กกร. คงคาดการณ์จีดีพีไทยปี 68 โตได้ราว 2.4-2.9% โตแบบจำกัด หลังสงครามการค้ารอบใหม่ เงินบาทแข็งค่าจะกดดันภาพรวมส่งออก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวจำกัด โดยยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ไว้เท่ากับการประชุมเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จะเติบโตได้ราว 2.4-2.9% มูลค่าการส่งออก ขยายตัว 1.5-2.5% และอัตราเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น 0.8-1.2%

เนื่องจากการกีดกันทางการค้าที่รุนแรง และทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จะเป็นความท้าทายต่อการส่งออกของไทย ส่วนภาคอุตสาหกรรมบางสาขา เผชิญการแข่งขันจากสินค้าจากต่างประเทศ ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอ

ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแนวทางเพื่อลดผลกระทบทั้งในระยะสั้น และระยาว โดยใช้ประโยชน์จากการแยกขั้วของ Supply Chain ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) และเร่งทำข้อตกลงทางการค้าเพิ่มเติมจาก FTA ไทย-EFTA เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

กกร.เห็นว่าภายหลังจากสหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก แคนาดา และจีน สัญญาณตอบโต้ด้วยมาตรการทางภาษี และมาตรการทางการค้าจากประเทศดังกล่าวต่อสหรัฐฯ ทำให้การค้าโลกได้รับแรงกดดัน ซึ่งจะส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2568 และจะยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้นในปี 2569 และจากสถานการณ์สงครามการค้าจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทยในระยะสั้น เพราะจะช่วยให้สามารถไปแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในแคนาดา และเม็กซิโกที่มีราคาสูงขึ้น จากการที่สหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้า แต่ในระยะต่อไป ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่าประธานาธิบดีสหรัฐฐฯ จะมีมาตรการอย่างไร หลังการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ก้าวขึ้นจากอันดับที่ 14 ได้ดุลการค้าราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์ มาเป็นอันดับที่ 11 ดุลการค้าเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 4 หมื่นล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ กกร.ได้เสนอแนวทางเตรียมความพร้อมรับมือ ทั้งผลกระทบทางตรง และทางอ้อม ดังนี้
1. การเจรจาระดับรัฐ เพื่อป้องกันและบรรเทาการใช้มาตรการทางการค้าจากสหรัฐฯ รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับประเทศในอาเซียน เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจร่วมกัน
2. การสนับสนุนด้านกฎหมาย กฎระเบียบการค้า เพื่อช่วยเหลือภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบ
3. การบูรณาการเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมในประเทศ และปฏิรูปกฎหมาย เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน
4. การใช้มาตรการทางการค้าเพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และใช้มาตรการควบคุมการนำเข้า ตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอก และนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้า พ.ศ.2522
5. ควบคุมการตั้งหรือขยายโรงงาน รวมทั้งการให้การส่งเสริมในอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตเกินความต้องการ และการกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมในเขต Free zone อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการลักลอบนำสินค้าและวัตถุดิบกลับมาขายในประเทศ
6. ส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศ ทั้งการเพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การกำหนดเงื่อนไขการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศในโครงการรัฐ

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles