เมื่อช่วงหลายวันก่อน ถ้าเลื่อนฟีดหน้าโซเชียลมีเดียคงจะได้เห็นผ่านหูผ่านตากันแน่นอนกับกระแสดรามา ชุดพิธีเปิด “โอลิมปิก 2024” ที่หลังจากเพจเฟซบุ๊ก Stadium TH ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เผยแพร่ความเคลื่อนไหวของนักกีฬาทีมชาติไทย ได้ปล่อยภาพชุดพิธีการที่นักกีฬาทีมชาติไทยจะใส่เพื่อร่วมพิธีเปิด ‘โอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024’ (Olympics Paris 2024) ในวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2567 ที่จะถึงนี้ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ออกมาสู่สาธารณชน โดยมี ปอป้อ-ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย นักแบดมินตันทีมชาติไทย เป็นผู้สวมใส่ชุดดังกล่าว ซึ่งดีไซน์ของชุดพิธีการครั้งนี้ได้เปลี่ยนจากรูปแบบเดิมที่มักเป็นชุดสูทสีเทา แต่กลับเปลี่ยนเป็นรูปแบบชุดผ้าไหมสีฟ้าและมีลวดลายตกแต่งที่บริเวณปกคอเสื้อ แถบกระดุม และริมแขนเสื้อทั้งสองข้าง โดยมีลวดลายที่ใส่ความเป็นไทยเข้าไปด้วย มีกระเป๋า 1 ใบ ที่อกเสื้อด้านซ้าย สัญลักษณ์ของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)
<ดรามาชุดโอลิมปิก>
หลังจากนั้นไม่นาน ก็กลายเป็นกระแสฮือฮา หลายเพจ หลายแพลตฟอร์ม หรือแม้แต่ดารา ศิลปินก็อินกับกระแสนี้ไปตามๆ กัน ด้วยการสร้างมีมออกมาแชร์กันมากมาย และยังมีการวิจารณ์ถึงชุดที่ปอป้อใส่กันแบบกว้างขวาง หรือจะเรียกว่าดรามาเลยก็ได้ เพราะส่วนใหญ่มีความเห็นว่าเป็นการออกแบบที่ค่อนข้างเชย เป็น อบต. บ้างล่ะ หรือดูเป็นราชการเกินไป ไม่เหมาะกับการเป็นชุดของนักกีฬา และบ้างก็วิจารณ์ว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ เพราะถือเป็นโอกาสที่จะนำได้ ‘ผ้าไทย’ และดีไซน์เนอร์ไทย ซึ่งมีฝืมือดีได้แจ้งเกิด เพราะปารีสถือเป็นเมืองแห่งแฟชั่นของโลก อีกอย่างยังถือเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ที่จะได้ใช้โอกาสนี้นำผ้าไทยไปเผยแพร่ในการแข่งขันกีฬาระดับโลก แถมยังมีชาวโซเชียลหลายคนถึงกับแชร์การออกแบบชุดพิธีการในรูปแบบต่างๆ ทั้งใช้ AI และการวาดขึ้นมาเองก็มี เพราะต่างก็มั่นใจว่าถ้าออกแบบได้ดี สวยงาม เข้ากับยุคสมัย ถึงแม้จะเป็นผ้าไทยแต่ก็โกอินเตอร์และสามารถดันซอฟต์พาวเวอร์ผ้าไทยให้โด่งดังได้เลยทีเดียว
จนล่าสุด พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ออกมาชี้แจงว่าทางคณะโอลิมปิกฯ เป็นผู้คัดเลือกผู้ออกแบบ ตัดเย็บ ภายใต้แบรนด์ ทรงสมัย ทางคณะกรรมการโอลิมปิกฯ ดำเนินคัดเลือกผ้าเอง ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด การตัดเย็บเป็นดุลยพินิจของคณะโอลิมปิกฯ ทั้งหมด ไม่มีหน่วยงานใดเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ขอรับผิดชอบไว้เพียงผู้เดียว
ที่ผ่านมาทางโอลิมปิกแห่งประเทศไทยไม่ได้ชี้แจงให้ชัดเจนว่าชุดไหนใช้สำหรับงานช่วงใดในโอลิมปิกครั้งนี้ จึงได้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้าง ส่วนชุดไทยพระราชทานสีฟ้าที่ปรากฏนั้น ทางคณะกรรมการได้กำหนดให้นักกีฬาใช้สวมใส่ในวาระ โอกาส งานพิธีที่เป็นทางการ จากการตัดเย็บที่เร่งรีบเพื่อให้นักกีฬาได้ใช้ทัน อาจส่งผลให้เกิดข้อผิดพลาดไปจากแบบเล็กน้อย จึงได้แจ้งให้มีการเร่งแก้ไขให้นักกีฬาได้ใช้ในงานพิธีการแล้ว
ส่วนชุดที่จะใช้ในพิธีเปิดจะเป็นเสื้อแจ็กเกตสีน้ำเงินจากแกรนด์สปอร์ต ซึ่งได้ย้ำคอนเซ็ปต์กับทางทีมผู้ออกแบบและตัดเย็บว่าขอให้เป็นผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่อึดอัด เข้ากับสภาพอากาศ แต่ต้องแฝงด้วยเรื่องราวและอัตลักษณ์ความเป็นไทย มีความทันสมัย และเป็นสากล ซึ่งมองว่าทางแกรนด์สปอร์ตทำออกมาได้ดี ตอนแรกอยากนำเสื้อลายช้างที่เป็นที่รู้จักและนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ให้ทัพนักกีฬาสวมใส่ขึ้นเรือ เพราะเห็นว่าเนื้อผ้าใส่สบายมีความพลิ้วไหวดี แต่ก็กังวลว่าจะเกิดประเด็นว่าไม่เหมาะสมดูสบายๆ ไป จึงได้คิดใหม่ ทำใหม่อย่างระมัดระวังมาโดยตลอด
<นายกฯ ปลื้ม ชุดโอลิมปิกลายผ้าไทย ถ่ายทอดซอฟต์พาวเวอร์สู่สายตาชาวโลก>
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง ชุดแข่งขันและชุดเดินทางของนักกีฬาทีมชาติไทยในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ว่าผู้รับผิดชอบในการออกแบบ และผลิตชุดให้กับนักกีฬาไทย ได้แก่ Grand Sport เเละศูนย์การออกแบบสร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี (Fabric and Textile Creative Design Center : FTCDC) เเสดงถึงเอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย ภายใต้แรงบันดาลใจ “Be Our Spirit” สปิริตของคนไทยหลอมรวมเป็นหนึ่ง
โดยใช้ลวดลายไทยประยุกต์จาก “มรดกโลกบ้านเชียง” มรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้จดทะเบียนให้เป็นมรดกโลกทางประวัติศาสตร์เมื่อปี 2535 ผสานกับการใช้นวัตกรรมเสื้อโปโลรีไซเคิลจากขวดพลาสติก ซึ่งช่วยลดปัญหาโลกร้อนอย่างยั่งยืน เพื่อให้นักกีฬาได้สวมใส่ผลงานการออกแบบที่มีความสวยงาม โดดเด่น คล่องตัว พร้อมนำเสนอองค์ความรู้และวัฒนธรรมชุมชนไปสู่สายตาชาวโลกผ่านการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติด้วยภาพลักษณ์ของซอฟต์พาวเวอร์ สะท้อนถึงความเป็นไทยและมรดกไทย
ขณะที่นายกฯ เศรษฐาได้ชื่นชมผลงานของทีมออกเเบบเเละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถ่ายทอดวัฒนธรรมชุมชน อีกซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไปสู่สายตาชาวโลก ทั้งยังเป็นโอกาสในการนำเสนอแหล่งโบราณคดีสำคัญในเขตเทศบาลตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก ผสมผสานกับ Concept ลดปัญหาโลกร้อน พร้อมกันนี้ขอเชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมส่งกำลังใจให้ทัพนักกีฬาที่จะนำทั้งความสามารถทางกีฬาและความงดงามทางวัฒนธรรมไทยสู่เวทีโอลิมปิกครั้งที่ 33 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม 2567 นี้
<ซอฟต์พาวเวอร์ของแทร่ แต่ผลที่ได้จะไม่ซอฟต์>
ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด คำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์ที่มีพาวเวอร์จริง’ ก็ไม่นานมานี้อย่าง MV ROCKSTAR ของลิซ่า ที่มาถ่ายทำกันที่ถนนเยาวราช กรุงเทพฯ หลังจากปล่อยเอ็มวีออกสู่สายตาชาวโลก เหล่าบรรดาแฟนคลับของลิซ่าก็ต่างพากันแห่มาตามรอยลิซ่า จนเกิดเป็นไวรัลและกระแสให้นักท่องเที่ยวมาตามรอยจำนวนมาก หรือแม้แต่เสื้อที่ลิซ่าใส่ถ่ายเอ็มวีก็มียอดขายพุ่งขึ้น จน Sold out อีกด้วย
หรือแม้แต่ “น้องหมีเนย BUTTERBEAR” มาสคอตสุดน่ารักประจำร้านที่ปังไม่แพ้กัน ที่กำลัเป็นกระแสอยู่ตอนนี้ จนสามารถสร้างฐานแฟนคลับ “มัมหมี“ เป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่คนดังเป็น มาสคอต!! ซึ่งบรรดาแฟนๆ ที่ชอบในความน่ารักของน้องหมีเนยก็ต่างตามไปอุดหนุนขนมและผลิตภัณฑ์จากร้าน สร้างมูลค่าให้กับสินค้าของแบรนด์ ต่อยอดการเติบโตทางธุรกิจได้อีก และล่าสุดน้องหมีเนยก็มีการคอลแลปส์ (Collaborations) กับนายทุนจากจีน ทำเป็นสินค้าพรีเมียมออกมาวางขายให้บรรดามัมหมีได้เลือกซื้อเลือกสะสมได้ด้วย
ถ้าจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทย ยิ่งหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่นครั้งที่ แจ็คสัน หวัง หรือแจ็คสัน GOT7 ที่ได้มาเล่นคอนเสิร์ตที่ไทย และได้มาทาน ข้าวผัดอเมริกัน ร้านถูกและดี ในฟู้ดแลนด์ จนกลายเป็นไวรัลและแฟนๆ ก็แห่มากินตามรอยแจ็คสัน ส่งผลให้เป็นเมนูนี้กลายเป็นเมนูขายดีของร้านไปเลย หรือแม้แต่ “มิลลิ” หรือหลายคนเรียกว่า “นวย” ศิลปินชาวไทยที่นำข้าวเหนียวมะม่วงขึ้นไปทานบนเวทีงานเทศกาลดนตรีโคเชลลา (Coachella Valley Music and Arts Festival) พร้อมกับเนื้อเพลงท่อนดังที่หลายคนร้องตาม “Who want mango and rice that is sticky!!” ทำให้กระแสข้าวเหนียวมะม่วงมาแรงและเป็นที่พูดถึงในโซเชียลมีเดีย รวมถึงเป็นที่รู้จักของต่างชาติมากขึ้น อีกทั้งยังกระตุ้นการสั่งซื้อและยอดขายข้าวเหนียวมะม่วงถล่มทลายในช่วงนั้นไปเลย
ไปจนถึงมวยไทย ชุดไทยที่นักท่องเที่ยวที่มาไทยวัดพระแก้ว วัดอรุณฯ หรืออยุธยา ก็ต้องใส่ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก หรือแม้แต่ชุดนักเรียนไทยที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีนเมื่อไม่นานมานี้ก็เช่นกัน
<นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ เรือธงของรัฐบาล>
จากผลสำรวจดัชนีชี้วัดระดับของการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งจัดทำ โดย Brand Finance อันดับ Soft Power Index ของไทยในปี 2024 อันดับลดลงมาอยู่อันดับที่ 40 ของโลก จากเดิมซึ่งเคยอยู่อันดับ 35 ในปี 2022 ซึ่งรัฐบาลก็มองว่าประเทศไทยมีโอกาสที่จะยกระดับ Soft Power Index ได้หากมีการบริหารจัดการอย่างจริงจัง
ซึ่งตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐาเข้ามาบริหารงานก็ได้ชูนโยบายซอฟต์พาวเวอร์เป็นนโยบายเรือธง (Flagship) ที่คาดหวังว่าจะสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ โดยรัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้คนไทยและสร้างรายได้ให้ประชาชนปีละ 4 ล้านล้านบาท จากการเพิ่มทักษะและความรู้เพื่อผลักดันการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้คนไทย 20 ล้านครอบครัว สู่แรงงานขั้นสูงและแรงงานในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีรายได้เพิ่มขึ้นครัวเรือนละ 2 แสนบาทต่อปี ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การเปิดตัวการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ครอบคลุม 11 อุตสาหกรรมเมื่อเดือนกันยายน 2566
จากนั้นนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ รวมถึงมีคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ด้านต่างๆ ทำงานในกรอบวงเงินทั้งหมด 5 พันล้านบาท แบ่งตามสาขา เช่น สาขาเฟสติวัล งบรวม 1,009.84 ล้านบาท, สาขาอาหาร งบรวม 1,000 ล้านบาท, สาขาท่องเที่ยว งบรวม 749 ล้านบาท, สาขาภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ งบรวม 545.2 ล้านบาท, สาขากีฬา งบรวม 500 ล้านบาท, สาขาศิลปะ งบรวม 375 ล้านบาท, สาขาเกม งบรวม 374 ล้านบาท, สาขาแฟชั่น งบรวม 268.9 ล้านบาท, สาขาออกแบบ งบรวม 165.94 ล้านบาท, สาขาดนตรี งบรวม 144 ล้านบาท, สาขาหนังสือ งบรวม 69.42 ล้านบาท
<ความชัดเจนของ “ซอฟต์พาวเวอร์”>
จะเห็นได้ว่ารัฐบาลมีความจริงจังที่จะผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ เพราะไม่ว่าเยาวราช เอ็มวีลิซ่า หรือน้องหมีเนย รัฐบาลก็เกาะ เอ้ย! ก็ต่อยอดด้วยการกระพือซอฟต์พาวเวอร์ที่เกิดขึ้นให้ต่างชาติได้มาตามรอย โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวที่ทาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็ได้ดึงเอา “Butter Bear” หรือ “น้องหมีเนย” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ท่องเที่ยวไทย หวังดึงแฟนๆ ทั้งคนไทยและคนจีน เดินทางมาท่องเที่ยวตามรอย “น้องหมีเนย” ภายใต้กิจกรรม “สุขทันทีกับหมีเนย” โดยจะใช้เวลาจัดกิจกรรมตามรอยน้องหมีเนย 3–6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ โดยหวังว่าแคมเปญนี้จะเข้าถึงฐานแฟนคลับน้องหมีเนย 20% สร้างรายได้ประมาณ 100 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลายๆ คนก็คงจะอยากเห็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่ชัดเจนไม่สร้างความสับสน ที่หยิบจับอะไรก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์ไปซะหมด หรือไม่ใช่แค่คำพูดเก๋ๆ แต่ต้องแสดงพาวเวอร์ของจริง สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกระตุ้นการใช้จ่าย และธุรกิจรอบๆ ให้ได้อานิสงส์ ให้คนทำมาหากินได้ลืมตาอ้าปาก ไม่ใช่แค่คำเคลมตามกระแส ซึ่งต่อจากนี้ย่อมเป็นความท้าทายที่รัฐบาลต้องพิสูจน์ผลลัพธ์ให้ประชาชนได้เห็นให้ได้ ถึงจะสมกับเป็นยุทธศาสตร์ ซอฟต์พาวเวอร์ของแทร่…