กลายเป็นมหากาพย์ สงครามการค้า ที่นับตั้งแต่ “ โดนัลด์ ทรัมป์ ” กลับมาคว้าเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐอีกสมัย สงครามการค้าที่แต่เดิมเริ่มต้นจากสหรัฐกับจีน กลับขยายวงกว้างไปยังอีกหลายๆประเทศ เมื่อ“ทรัมป์“ประกาศอิสรภาพทางเศรษฐกิจของอเมริกาเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ด้วยการขึ้น “ภาษีตอบโต้” (Reciprocal tariffs) ต่อ 185 ประเทศทั่วโลก โดยขึ้นภาษีนำเข้าแบบฐานขั้นต่ำในอัตรา 10% จากทุกประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ แต่จะมี 60 ประเทศ ที่ถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่านี้ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกจัดเก็บในอัตราสูงถึง 36% ซึ่งนั่นได้กลายเป็นชนวนความปั่นป่วนให้กับทั่วโลก
ขณะที่พี่จีน พี่ใหญ่แห่งเอเชีย ได้ออกมาตอบโต้ชัดเจน โดยกระทรวงพาณิชย์จีนออกมาเรียกร้องให้สหรัฐฯยกเลิกมาตรการภาษีทันที พร้อมประกาศว่า จีนจะใช้มาตรการตอบโต้อย่างเด็ดขาด เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของตนเองเช่นกัน
ลุกลามเป็นสงครามภาษี สหรัฐฯ-จีน
ด้านจีนประกาศแผนการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากสหรัฐฯ 34% ซึ่งเท่ากับอัตราภาษีตอบโต้ที่ทรัมป์เรียกเก็บจากสินค้าจีน โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 1 วันหลังภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้
ทำเอา ประธานาธิบดี“ทรัมป์” ไม่พอใจอย่างมาก และออกมาขู่ว่า หากรัฐบาลจีนไม่ยกเลิกมาตรการภาษีตอบโต้ต่อสินค้าของสหรัฐฯ ภายในวันที่ 8 เม.ย. จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนอีก 50% ซึ่งจะทำให้อัตราภาษีทั้งหมดพุ่งขึ้นไปเป็น 104% แต่จีนแทนที่จะถอย กลับประกาศตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเป็น 84%
และเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา “ทรัมป์” ก็ได้ประกาศเลื่อนการบังคับใชุ้ภาษีตอบโต้ ออกไป 90 วันกับบรรดาประเทศต่างๆ แต่ยกเว้นจีนที่สหรัฐฯ ได้เพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเป็น 125% และภาษีเฉพาะเจาะจงที่ 20% รวมเป็น 145% เพื่อตอบโต้จีนที่ประกาศขึ้นภาษีตอบโต้กลับสหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์ก่อน
แลกหมัดภาษี
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ภาษีสินค้าจีน 145% ไม่ใช่ของใหม่ การเพิ่มอัตราภาษีใส่จีนเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมาก แค่เขียนสั้น ๆ ในคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Orders) เช่น ในวันที่ 8 เม.ย. “ที่เคยเขียนไว้ว่า 34% ให้เอาออก และใส่คำว่า 84% เข้าไปแทน” และในวันที่ 9 เม.ย. อีกครั้ง “ที่เคยเขียนไว้ว่า 84% ให้เอาออก และใส่คำว่า 125% เข้าไปแทน” แค่นี้ก็จบ
หมายความว่า จีนต้องจ่ายภาษีนำเข้าก่อนมาตรการ Reciprocal Tariffs 10% +10% = 20% สำหรับกรณีสารเฟนทานิล (Fentanyl) แต่เมื่อรวมกับมาตรการ Reciprocal Tariffs ที่ประธานาธิบดีประกาศล่าสุด คือ 10% + 10% + 125% = 145% จึงไม่ใช่แค่ 125% ตามที่หลายคน (รวมถึงตนด้วย) เข้าใจกัน
ภาษีที่สูงลิ่วนี้จะทำให้บริษัทต่าง ๆ ของสหรัฐฯ เริ่มยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าจากจีน เช่น แอมะซอน (Amazon) แจ้งซัพพลายเออร์ (Suppliers) ไปว่าขอยกเลิก (ซื้อสินค้า) เพราะสู้ภาษีนำเข้าไม่ไหว พร้อมหันไปหาประเทศอื่น ๆ
“แลกกันคนละหมัด” สหรัฐฯ วุ่นวายเพราะตลาดทุนที่ปั่นป่วน โดยเฉพาะตลาดพันธบัตร (Bonds) และจีนกำลังจะวุ่นวาย เพราะโรงงานต่าง ๆ ไม่มีคำสั่งซื้อจากสหรัฐฯ และถ้าเทียบกันสหรัฐฯ ส่งออกมาที่จีนเพียง 143.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนจีนส่งออกมาที่สหรัฐ 438.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1 ต่อ 3 หมายความว่าต่อไปนี้จีนต้องหาตลาดใหม่ให้สินค้าตนเองประมาณเดือนละ 37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าที่ไทยส่งออกไปทั้งโลกในละเดือนที่ 27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนึ่งของสินค้าที่ถูกยกเลิกคงส่งมาบุกที่เมืองไทย
ทำเนียบขาวโต้ สงครามภาษีไม่มีผู้ชนะ
ทำเนียบขาว สหรัฐฯ ได้เผยแพร่เอกสารข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสอบสวนตามมาตรา 232 บนเว็บไซต์เมื่อวันที่ 15 เมษายน โดยระบุว่า จีนเผชิญกับภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ สูงสุดถึง 245% เป็นผลมาจากการตอบโต้ของจีน
โฆษกทำเนียบขาวระบุว่า จีนได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนแล้วว่า การขึ้นภาษีอย่างไม่สมเหตุสมผลของสหรัฐฯ ต่อจีน กลายเป็นเพียง “เกมตัวเลข” ที่ไม่ได้ส่งผลในเชิงเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญอีกต่อไป หากแต่สะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐฯ ใช้นโยบายภาษีเป็นเครื่องมือในการกดดันและข่มขู่ประเทศอื่น
“จีนไม่ต้องการที่จะต่อสู้ในสงครามเหล่านั้น แต่เราก็ไม่กลัวเช่นกัน” โฆษกกล่าว
โฆษกยังย้ำด้วยว่า “สงครามภาษีและการค้าไม่มีผู้ชนะ“
การค้าโลกปี 2025 เสี่ยงหดตัว 1.5% ถ้าสงครามการค้าจีน-สหรัฐเดือด
องค์การการค้าโลก (WTO) ส่งสัญญาณเตือนเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ หลังออกรายงานล่าสุด โดยระบุว่า แนวโน้มการค้าโลก “ทรุดตัวลงอย่างรุนแรง” จากผลกระทบโดยตรงของนโยบายภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา พร้อมชี้ว่าความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าที่กำลังขยายวงกว้างกำลังบ่อนเซาะเสถียรภาพของระบบการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญ
รายงาน “Global Trade Outlook and Statistics” ฉบับใหม่ของ WTO ที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ ระบุว่า ภายใต้สถานการณ์การเก็บภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงการระงับใช้ มาตรการภาษีตอบโต้ เป็นเวลา 90 วัน การค้าโลกในปี 2025 มีแนวโน้มหดตัวลง 0.2% ก่อนจะฟื้นตัวแบบ “ถ่อมตัว” ที่ระดับ 2.5% ในปี 2026
แม้จะดูเหมือนตัวเลขไม่มากนัก แต่ WTO ย้ำว่าตัวเลขดังกล่าว “ต่ำกว่าฉากทัศน์ฐานที่ไม่มีการขึ้นภาษีถึงเกือบ 3 จุดเปอร์เซ็นต์” สะท้อนถึงแรงกดดันจากนโยบายการค้าที่กลับทิศจากต้นปี ซึ่งเคยคาดว่าจะได้แรงหนุนจากภาวะเศรษฐกิจมหภาคที่กำลังดีขึ้น
การส่งออกทวีปอเมริกาเหนือในปีนี้จะทรุดตัวลงถึง 12.6% และจะกลายเป็นปัจจัยฉุดภาพรวมการค้าโลกในปี 2025 ถึง 1.7 จุดเปอร์เซ็นต์ ทำให้การเติบโตของการค้าสินค้าทั่วโลกลดลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี
WTO เตือนอีกว่า “ความเสี่ยงเชิงลบรุนแรง” ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะหากสหรัฐฯ ตัดสินใจเดินหน้าบังคับใช้มาตรการภาษีตอบโต้แบบเต็มรูปแบบ และหากความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้า (Trade Policy Uncertainty: TPU) แพร่กระจายไปเกินขอบเขตของความสัมพันธ์การค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า อาจทำให้การค้าโลกในปี 2025 หดตัวลงถึง 1.5% ซึ่งนับเป็นการพลิกผันอย่างชัดเจนจากปี 2024 ซึ่งเป็นปีทองของการค้าโลก โดยการค้าสินค้าเติบโตถึง 2.9% และการค้าบริการพุ่งสูงถึง 6.8% ก่อนจะมาเผชิญกับมาตรการภาษีแบบสายฟ้าแลบจากทรัมป์
ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนส่งผลให้เกิด “การเบี่ยงเบนทางการค้า” (Trade Diversion) อย่างมีนัยสำคัญ WTO คาดการณ์ว่าสินค้าส่งออกของจีนอาจเพิ่มขึ้น 4-9% ในภูมิภาคอื่นนอกเหนือจากอเมริกาเหนือ ขณะที่การนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าอย่างสิ่งทอ เสื้อผ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้า จะลดลงอย่างมาก ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนาที่เน้นการส่งออกสามารถเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดจากจีนได้
สหรัฐก็มีสิทธิเจ็บจากนโยบายภาษี
คุณพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ระบุว่า แน่นอนว่า นโยบายของทรัมป์จะส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯด้วย เพราะสินค้าที่กระโดดเข้าไปขายในสหรัฐฯได้ จะเป็นสินค้าที่ราคาสูงจากกำแพงภาษี ซึ่งสหรัฐฯ จะเจอกับปัญหาการบริโภคชะลอสูง ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะทำงานลำบากว่า จะใช้นโยบายสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น หรือจะใช้นโยบายลดเงินเฟ้อลง
ดังนั้นจากนี้ไปต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯว่า จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great depression) หรือไม่ ขณะที่ประเทศไทยเองก็ต้องระวังภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค(Technical recession) ซึ่งหากเศรษฐกิจตกท้องช้างในช่วงไตรมาส 2 และต่อเนื่องในไตรมาส 3 จะเป็นโจทย์ที่จะต้องดูแล ก็เป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตาม
ขณะที่ SCB EIC มองว่าการประกาศปลดปล่อยสหรัฐฯครั้งนี้ ถือเป็นการ GATP และองค์การการค้าโลกหรือ WTO ลงอย่างสิ้นเชิง และจะนำมาซื้อความปั่นป่วน เพราะแม้แต่ตอนนี้ การอัตราภาษีที่สหรัฐฯจะจัดเก็บก็ยังไม่นิ่ง การประกาศภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ก็เพื่อให้มีการเจรจาใหม่กับทั้ง 185 ประเทศ เป็นการจัดระเบียบใหม่ของสหรัฐ เพื่อลดการขาดดุลการค้ากับประเทศต่างๆ
ประเทศไทยเองเป็นเศรษฐกิจขนาดเล็ก ย่อมหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ยาก ดังนั้น ไม่เพียงที่ไทยจะต้องเร่งเจรจา เพื่อหาทางออกให้เหมาะสมกับสินค้าไทยที่จะส่งออกไปสหรัฐฯแล้ว ไทยเองยังต้องเฝ้าระวังสินค้าจีนที่จะทะลักเข้าไทย ทั้งจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ และความต้องการระบายอุปทานที่ผลิตเกินความต้องการในจีน (Oversupply) ด้วย
ทรัมป์ส่งซิก ลังเลเดินหน้าขึ้นภาษีสินค้าจีนต่อ อ้างการค้าสหรัฐชะงัก
ประธานาธิบดี “ทรัมป์” เปิดเผยว่ารู้สึกลังเลที่จะเดินหน้าขึ้นภาษีสินค้าจีนต่อไป และมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะยุติหรือปรับลดภาษีในอนาคต หลังสงครามภาษีช่วงที่ผ่านมาทำการค้าระหว่างสองประเทศหยุดชะงัก สินค้ามีราคาสูงจนทำให้ไม่มีผู้ซื้อ
“ผมไม่ต้องการให้ภาษีสูงขึ้นไปกว่านี้ เพราะในที่สุดมันจะทำให้ผู้คนไม่ซื้อสินค้า ผมอาจต้องการลดลงด้วยซ้ำ เพราะคุณก็รู้ว่า เราต้องการให้ผู้คนจับจ่าย และถ้ามันแพงเกินไป ในที่สุดผู้คนก็จะไม่ซื้อ”
โดยหล้งจากครั้งล่าสุด สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรวมกันแล้วสูงถึง 145% หลังจากที่จีนประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ ก่อนที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จีนจะประกาศว่า จีนจะไม่เล่นเกมตัวเลขกับภาษีอีกต่อไป ซึ่งเป็นสัญญาณว่าจีนเองก็ไม่ต้องการเพิ่มอัตราภาษีเช่นกัน
ทรัมป์ยังอ้างด้วยว่า จีนได้พยายามติดต่อเข้ามาพูดคุยหลายครั้งหลังจากที่มีการเรียกเก็บภาษี โดยมองในแง่ดีว่า ทั้งสองฝ่ายจะสามารถตกลงกันได้ และอาจทำให้บรรยากาศความตึงเครียดของสงครามภาษีค่อยๆ ผ่อนคลายลง
เศรษฐกิจไทยจะถูกซ้ำเติมจากภาษีสหรัฐฯ
บทวิเคราะห์ วิจัยกรุงศ มองว่า ความตึงเครียดทางการค้าโลกที่ทวีแรงขึ้นและยังมีความไม่แน่นอนสูง จะกดดันเศรษฐกิจไทย (GDP) อ่อนแอลง ซึ่งอัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากไทยสูงเกินคาดที่ 36% ขณะที่ทางการไทยเคยประเมินไว้ว่าอาจถูกเก็บภาษีที่ 11% โดยก่อนหน้านี้ส่วนต่างภาษีนำเข้าโดยเฉลี่ยของไทยกับสหรัฐฯอยู่ที่ราว 6% หากบวกกับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อัตราภาษีนำเข้าที่เคยคาดการณ์จะอยู่ที่ราว 13%
ผลกระทบในระยะปานกลางถึงระยะยาวอาจจะรุนแรงน้อยกว่าในระยะสั้น เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าใหม่ที่สหรัฐฯ กำหนดกับไทยยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งสำคัญ อาทิ จีน (54% คำนวณจากอัตราภาษีตอบโต้ 34% บวกกับอัตราภาษีที่สหรัฐฯจัดเก็บ20% เมื่อต้นปี) และเวียดนาม (46%) ส่งผลให้การย้ายฐานการลงทุนและผลของการทดแทนการส่งออกสินค้าอาจส่งผลบวกในเชิงเปรียบเทียบต่อการส่งออกและการผลิตบางรายการของไทย การประเมินผลกระทบโดยอาศัยแบบจำลอง Global Trade Analysis Project (GTAP)
อีกทั้งการขึ้นภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯครั้งนี้ จะทำให้การส่งออกและ GDP ของไทยในระยะกลางถึงยาวลดลง -2.6% และ -0.11% ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนพบว่า GDP ของเวียดนามและกัมพูชาจะลดลงมากกว่าไทย เพราะถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงกว่าและมีการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯมากกว่า ขณะที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จะได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าไทย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั่วทั้งโลกอยู่บนความเสี่ยงด้วยกันหมด ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา บรรดานักวิเคราะห์ นักเศรษฐศาสตร์ ทั้งไทยและต่างประเทศ ต่างก็ออกมาหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจ รวมถึงแนวโน้มจีดีพีโลกของปีนี้และปีหน้า กรณี worst case สงครามการค้ารุนแรง ก็ย่อมกระทบเศรษฐกิจอย่างหนักทั่วโลกแน่นอน จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับพื้นฐานและสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศนั้นๆด้วย ดังนั้นโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ ต้องยกให้เป็นหน้าที่ของ”รัฐบาล” ที่จะคลี่คลายสถานการณ์นี้ได้อย่างไรต่อไป??
แสดงความคิดเห็น