทดสอบ และถ้ารถไฟฟ้าสายไหนพร้อมก็จะให้เปิดใช้ได้เลย และยังวางแผนไปถึงรถไฟฟ้าสายใหม่ รถไฟความเร็วสูง เรือด่วนเจ้าพระยา ที่จะใช้บัตรนี้ได้อีกด้วย

ในปี 2560 มีการทดสอบติดตั้งระบบ E-Ticket ในรถเมล์(รุ่นเก่า) โดยบริษัท ช.ทวีฯ เป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งจะมีการจ่ายด้วยบัตรแมงมุมด้วยและเครื่องเก็บเงิน Cash Box ที่ใช้หยอดเหรียญซื้อตั๋วโดยสารสำหรับคนที่ไม่มีบัตรเติมเงินด้วย แต่หลังจากทดลองใช้งานจริง ก็มีอุปสรรคเกิดขึ้น จนในที่สุดก็มีการยกเลิกสัญญาไป และในปีเดียวกัน ครม.ได้มีมติให้ รฟม. หเป็นผู้บริหารจัดการระบบตั๋วร่วมแทน สนข. จากนั้นก็มีการเปิดตัวบัตรแมงมุม ภายใต้การบริหารงานของ รฟม.

ต่อมาในปี 2561 รฟม.ได้พัฒนาระบบตั๋วร่วมเป็นระบบเปิด แบบ EMV สามารถใช้บัตร Visa/Master ที่มีอยู่แล้วมาใช้แตะประตูได้เลย เอาจริงๆ ก็สามารถใช้ได้จริงก็ปาไปปี 2563 ซึ่งในปี 2561 รฟม. ยังได้แจกบัตรแมงมุม 200,000 ใบ เพื่อหวังจะสร้างฐานลูกค้า ผู้ใช้บริการให้ได้ก่อน แต่จะใช้ได้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสีม่วงเท่านั้น ยังใช้กับรถเมล์ และ Airport Rail Link ไม่ได้

และยังมีปัญหาในเรื่องของงบประมาณการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ค่าปรับปรุงระบบหัวอ่านบัตรที่ต้องการให้รองรับบัตรรถไฟฟ้าข้ามระบบ แต่เรื่องนี้ก็ถูกตีกลับเนื่องจาก ราคางบประมาณที่ตั้งแพงเกินไป

ถ้าใครจำได้ครั้งที่ คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคมนาคม ก็ได้รื้อ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมกลับมาทำต่อ โดยให้สัญญาว่าจะเร่งให้ทันใช้ปี 2564 และเต็มระบบ 2565

** จนกระทั่งวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ครม.ได้มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และล่าสุดที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2568 มีมติรับหลักการ รับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ฉบับของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นหลักในการพิจารณา ด้วยคะแนนเสียง 226 ต่อ 142 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง

<พ.ร.บ.ตั๋วร่วมหวังต่อยอดรถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย>

คุณมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าผลของ พ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม จะช่วยให้ประชาชนผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า รถเมล์ และเรือโดยสารมีต้นทุนในการเดินทางที่ลดลง และเพิ่มความสะดวกในการใช้งานด้วยการใช้บัตรโดยสารใบเดียวสามารถเดินทางได้ทุกระบบของการบริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมจากใช้รถส่วนบุคคลมาเป็นขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีราคาสมเหตุสมผล

ซึ่งในกรอบการดำเนินแผนการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. หลังจากนี้ จะเข้าสู่กระบวนการต่อด้านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 2 และ 3 ก่อนที่มีการพิจารณาของวุฒิสภา โดยคาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปี 2568

ไฮไลท์อีกอย่างของ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมก็คือ การต่อยอดนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่หลังจากรัฐบาลเพื่อไทย ได้เข้ามาบริหารงาน ก็ได้มีการประกาศใช้นโยบาย “รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย” เริ่มใช้ได้วันแรกคือ 16 ตุลาคม 2566 ซึ่งปัจจุบันสามารถใช้ได้แค่ 2 สาย คือสายสีแดงและสีม่วง โดยได้ขยายมาตรการต่อไปอีกจนถึง 30 พฤศจิกายน 2568

และเนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ ร่างกฎหมายลำดับรองจะรวมไปถึงการเปิดรับฟังความเห็น และเสนอประกาศกฎหมายลำดับรองภายในกันยายน 2568 ที่คมนาคมต้องการให้สอดคล้องกับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาททุกสี ทุกสาย ทุกเส้นทาง ผ่านการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมในอนาคต ซึ่งกฎหมายจะให้อำนาจหน่วยงานรัฐในการเจรจากับเอกชนผู้ได้รับสัมปทานบริการโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและรถไฟฟ้า เนื่องจากจะมีการจัดตั้งกองทุนและคณะกรรมการขึ้นมาดูแล โดยที่คุณสุริยะ จึงรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตั้งความหวังว่าจะสามารถเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรได้ภายในปีนี้ และคาดว่าสภาฯจะอนุมัติได้ภายในมิถุนายน 2568 เพื่อให้ทันตามกำหนดที่เคยบอกไว้ว่าจะสามารถใช้บริการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทางในกันยายน 2568

“ในท้ายที่สุดเชื่อว่าประชาชนก็คงจะหวังว่า พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ฉบับนี้จะเป็นประโยชน์กับต่อ ผู้เดินทางในทุกระดับรายได้ ลดค่าใช้จ่าย ความเหลื่อมล้ำได้จริง อย่างที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้…”

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles