ทำไมต้องลงทุน “แลนด์บริดจ์” ? เมกะโปรเจกต์สุดอลังการรัฐบาลไทย

ทำไมต้องลงทุน “แลนด์บริดจ์” ? เมกะโปรเจกต์สุดอลังการรัฐบาลไทย

ทำไมต้องลงทุน “แลนด์บริดจ์” ? เมกะโปรเจกต์สุดอลังการรัฐบาลไทย

โครงการ “แลนด์บริดจ์” สุดยอดเมกะโปรเจกต์ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลต้องการจะโปรโมท เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งไทย ทั้งต่างชาติให้เข้ามาลงทุนอยู่ในขณะนี้ ซึ่งในการอภิปรายงบประมาณครั้งล่าสุด “แลนบริดจ์” ได้ถูกตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าในการลงทุนขึ้นมาอีกครั้งว่าภาพฝันที่รัฐบาลวาดไว้จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในสายตาของหลายๆ ฝ่าย และนักลงทุน

โดย “แลนด์บริดจ์” นั้นเป็นโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย – อันดามัน ที่เป้าหมายของรัฐบาลคือมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม โดยจะเชื่อมโยงท่าเรือชุมพรเข้ากับท่าเรือระนองแห่งใหม่อย่างไร้รอยต่อ เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางน้ำให้ทันสมัยและเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของไทยกับนานาชาติ

ด้วยการสร้างท่าเรือชุมพรให้ทันสมัย พร้อมทั้งพัฒนาท่าเรือระนองให้เป็นประตูการค้าฝั่งอันดามัน และพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) รวมถึงรถไฟรางคู่และระบบท่อที่จะมีส่วนช่วยทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำ(Transshipment Port) ของภูมิภาค ซึ่งจะใช้งบการลงทุนสูงถึงราว 1 ล้านล้านบาท โดยจะใช้งบลงทุนส่วนใหญ่จากต่างประเทศ และจะให้สัมปทานเป็นระยะเวลา 50 ปี คาดการณ์ว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในเดือนตุลาคมปี 2030

ซึ่งประเด็น “แลนด์บริดจ์” กลับมาเป็นหัวข้อทอล์คออฟเดอะทาวน์อีกครั้ง เมื่อนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้ถามต่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในกรณีโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย – อันดามัน หรือ “แลนด์บริดจ์”

นายสุรเชษฐ์อภิปรายว่า แลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เพราะเป็นโครงการร่วมทุนที่ใหญ่ที่สุดด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่าโครงการเรือธงทั้ง 5 โครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมกัน และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ได้นำโครงการนี้ไปขายนักลงทุนทั่วโลก ทั้งจีน ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์

อีกหลักใหญ่ใจความของนายสุรเชษฐ์ คือต้องการให้รัฐบาลศึกษาให้จริงจังและเป็นกลาง เพื่อตอบคำถามให้ได้ว่า “ควรทำหรือไม่ควรทำ” โดยเฉพาะหากพิจารณาจากความคุ้มค่า ทั้งด้าน “เวลา” และ “ค่าใช้จ่าย” ของสายการเดินเรือ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักที่จะมาใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์แทนช่องแคบมะละกาว่าแลนด์บริดจ์จะทำให้ลดเวลาและค่าใช้จ่ายได้จริง ไม่เช่นนั้นก็ยากที่จะมีสายการเดินเรือหันมาใช้บริการ

ข้อมูลการศึกษาของ สนข. ระบุว่าประเภทสินค้าที่มีโอกาสใช้ท่าเรือของโครงการแลนด์บริดจ์มี 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
– กลุ่มสินค้านำเข้าและส่งออกจากประเทศไทยไปยังแถบตะวันตกผ่านท่าเรือแหลมฉบังแต่อ้อมช่องแคบมะละกาที่สิงคโปร์
– กลุ่มสินค้าถ่ายลำ (transshipment) และสินค้าผ่านแดน (transit) ที่ปัจจุบันขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกา โดยเป็นสินค้าที่ไม่ได้มีจุดต้นทางและปลายทางที่อยู่ในไทย
– สินค้าจากการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใกล้กับพื้นที่ของโครงการแลนด์บริดจ์
– สินค้าที่สนับสนุนอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมเติมน้ำมันเรือ

