กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินการเคลื่อนไหวของ เงินบาท ในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มอยู่ในกรอบ 33.00-33.70 บาท/ดอลลาร์ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 33.32 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 33.25-33.97 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 1 ปีครึ่ง
ขณะที่เงินดอลลาร์ อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน แต่แข็งค่าเล็กน้อยเทียบกับยูโรในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเงินเยนได้แรงหนุนหลังกรรมการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ระบุว่าต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นสู่ระดับ 1% เป็นอย่างน้อยในอนาคต แต่เสริมว่าการปรับดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงสู่ระดับ 3.5% ตามคาด และประธานอีซีบีแสดงท่าทีระมัดระวังสำหรับโอกาสการปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมรอบถัดไป โดยระบุว่าอีซีบีจะให้ข้อมูลเศรษฐกิจกำหนดการดำเนินนโยบาย
ด้านข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมาไร้ทิศทาง แต่ในภาพรวมบ่งชี้ถึงแนวโน้มใหญ่ที่ภาวะเงินเฟ้อลดความร้อนแรงลง ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งน้อยที่สุดในรอบกว่า 3 ปี ขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐานเพิ่มขึ้น 3.2% ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 9,474 ล้านบาท และ 3,692 ล้านบาท ตามลำดับ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดในสัปดาห์นี้ มีเหตุการณ์สำคัญของตลาดการเงินโลกอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งคาดว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างน้อย 25bp จากระดับสูงสุดในรอบ 23 ปีที่ 5.25-5.50% อนึ่ง ราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ อาจตอบรับอย่างผันผวนต่อผลการประชุม ประมาณการดอกเบี้ย (dot plot) การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อโดยเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงโทนการสื่อสารของประธานเฟด ท่ามกลางการคาดการณ์ของตลาดที่ก้ำกึ่งระหว่างการประเดิมวงจรผ่อนคลายทางการเงินของเฟด ด้วยการลดดอกเบี้ย 25bp กับ 50bp
ทั้งนี้ กรุงศรีคาดว่ากรณีเฟดลด 25bp ในรอบนี้ ค่าเงินดอลลาร์อาจฟื้นตัวเพียงชั่วคราว โดยตลาดจะมองไปถึงโอกาสที่เฟดต้องลดดอกเบี้ยในขนาดที่มากขึ้นในระยะข้างหน้า หากภาคแรงงานบ่งชี้การชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ นักลงทุนจะติดตามข้อมูลยอดค้าปลีกเดือนส.ค.ของสหรัฐฯ ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) และบีโอเจ ซึ่งคาดว่าจะคงนโยบายในสัปดาห์นี้
สำหรับประเด็นในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่าเงินบาทผันผวนสูงจากปัจจัยภายนอก โดยทางการจะดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคธุรกิจ