นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้ น้ำมัน เชื้อเพลิงเฉลี่ย เดือนมกราคม – เมษายน 2567 อยู่ที่ 157.32 ล้านลิตร/วัน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.0 โดย น้ำมันเตา มีการใช้ลดลงร้อยละ 21.7 NGV ลดลงร้อยละ 16.4 น้ำมันกลุ่ม ดีเซล ลดลงร้อยละ 4.8 และน้ำมันกลุ่ม เบนซิน ลดลงร้อยละ 0.03 ขณะที่การใช้ น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 และ LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7
การใช้น้ำมันกลุ่ม เบนซิน เดือนมกราคม – เมษายน 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 31.85 ล้านลิตร/วัน ลดลง จากช่วงเดียวกัน ของปีก่อนร้อยละ 0.03 โดยการใช้แก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลงมาอยู่ที่ 0.07 ล้านลิตร/วัน เบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 0.42 ล้านลิตร/วัน แก๊สโซฮอล์ อี20 ลดลงมาอยู่ที่ 5.47 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ 95 ลดลงมาอยู่ที่ 17.55 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.96 ล้านลิตร/วัน
การใช้น้ำมันกลุ่ม ดีเซล เดือนมกราคม – เมษายน 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 71.06 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.8 โดยน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ลดลงมาอยู่ที่ 1.64 ล้านลิตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ลดลงมาอยู่ที่ 0.36 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ลดลงมาอยู่ที่ 0.15 ล้านลิตร/วัน ขณะที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.4 มาอยู่ที่ 68.90 ล้านลิตร/วัน ซึ่งยังคงอยู่ในระยะเวลามาตรการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 1 บาท โดยมีผลจนถึงวันที่ 19 เมษายน 2567 รวมทั้งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาท/ลิตร ในช่วงระยะเวลา 20 เมษายน – 31 กรกฎาคม 2567 เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและเพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
การใช้ น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เดือนมกราคม – เมษายน 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 16.47 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.6 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ประกอบกับการสนับสนุนของรัฐบาล เช่น นโยบายฟรีวีซ่าไทย–จีน ฟรีวีซ่าอินเดียและไต้หวัน 6 เดือน (พฤศจิกายน 2566 – พฤษภาคม 2567) รวมทั้งการเพิ่มเที่ยวบินพิเศษในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเดินทางทางอากาศยานเพิ่มมากขึ้น
การใช้ LPG เดือนมกราคม – เมษายน 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 17.64 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.7 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของภาคปิโตรเคมี ร้อยละ 7.2 มาอยู่ที่ 7.63 ล้านกก./วัน ภาคขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 มาอยู่ที่ 2.33 ล้านกก./วัน โดยปริมาณการใช้ LPG มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการกลับมาดำเนินงานของภาคปิโตรเคมี หลังจากที่มีการหยุดซ่อมบำรุง ในขณะที่การใช้ในภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.0 มาอยู่ที่ 1.95 ล้านกก./วัน และภาคครัวเรือนลดลงร้อยละ 0.7 มาอยู่ที่ 5.73 ล้านกก./วัน ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตรึงราคาขายปลีก LPG ที่ระดับ 423 บาท/ถังขนาด 15 กก. โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2567
การใช้ NGV เดือนมกราคม – เมษายน 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.93 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.4 ทั้งนี้ ปตท. มีมาตรการบรรเทาผลกระทบราคาพลังงาน สำหรับรถแท็กซี่ รถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก ขยายระยะเวลาการช่วยเหลือราคา NGV สำหรับผู้มีบัตรสิทธิประโยชน์อยู่แล้ว และเปิดให้มีการสมัครบัตรสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม โดยสิทธิประโยชน์จะแตกต่างไปตามประเภทของรถ รวมทั้งช่วยเหลือราคาก๊าซ NGV ตั้งแต่วันที่
1 มกราคม – 15 พฤษภาคม 2567 โดยจำหน่ายก๊าซ NGV ที่ราคา 19.59 บาทต่อกิโลกรัมสำหรับรถทั่วไป
การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เดือนมกราคม – เมษายน 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,054,747 บาร์เรล/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.0 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 99,511 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 996,668 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 2.5 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 94,716 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 58,079 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 24.1 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 4,795 ล้านบาท/เดือน
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เดือนมกราคม – เมษายน 2567 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกอยู่ที่ 153,895 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 15,984 ล้านบาท/เดือน