นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่าในการเจรจากับบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือโทลล์เวย์เพื่อหารือร่วมกันสำหรับแนวทางการปรับลดราคาผ่านทางโทลล์เวย์และเสนอแนวทางการขยายสัญญาสัมปทานว่าขณะนี้ทางกรมทางหลวงยังไม่ได้มีการเจรจาเพิ่มเติมกับทางบริษัท ดอนเมืองฯ ผู้ถือสัมปทานดังกล่าวแต่พอมีกระแสข่าวออกมาว่าจะมีการขึ้นค่าผ่านทางดอนเมืองโทลล์เวย์ในเดือนธันวาคมนี้ รวมถึงมีการเสนอแนวทางในการที่จะลดค่าผ่านทางแลกกับการขยายสัมปทาน ซึ่งทางกรมทางหลวงก็จะต้องมีการไปศึกษาก่อนที่ตัดสินใจเลือกแนวทางที่ชัดเจน
โดยตามที่บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือโทลล์เวย์ ประกาศปรับราคาขึ้นค่าผ่านทาง 5-10 บาท เริ่ม 22 ธันวาคม 2567 นี้ เป็นการปรับตามสัญญาสัมปทานที่ทำไว้กับกรมทางหลวง (ทล.) ที่ให้ปรับได้ทุก 5 ปี จากเดิม อัตราค่าผ่านทางยกระดับช่วงดินแดง-ดอนเมือง รถ 4 ล้อ 80 บาท และรถมากกว่า 4 ล้อ 110 บาท เป็น 90-120 บาท ซึ่งก็อาจจะจะต้องมีการปรับขึ้นผ่านทางตามสัญญาที่ได้ทำไว้ก่อนจนกว่าสัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2577 โดยเหลือระยะเวลาการขึ้นค่าผ่านทางเพียง 2 ครั้งเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ทางกรมทางหลวง ได้มีการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม2567 เพื่อศึกษาเรื่องดอนเมืองโทลล์เวย์โดยเฉพาะ เช่น ถ้าขึ้นค่าผ่านทางเฉลี่ยผู้ใช้บริการจะประมาณกี่คน และถ้าจะต้องไม่มีการขึ้นค่าผ่านทางน้้น แนวทางการขยายสัมปทานจะต้องเป็นระยะเวลาเท่าไร โดยทางคณะกรรมการได้ศึกษาข้อมูลไว้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพียงแต่อาจจะยังไม่ได้ให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการเนื่องจากตนพึ่งจะได้รวบรวมข้อมูลที่คณะกรรมการศึกษาไว้นั้นส่งไปที่กระทรวงคมนาคมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยข้อสรุปจากการที่คณะกรรมการศึกษานั้น จากตัวเลขและปัจจัยภาพรวมต่างๆ พิจารณาเห็นตรงกันว่ายังไม่ควรตัดสินใจใช้แนวทางขยายสัญญาสัมปทาน เพื่อแลกกับการลดราคาค่าผ่านทาง เนื่องจากตัวเลขไม่ได้ลงตัวและยังไม่คุ้มค่ากับทางฝ่ายรัฐบาลที่จะไปขยายสัมปทาน
ทั้งนี้ที่ผ่านมาทางกรมทางหลวง ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและเร่งศึกษากันอย่างเงียบๆ จนกระทั่งเมื่อมีการนำเสนอข่าวที่ผ่านมา จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ทำหนังสือมาถึงกรมทางหลวง เพื่อขอรับทราบข้อเท็จจริง กรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานทางยกระดับดอนเมือง (ดอนเมืองโทล์ลเวย์) ระหว่างกรมทางหลวง (ทล.) กับบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ในกรณีนี้ ตนก็ยอมรับว่าทางกรมทางหลวงได้รับหนังสือจากทาง ป.ป.ช. จริง และมองว่าการที่ได้หนังสือรับมานั้นอาจจะมองว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สุ่มเสี่ยงหรือไม่ หรือ มีอะไรที่ต้องตรวจสอบให้รอบคอบ เช่นถ้าจะแก้ไขขยายสัมปทานจะมีระยะกี่ปี ซึ่งตนได้ชี้แจงกลับไปทาง ป.ป.ช. แล้วว่า ทางกรมทางหลวง ยังไม่ได้มีการลงนามแก้ไขสัญญาเกี่ยวกับขยายระยะเวลาสัมปทานทั้งสิ้น โดยถ้าฟังสัมภาษณ์ของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อนหน้านั้น ท่านได้กล่าวว่า แนวทางการขยายสัมปทานดอนเมืองเป็นเพียงแค่ตัวเลือกแนวทางเท่านั้น
ซึ่งทางคณะกรรมการจากกรมทางหลวง ก็ได้นำไปศึกษาต่อว่าถ้าหากขยายจะขยายในระยะเวลากี่ปี และถ้ามีการปรับราคาหรือจะขยายสัมปทานคาดว่าจำนวนคนใช้บริการจะอัตราส่วนเท่าไหร่ต่อวัน โดยผลจากการศึกษาทางคณะกรรมการมองว่าอาจจะยังคุ้มค่าที่จะใช้แนวทางการขยายสัมปทาน ซึ่งขณะนี้ทางกรมทางหลวงยังไม่ได้มีการเจรจากับทาง บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) แต่หลังจากคณะกรรมการได้รายงานผลการศึกษาไปทางกระทรวงคมนาคมนั้น ก็มีแผนที่จะเชิญบริษัทเอกชนดังกล่าวเข้ามาเจรจาหารือร่วมกันและแลกเปลี่ยนแนวทางและตัวเลข ว่า ในอนาคตอีก 5-10 ปี หรือ ถ้ามีการขึ้นค่าผ่านทางแล้วนั้น ปริมาณของคนใช้บริการจะเท่าไร
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยหรือประชุมกับทางนายสุริยะอย่างเป็นทางการถึงประเด็นเรื่องนี้ แต่ก็ได้ข้อสรุปว่าจะต้องให้หมดสัญญากับทางผู้ถือสัมปทานก่อน ถ้ามีการลดค่าผ่านทางโดยการแลกกับการขยายสัมปทานต่อนั้นทางกรมทางหลวงมองว่าไม่คุ้มแต่ถ้าหากหมดสัญญาในปี 2577 แล้วนั้นสัมปทานก็จะกลับมาเป็นของทางกรมทางหลวง ซึ่งหากผ่านไป 10 ปีแล้วหลังหมดสัญญาจะมีการปรับลดค่าผ่านทางหรือไม่ ตรงนี้ในอนาคตก็ต้องมาดูและพิจารณาประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น จากการเช็คสภาพว่าต้องมีการซ่อมบำรุงเพิ่มเติมมากแค่ไหน หรืออาจจะเก็บค่าผ่านทางเป็นการเน้นการซ่อมดูแล หรือบางทีแนวทางในอนาคตอาจจะเสียค่าผ่านทางในราคาที่ถูกลง หรือเปิดให้บริการฟรี