สงครามลดราคา กลับสาหัสเวลาเศรษฐกิจขาลง l 12 ก.ค. 68 FULL l BTimes ShowBiz 

“อย่าเริ่มทำสงครามราคา เพราะถ้าทุกเจ้าแข่งกันลด ตลาดมันจะพัง” เป็นวลีเด็ดจากซีรีส์ดังใน Netflix ซึ่งตรงกับยุคสมัยนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากพอเศรษฐกิจไม่ดี ผู้บริโภคก็รัดเข็มขัด ส่งผลให้กำลังซื้อหดตัวจนเหมือนจะหดหาย หลายแบรนด์เลยต้องเร่งออกกลยุทธ์จูงใจให้เกิดการจับจ่าย ซึ่งการแข่งกันลดราคาส่งผลดีต่อผู้บริโภคแบบเต็มๆ แต่ในทางกลับกันเจ้าของแบรนด์ก็ต้องแบกต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นตาม ไปพร้อมกับก้มหน้ารับว่ากำไรก็จะลดทอนลงไปตามต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน…

ซึ่งสงครามราคาในประเทศไทยก็เห็นกันชัดๆ มาตั้งแต่อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวี ที่ห้ำหั่นราคากันอย่างดุเดือด จนแม้แต่แบรนด์ที่เคยบอกว่าจะไม่ร่วมสงครามครั้งนี้ ยังยอมจำนน ปรับโปรโมชันโดนใจ (ก็ลดราคานั่นหละ) จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ยกใหญ่ในโลกออนไลน์จากผู้ใช้งานจริง และที่เดือดๆ เลยก็เมื่อไม่นานมานี้เราจะเห็นโฆษณาเต็มโซเชียลว่าแบรนด์สุกี้เจ้าดัง ทำราคาลดโดนใจ จนคนแห่แหนไปรอคิวอย่างเนืองแน่น (ซึ่งปกติก็แน่นมากอยู่แล้ว) เจอราคาโดนๆ แบบนี้ยิ่งแน่นเข้าไปใหญ่ ร้อนถึงเชนขนาดใหญ่ทนไม่ได้ ต้องกระโจนเข้ามาร่วมเล่นเกมในสงครามครั้งนี้อีกด้วย

ย้อนกลับไปในช่วงปี ค.ศ. 1990 สงครามลดราคาเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับอุตสาหกรรมการบินในสหรัฐอเมริกา เรียกได้ว่าหลังจากรัฐบาลประกาศผ่อนคลายกฎระเบียบและข้อบังคับให้สายการบินสามารถกำหนดราคาตั๋วเครื่องบินเองได้ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาชนิดที่ตาต่อตาฟันต่อฟัน ใครลด ฉันลดบ้าง ที่สุดก็เกิดการล่มสลายของสายการบินในสหรัฐอเมริกา จนทำให้ชื่อของสายการบิน Eastern Airlines และ Pan Am ที่เคยโด่งดังนั้นหายไป…

ถึงแม้เกมการลดราคานี้จะกดดันให้เกิดคำถามค้างคาใจผู้บริโภคมากมายในเรื่องของภาพลักษณ์และคุณภาพ แต่ก็เหมือนจะไม่มีใครสนใจ เพราะต่างยังอัดโปรแข่งขันกันอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันสงครามภาษีและการค้าระหว่างทั่วโลกกับสหรัฐก็ยังมองไม่เห็นจุดจบรวมถึงความชัดเจน อีกทั้งสินค้าจีนราคาถูกก็ทยอยทะลักไปยังหลายประเทศทั่วโลก จนทำให้รัฐบาลในหลายประเทศเริ่มหาทางป้องกันอย่างเข้มข้น เพราะหากปล่อยปละละเลย สงครามครั้งนี้คงมีแต่พังกับพังอย่างแน่นอน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles