เฟดใส่เกียร์ถอย ลดดอกเบี้ยครั้งเดียว 0.5% ประคองเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอย ส่งผลอย่างไรต่อดอกเบี้ยประเทศอื่นในโลก ไทยยังต้องลุ้นจะลดตามหรือตรึงต่ออีกรอบ?

เฟดใส่เกียร์ถอย ลด ดอกเบี้ย ครั้งเดียว 0.5% ประคองเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอย ส่งผลอย่างไรต่อดอกเบี้ยประเทศอื่นในโลก ไทยยังต้องลุ้นจะลดตามหรือตรึงต่ออีกรอบ?

หลังจากที่ลุ้นกันมานานสำหรับการปรับดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ซึ่งล่าสุดเฟดก็ได้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% สู่ระดับ 4.75%–5.00% จากที่เคยคาดกันว่าจะลด 0.25% โดยเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแรงมากกว่าที่บรรดากูรู นักวิเคราะห์ต่างๆคาดกัน

โดยการตัดสินใจของเฟดในครั้งนี้น่าจะช่วยส่งเสริมการกระตุ้นตลาดแรงงาน ในขณะที่สัญญาณของภาวะเงินเฟ้อดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เฟดคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ตัวเลข 5.25%–5.50% ซึ่งขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 18 เดือน เพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี เมื่อปี 2022

ในการแถลงผลการประชุมเฟด นายเจอร์โรม พาวเวลล์ ประธานเฟด บอกว่าการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นทิศทางบวกและความเหมาะสมของการปรับเปลี่ยนนโยบายของเฟด ขณะที่ตลาดแรงงานมีความเข้มแข็งท่ามกลางเศรษฐกิจที่เติบโตในระดับปานกลาง และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงใกล้ถึงระดับ 2% ตามเป้าหมายของเฟด โดยยังสูงกว่าเพียง 0.5%

ขณะเดียวกัน ผู้กำหนดนโยบายของเฟดส่งสัญญาณว่าตราดอกเบี้ยจะลดลงอีก 0.5% ภายในสิ้นปีนี้ และจะลดลงอีก 1% ในปี 2025 ตามด้วยการลดลงอีก 0.5% ในปี 2026 ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วนั้น อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ตัวเลข 2.75%–3%

แน่นอนว่าธนาคารกลางของประเทศมหาอำนาจสหรัฐ มีความเปลี่ยนแปลงเรื่องของนโยบายการเงิน บรรดาตลาดหุ้นสหรัฐต่างก็ดีดพุ่งขึ้นตอบรัยอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าสุด ไม่ว่าจะเป็นดัชนีเอสแอนด์พี 500 (S&P 500) พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดตลอดกาลระหว่างวันที่ 5674.52 จุด ณ เวลา 14.35 น. EDT ก่อนจะปรับลดลงไปอยู่ในเหนือกว่าระดับปิดตลาดวันก่อนหน้าเล็กน้อย ดัชนีแนสแดค คอมโพสิต (Nasdaq Composite) พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดของวันที่ 17,829.15 ณ เวลา 14.35 น. EDT ก่อนจะร่วงลงจนต่ำกว่าระดับปิดตลาดวันก่อนหน้า ส่วนดัชนีดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average) พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดตลอดกาลที่ 41,851.72 จุด ณ เวลา 14.35 น. EDT ก่อนปรับลดลงเล็กน้อย รวมไปถึงราคาสปอตทองคำก็พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดใหม่แตะ 2,600 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ณ เวลา 14.30 น. EDT ก่อนจะร่วงลงมาหลุด 2,550 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ แล้วทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 2,554 ถึง 2,559 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ในเวลาต่อมา

ตลาดหุ้นในบ้านเราก็เช่นกัน หลังจากทราบผลการประชุมเฟดก็เด้งรับทันที โดยเปิดเช้าวันที่ 19 ก.ย. ดัชนี SET รีบาวด์ขึ้น หลังจากเย็นวันที่ 18 ก.ย. ปิดย่อลง โดยบวก 1,442.19 จุด เพิ่มขึ้น 6.42 จุด

ด้านธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจสำคัฐอื่นในโลกก็มีท่าทีจะปรับนโยบายการเงินสู่ “วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง” โดยเฉพาะบรรดาธนาคารกลางประเทศในเอเชีย เนื่องจากแบงก์ชาติหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีกำหนดการประชุม เพื่อพิจารณานโยบายการเงิน โดยคาดว่าแบงก์ชาติจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับปัจจุบัน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กยังมีรายงานด้วยว่าการลดดอกเบี้ยของเฟดมีแนวโน้มจะกระตุ้นให้ธนาคารกลางในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยตาม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

อีกทั้งยังถือเป็นสัญญาณบวกสำหรับตลาดการเงินในเอเชีย นักลงทุนต่างให้ความสนใจและเทเงินลงทุนในตราสารหนี้ หุ้นของบริษัทในภูมิภาค ส่งผลให้ค่าเงินของประเทศต่างๆ ในเอเชียแข็งค่าขึ้น ซึ่ง”เงินบาท”ของไทยก็หนีไม่พ้น

โดยมีการคาดการณ์ว่าแบงก์ชาติอินโดนีเซียอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่แบงก์ชาติออสเตรเลียจะประกาศนโยบายในวันที่ 24 ก.ย. โดยตลาดคาดการณ์ว่าน่าจะคงดอกเบี้ยเช่นเดิม

ส่วนแบงก์ชาติอินเดียและฟิลิปปินส์ ต้องระมัดระวังในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากแรงกดดันด้านเงิน โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดเพียงเล็กน้อยครั้งเดียว ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยคาดว่าจะลดลง 0.25%

ขณะที่แบงก์ชาติเกาหลีใต้ นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะมีการลดดอกเบี้ยครั้งเดียวในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและราคาบ้านที่สูงขึ้น สะท้อนตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังชะลอตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงโซล และจากปัญหาในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่คล้ายกับเกาหลีใต้ ทำให้ธนาคารกลางไต้หวันต้องระมัดระวังในการตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยเช่นกัน

ด้านแบงก์ชาติยุโรป ก็ได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.75% ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ หลังปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปในการประชุมครั้งที่แล้ว และคงอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ไว้ที่ 4.25% เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมไว้ที่ 4.50% แต่ถึงอย่างนั้นแบงก์ชาติงยุโรปก็ไม่ได้มีการขึ้นดอกเบี้ยสวนกระแส”ดอกเบี้ยขาลฃง”ของโลก

เช่นเดียวกับแบงก์ชาติญี่ปุ่น ที่ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยยังเชื่อมั่นว่าการเติบโตของค่าจ้างแรงงานและการบริโภคภายในประเทศยังแข็งแกร่ง และทิศทางของอัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นยังสูงถึง 2.8% ในเดือน ส.ค. ซึ่งยังสูงกว่าเป้าหมายแบงก์ชาติญี่ปุ่น เป็นการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน

ด้านไทยเราเองดูเหมือนว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงตรึงดอกเบี้ยต่อตามการดำเนินนโยบายการเงินที่ระมัดระวัง จากท่าทีของผู้ว่าแบงก์ชาติที่ยังคงยืนยันคำเดิมว่ายังไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย แม้ว่าฝ่ายรัฐบาลเองจะออกมากดดันต่อเนื่องเพื่อหวังว่าจะเป็นอีกแรงในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ แก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง โดยท่านผู้ว่าฯ แบงก์ชาติให้เหตุผลหลักๆ ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ส่วนการแก้ปัญหาหนี้นั้น มองว่าต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการทำให้หนี้เก่าลดลงกับแนวโน้มที่ประชาชนจะก่อหนี้ใหม่อีกหรือใหม่ ซึ่งแบงก์ชาติยังคงเน้นย้ำให้ย้อนกลับไปแก้ที่โครงสร้างจึงจะยั่งยืน ซึ่งหากแบงก์ชาติของไทยตัดสินใจตรึงดอกเบี้ยต่อในการประชุม กนง. นัดหน้า ก็อาจจะนับเป็นหนึ่งในธนาคารกลางที่สามารถ “คงดอกเบี้ย” ได้นานที่สุด

“การลดดอกเบี้ยอาจทำให้ภาระหนี้เก่าลดลง แต่ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าหากลดดอกเบี้ยแล้วจะทำให้สินเชื่อใหม่โตเร็วขึ้นด้วยหรือไม่ ต้องชั่งน้ำหนักทั้งสองฝั่ง นอกจากนี้ยังมีหนี้ที่เป็นดอกเบี้ยคงที่ จะคาดหวังว่าแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบายแล้วภาระหนี้ทุกคนจะลดคงไม่ใช่ ส่วนกรณีที่มีการเสนอมาตรการแฮร์คัทหนี้ จำเป็นต้องดูแลในระยะยาวและถูกจุด อย่างไรก็ตาม เป็นหน้าที่ของ ธปท. ในการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน” ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติกล่าว

ส่วนการที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% นั้น ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติมองว่าไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก แต่ที่ได้รับผลกระทบมากคือค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และราคาทองคำที่ทำ All-time high ส่วนผลกระทบต่อนโยบายการเงินของไทย แบงก์ชาติยังคงพิจารณาจากการปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ย (Outlook Dependent) 3 ปัจจัยเป็นหลัก ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งขณะนี้แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อยังใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ ส่วนเสถียรภาพทางการเงินพบว่าความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) มีสูงขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังต้องพิจารณาในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เป็น K Shape อีกทั้งเงินบาทที่แข็งค่าก็ไม่ได้มีเฉพาะไทยเท่านั้น แต่ยังมีประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย เงินบาทแข็งค่าเกิดจากจากเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเช่นกัน

ในการลดดอกเบี้ยลงพรวดของเฟดในครั้งนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่าสหรัฐเองเขาก็ต้องการอุ้มเศรษฐกิจบ้านเขา คำว่า “ดอกเบี้ยขาลง” ตามที่หลายกูรูบอกคืออาจจะไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจกลับมาสดใสทันทีทันใดได้ เพราะปัจจุบันก็เห็นๆ กันอยู่ว่าตลาดเงินมีความผันผวนสูง ตลาดทุนรับข่าวไปแล้ว แม้ดอกเบี้ยขาลงจะเป็นแรงหนุนหลายๆ ตลาด แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจรอเป็นหมัดฮุกซ้าย เสียบเข้ามาโดยไม่ทันตั้งตัวก็เป็นได้ ตอนนี้ทำได้เพียง “อย่าประมาท” เพราะอนาคตอาจมีเหตุไม่คาดคิด อย่างโควิด–19 ครั้งก่อน อีกหรือไม่ใครจะไปรู้ …

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles