เราบ่นเรื่องเศรษฐกิจแย่กันมานาน หลังจากที่เจอวิกฤตโควิด–19 ก็ดูเหมือนอาฟเตอร์ช็อคจะยังคงอยู่ เพราะจนถึงตอนนี้เศรษฐกิจบ้านเราก็ยังคงซึมๆ ฟื้นก็ฟื้นได้ไม่เต็มที่นัก
สาเหตุใหญ่ที่เป็นปัจจัยกดดัน คงหนีไม่พ้นปัญหาหนี้ เพราะปัจจุบันหนี้ครัวเรือนไทยยังสูงลิ่วถึง 92% ของ GDP และแถมยังเป็นหนี้เรื้อรัง ตามคำนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ที่ตามแก้ตามปลดอย่างไรก็ยังไม่สำเร็จ เพราะบรรดาหนี้ที่เกิดขึ้นมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง พฤติกรรมการใช้จ่าย นอกเหนือจากผลกระทบที่มาจากปัญหาเศรษฐกิจ และปัจจัยอื่นๆรอบด้าน
โดยปัจจุบันหนี้ครัวเรือนไทยยังคงสูงถึง 92% ของ GDP สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนไทยมีภาระหนี้สินที่หนักกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และจีน ที่มีหนี้ครัวเรือนต่ำกว่า 80% ของ GDP การขอสินเชื่อจึงเป็นเรื่องยากไม่ว่าจะกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย กู้เพื่อต่อยอดทำทุนธุรกิจ กู้ซื้อรถ เป็นต้น
และด้วยปัญหาหนี้ หลายธนาคารก็จะต้องคุมหนี้เสียไม่ให้ก่อใหม่ และไม่ให้ชนเพดาน ด้วยการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ มีโปรแกรมปรับโครงสร้างหนี้ รวมหนี้เป็นก้อนเดียวต่างๆ ออกมา แต่สำหรับคนที่ขอสินเชื่อใหม่ก็ดูจะยากขึ้นตามไปด้วย
<หนี้ครัวเรือน ตัวรั้งยอดขายรถป้ายแดง>
รายงานฉบับล่าสุดของวิจัยธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่าปี 2567 เป็นอีกปีที่ธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ จากการที่เศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง และการเปลี่ยนไปของจำนวนประชากร รวมทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมา “เช่ารถ” แทนการซื้อ ประกอบกับ “หนี้ครัวเรือน” ที่ยังอยู่ในระดับสูงและรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ยังเป็นอุปสรรคของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ทั้งในปีนี้และในระยะต่อไป
โดยภาพรวมยอดขายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงรวมในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวกว่า 23.9% โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ ก็มาจากความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง โดยในกลุ่มรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่หดตัวสูงถึง 31.5% ส่วนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลหดตัว 21.1%
<ค่ายรถ 15 ค่ายมีแค่ BYD ที่ยอดขายยังโต>
ยอดขายของบรรดาค่ายรถยนต์ หากนับยอดขายตามลำดับอันดับ 1 ยังคงเป็น Toyota รองลงมาเป็น Isuzu, Honda, BYD และ Mitsubishi ตามลำดับ
ส่วนยอดขายรวมรถทุกประเภทของค่ายรถยนต์ พบว่ามีเพียง BYD ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเท่านั้น ที่ยอดขายยังขยายตัวดีสวนทางกับค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่ที่มียอดจำหน่ายหดตัวจากปีก่อนหน้า
อันดับ 1: Toyota 151,172 คัน ลดลง –14.9%
อันดับ 2: Isuzu 59,189 คัน ลดลง –45.9%
อันดับ 3: Honda 53,946 คัน ลดลง –11.2%
อันดับ 4: BYD 20,878 คัน เพิ่มขึ้น +41.1%
อันดับ 5: Mitsubishi 18,263 คัน ลดลง –25.3%
อันดับ 6: Ford 14,757 คัน ลดลง –42.9%
อันดับ 7: MG 11,671 คัน ลดลง –32%
อันดับ 8: Nissan 6,768 คัน ลดลง –42%
อันดับ 9: Mazda 6,545 คัน ลดลง –47.6%
อันดับ 10: GWM 4,799 คัน ลดลง –40.5%
อันดับ 11: Suzuki 4,505 คัน ลดลง –49.4%
อันดับ 12: NETA 4,362 คัน ลดลง –49%
อันดับ 13: Hino 3,013 คัน ลดลง –57.4%
อันดับ 14: Hyundai 2,941 คัน ลดลง –17.5%
อันดับ 15: Changan 2,692 คัน n/a
<ตัวเลขยอดผลิต ยอดขายรถ ส.อ.ท. ก็หด>
ด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็ได้ออกมาเปิดเผยถึงยอดขาย และยอดผลิตในเดือนกันยายน 2567 ร่วงต่ำสุดในรอบ 45 เดือน
คุณสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. บอกว่า เดือนกันยายน 2567 ยอดการผลิตและยอดขายภายในประเทศ รวมถึงการส่งออกรถยนต์ลดลงทุกส่วน โดยมียอดการผลิตอยู่ที่ 122,277 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2566 ถึง 25.48% ส่งผลให้ 9 เดือน (มกราคม – กันยายน 2567) ผลิตรวมทั้งสิ้น 1,128,026 คัน ลดลง 18.61% ทั้งในส่วนของรถยนต์นั่ง รถโดยสาร รถบรรทุก รถกระบะ