ความท้าทายของโครงการแลนด์บริดจ์คือการดึงดูดลูกค้าที่ต้องการหลีกเลี่ยงความแออัดของท่าเรือในสิงคโปร์และมาเลเซียในช่องแคบมะละกา ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “ลูกค้ากลุ่มสินค้าถ่ายลำ” ซึ่งบรรดานักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือออกมาแสดงความเห็นว่าลักษณะเฉพาะของการบริการที่โครงการแลนด์บริดจ์ คือรูปแบบขนส่งแบบต้องยกขนหลายครั้ง (double handling) ซึ่งสะท้อนถึงต้นทุน และในรายงานความคืบหน้าโครงการของ สนข. เองก็พบว่าเป็นหนึ่งในจุดอ่อนของโครงการนี้

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง มองว่ารัฐบาลควรทำการบ้านให้เสร็จเสียก่อน วางแผนให้ดีท่ามกลางโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงเยอะแล้วมาประเมิน โดยเฉพาะต้องประเมินตัวโครงการ ปรับปรุงกฎหมาย แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ หนี้สาธารณะสูง 64% ขณะที่งบลงทุนมี 20% แต่งบรายจ่ายมีท่าทีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้รัฐบาลต้องดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนให้มากที่สุด

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กลับเชื่อว่า แลนด์บริดจ์ จะเป็นจุดขายใหม่ และเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ให้มาลงทุนในไทย เหมือนกับที่ต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ตะวันออกอย่าง EEC เป็นโอกาสของประเทศ ซึ่งนอกจากการผลักดันให้โครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้นแล้วต้องมีการวางแผนให้เกิดการพัฒนาแบบครบวงจร โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่รอบโครงการ เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่ง อย่างโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งคาดว่าหากมีการลงทุน จะผลิตน้ำมันได้ประมาณ 500,000 ถึง 900,000 บาเรลต่อวัน

ส่วนการที่รัฐบาลออกไปเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่หลายประเทศให้ความสนใจ โดยเฉพาะดูไบ ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ ในมุมมองของประธาน ส.อ.ท. มองว่าโครงการแลนด์บริดจ์ถูกพูดถึงมานานใช้เงินลงทุนจำนวนมาก แต่โครงการยังไม่เกิด ทำให้มีข้อถกเถียงเรื่องความคุ้มค่า แต่ภาคอุตสาหกรรมมองว่าหากเป็นการลงทุน เพื่อสร้างระบบขนส่ง ช่วยให้ระยะทางสั้นลงจะทำให้ต้นทุนถูกลง เชื่อว่าการเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ประเทศจะได้ประโยชน์

ขณะที่นางจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ก็มองว่าแลนด์บริดจ์จะเป็นโอกาสทองของภาคอุตสาหกรรมในการตั้งฐานการผลิตที่ดี จะเป็นแต้มต่อด้านโลจิสติกส์ เชื่อมโยงเส้นทางจาก 2 ฝั่งมหาสมุทร ตอนนี้นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเยอะ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองก็ย้ำชัดว่าไทยจะเดินหน้าเรื่องนี้ คาดว่าใน 2 ปีข้างหน้าจะเริ่มเห็นการเปิดประมูลลงทุน

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ทุกโครงการต้องฟังความเห็น ออกกฎหมาย ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม เสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ได้เชิญคนที่เห็นด้วยและเห็นต่างให้ความเห็น รวมถึงศึกษาทุกมิติ ถือเป็นความท้าทายที่ต้องวางแผนเพื่อแก้ปัญหา ผลกระทบในพื้นที่รวมถึงคำนึงถึงการเวนคืนที่ดินในราคาที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจให้กับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่

อีกทั้งการศึกษาพบว่า เส้นทางที่ขนส่งเส้นทางเรือฟีดเดอร์ที่จะประหยัด แต่ระยะยาวหากจำนวนตู้สินค้าเพิ่มมากขึ้น เรือใหญ่จะเข้ามารับตู้สินค้าจากท่าเรือระนอง จะมีเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ความคุ้มค่าของการทำโครงการขนาดใหญ่นั้น ยืนยันว่าบริษัทที่ปรึกษาจะศึกษาทุกมิติ และบริษัทที่จะลงทุนต้องเข้ามาศึกษาในแง่ความเป็นไปได้ หากไม่คุ้มค่าเขาไม่มาลงทุน แต่เมื่อศึกษาแล้วมีประเด็นที่เป็นไปไม่ได้ต้องกลับมาทบทวน

นางมนพร ยืนยันว่าก่อนทำโครงการได้มีการศึกษารายละเอียดใน 10 ส่วน ไม่มีการหมกเม็ด ทั้งระบบโลจิสติกส์ การออกแบบ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์รูปแบบการลงทุน การออกแบบท่าเรือ 84% สถานะประเมินผลเกี่ยวข้องสิ่งแวดล้อม ข้อกังวลของประชาชน ชาวประมง การขับเคลื่อนและการร่วมทุน ซึ่งกระบวนการแต่ละส่วนอยู่ระหว่างการศึกษา และจะนำข้อห่วงใยของฝ่ายค้านไปพิจารณาประกอบการศึกษาด้วย

ในส่วนของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้ออกมาโพสต์ถึงการเดินทางไปร่วมประชุม World Economic Forum (WEF) ที่เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ช่วง 3 วันที่ผ่านมา จากการทำหน้าที่ “เซลแมน” ของประเทศ ชวนนักลงทุนให้เข้าลงทุน “แลนด์บริดจ์” ในประเทศไทย ซึ่งก็มีนักลงทุนให้ความสนใจหลายชาติ หลายธุรกิจ ทั้งนักธุรกิจเดินเรือ ธนาคาร Data Center อุตสาหกรรม

“3 วัน ของการเข้าร่วมประชุม WEF ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก ผมได้เจอผู้นำประเทศ และนักลงทุนจำนวนมาก มีการหารือกันในทุกมิติครับ ภาคธุรกิจที่ผมได้คุยกว่า 17 บริษัท และองค์กร แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักคือ
1. กลุ่มที่สนใจร่วมลงทุนใน Landbridge อย่าง DP World ที่สนใจมาก เพราะเขาบริหารท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และ Adani Group มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลก ที่ทำเรื่องโลจิสติกส์เชื่อมต่อตะวันออกกลางอยู่แล้ว ทั้ง 2 บริษัทจะบินมาดูโครงการนี้ด้วยตัวเอง รวมถึง DKSH ที่ทำธุรกิจกระจายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดด้วยครับ
2. กลุ่มธนาคาร, IT และ Data Center ไม่ว่าจะเป็น Standard Chartered, Bank of America ที่สนับสนุนให้ไทยทำ Roashow ส่วน SAAB, Telenor พร้อมขยายการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Microsoft และ Google ที่พร้อมตั้ง Data Center ในไทย
3. กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ในไทย อย่าง Nestle, PepsiCo, Coca-Cola, และ Bosch ก็พร้อมให้ไทยเป็น Regional Hub และขยายฐานการผลิต และการลงทุน สำคัญที่สุดคือ ไทยกำลังกลับคืนสู่เวทีโลกด้วยจุดยืนที่เป็นกลาง และตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้า เชื่อมโลกกับภูมิภาคเอเชียเข้าด้วยกันครับ” นายกฯ โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าโครงการแลนด์บริดจ์ไม่คุ้มทุน นายกฯ เศรษฐา บอกว่าไม่ว่าจะทำเรื่องอะไรก็ตามก็ต้องมีคนที่ไม่เห็นด้วย หรือให้ข้อคิดเตือนสติรัฐบาล ซึ่งเราก็ต้องระมัดระวังในเรื่องพวกนี้ถือเป็นเรื่องธรรมดา ยืนยันจะยังเดินหน้าต่อ

เอาเป็นว่าเราคงต้องรอดูกันต่อไปว่า รัฐบาลจะดันโครงการนี้ไปจนสำเร็จได้หรือไม่ เพราะนอกจากความคุ้มค่า ยังมีอีกหลายปัจจัย ทั้งความเร็ว ความปลอดภัย ระยะทางและอีกหลายๆ เรื่องของการเดินเรือ ที่ต้องพิจารณากันอีกหลายตลบว่าในท้ายที่สุด “แลนด์บริดจ์” จะได้ปักหมุดเป็นแม่เหล็กดูดเงินลงทุนต่างชาติให้ไทยได้หรือไม่?…

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles