นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ( กกร. ) คงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยปีนี้ไว้ที่ 2.8-3.3% การส่งออก คาดว่าขยายตัว 2.0-3.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 0.7-1.2% แต่ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูง และข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของไทย ทำให้การส่งออกฟื้นตัวได้ช้าและไม่ทั่วถึง อีกทั้งอุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอ ขณะที่ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นในระยะข้างหน้า
ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจึงต้องการแรงกระตุ้นเพิ่มเติม จากทั้งนโยบายการคลัง ในการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นอื่นๆ รวมทั้งนโยบายการเงิน ซึ่งจะเป็นในรูปของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือการปรับลดค่าธรรมเนียม FIDF อย่างที่เคยทำในอดีต ซึ่งจะช่วยลดภาระทางการเงินให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว
กกร. ระบุว่า สินค้าส่งออกสำคัญของไทยหลายรายการ อาทิ รถยนต์สันดาป ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และผลิตภัณฑ์พลาสติก ชะลอตัวลงจากปัจจัยทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในขณะที่สินค้าที่ยังส่งออกได้ดี เป็นสินค้าที่มีความซับซ้อนต่ำ เช่น ยางรถยนต์ เนื้อสัตว์แปรรูป นอกจากนี้สินค้าบางประเภท เผชิญการแข่งขันจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นภาคการผลิตไทย จำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้สอดรับกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
อีกทั้งควรหาโอกาสสร้างความได้เปรียบทางการค้า โดยเลือกกลยุทธ์ที่เฉพาะเจาะจง กับบริบทของแต่ละภาคการผลิตในแต่ละตลาดส่งออก ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิต และความเข้มข้นในการแข่งขันในแต่ละอุตสาหกรรม
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไทยยังต้องจับตาเรื่องของปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยังมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะเริ่มเห็นประเทศที่แบ่งขั้วชัดเจน จะหันมาค้ากับประเทศที่มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่ขัดแย้งกัน ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องหาโอกาสสร้างความได้เปรียบทางการค้า โดยเลือกกลยุทธ์ที่เฉพาะเจาะจง กับบริบทของแต่ละภาคการผลิตในแต่ละตลาดส่งออก ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิต และความเข้มข้นในการแข่งขันในแต่ละอุตสาหกรรม
ด้านนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ด้วยปัญหาของผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพ แต่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบยังไม่ถูกแก้อย่างจริงจัง จึงเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเพิ่มกลไกในการสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อสร้างฐานข้อมูลสำหรับประกอบการพิจารณาสินเชื่อตามกลไกตลาด โดยส่งเสริมให้จดทะเบียนนิติบุคคล ด้วยการยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ 5-7 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการปรับตัว พร้อมปรับเงื่อนไข และเพิ่มทรัพยากรของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเกิดความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น