ที่สำคัญคือการผลิตเพื่อขายในประเทศอยู่ที่ 34,611 คัน ลดลงถึง 42.31% ส่งผลให้ 9 เดือน ผลิตได้แค่ 353,851 คัน ลดลง 38.57% ขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 39,048 คัน ต่ำสุดในรอบ 53 เดือน ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2567 ที่ 13.59% ลดลง เนื่องจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อให้ผู้ซื้อรถยนต์ เพราะหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) ยังอยู่ในระดับที่สูงที่ 208,575 ล้านบาท หนี้เสียรถยนต์อยู่ที่ 259,330 ล้านบาท ประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศไตรมาส 2 ปี 2567 ที่โตต่ำแค่ 2.3% และคาดว่า 2567 จะเติบโตแค่ 2.7–2.8% เท่านั้น
ดังนั้น ส.อ.ท. จะมีการหารือกันในกลุ่มอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อประเมินสถานการณ์และปรับเป้าผลิตขายในประเทศและเป้าผลิตส่งออกอีกหลายหมื่นคัน จากเดิมเป้าผลิตเพื่อการส่งออกปี 2567 อยู่ที่ 1,150,000 คัน ส่วนยอดผลิตขายในประเทศจากเป้าเดิม 750,000 คัน ล่าสุดเหลือเพียง 550,000 คัน ซึ่งคาดว่าจะลดเป้าเช่นกัน เพราะแบงก์ยังคงเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ขณะเดียวกันยอดขาย EV ก็ยังลดลงจากการถูกปฎิเสธจากลูกค้า เพราะยังลังเลเรื่องของราคา แม้ว่าราคาแร่ลิเทียมโลกลดลง ทำให้ราคาแบตเตอรี่ลดลงตาม แต่ปี 2568 คาดว่าราคาแบตเตอรี่อาจจะพุ่งขึ้นอีก
ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV ก็มียอดจดทะเบียนใหม่มีจำนวน 6,606 คัน ลดลงจากเดือนกันยายนปีที่แล้ว 25.81% แต่ถ้าดู 9 เดือน BEV ยังคงมีตัวเลขจดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 75,653 คัน เพิ่มขึ้น 11.67%
<หนี้เสียฉุดหลายอย่าง>
คุณสุรพงษ์ บอกว่าที่เป็นห่วงคือเรื่องยอดขาย เพราะหนี้ครัวเรือนยังสูงถึง 90% ซึ่งมันควรไม่เกิน 80% ของ GDP ส่วนปีนี้ปีหน้ายังไม่มีสัญญาณบอกว่าจะดีหรือโต เราต้องดูว่าเศรษฐกิจจะดีไหม เมื่อดูถึงยอดขอบีโอไอที่มีตัวเลขคำขอสูงถึง 7 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี ก็หวังว่าปีหน้าจะมีการลงทุนจริง เพราะนั่นมันจะทำให้เกิดงาน จ้างงาน รายได้เพิ่ม คนมีรายได้ใช้หนี้ครัวเรือนก็ลด แบงก์ก็จะปล่อยกู้ทั้งรถยนต์และอสังหาฯ
แต่คุณสุรพงษ์ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าตัวเลขหนี้รถยนต์เช่าซื้อลดลง แต่หนี้เสียมันเพิ่มขึ้น รายได้มันลดตั้งแต่เกิดโควิด–19 ถ้ายังเป็นแบบนี่จะขาดอำนาจซื้อทุกอย่างมันดึงกันไปหมด
<หนี้ครัวเรือนยังมีแนวโน้มชะลอลง>
ศูนย์วิจัยกสิกไทย ประเมินว่าภาพรวมภาวะหนี้ครัวเรือนปี 2567 อาจชะลอลงมาที่ 88.5–89.5% ต่อจีดีพี ซึ่งหากลงลึกไปจะพบว่าในภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าจะส่งผลกระทบต่อรายได้และกำลังซื้อของครัวเรือน ซึ่งจะจำกัดศักยภาพในการก่อหนี้ใหม่ นำไปสู่การคาดการณ์ว่าหนี้ครัวเรือนในปี 2567 อาจเติบโตต่ำกว่า 1.0% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าการเติบโตของ GDP แบบ Nominal สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังไม่เต็มศักยภาพ ประกอบกับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด–19 ที่ยังคงตกค้าง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อเนื่องถึงรายได้และกำลังซื้อของครัวเรือน จำกัดศักยภาพในการก่อหนี้ใหม่ และบั่นทอนความสามารถในการชำระหนี้เดิม
ที่น่าสนใจของรายงานวิจัยกสิกรฯ ยังมีผลสำรวจหนี้สินครัวเรือนไตรมาส 3/2567 ด้วยว่ากลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 46 ที่ก่อหนี้จากความจำเป็น สาเหตุหลักประกอบด้วยรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน หรืออาจขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งส่งผลให้ครัวเรือนกลุ่มนี้มีความอ่อนไหวต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
แน่นอนว่าประเด็นปัญหาหนี้สินครัวเรือนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ต้องมองเป็นปัญหาใหญ่และสำคัญที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างชัดเจน เปรียบเสมือน ระเบิดเวลาที่ถ้าไม่มีหน่วย EOD เก็บกู้ระเบิดมาจัดการ ก่อนที่ระเบิดลูกนั้นจะตูมตามเกิดความเสียหายหนัก การแก้ไขอาจจะต้องหนักหนา สูญเสียงบประมาณ และเวลาในการกอบกู้ ฟื้นฟูความเสียหายมากกว่าตอนนี้ก็เป็นได้…