นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่าในปีที่ผ่านมา บริษัทประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยด้านการสำรวจ บริษัทได้ชนะการประมูลแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย รอบที่ 24 ในแปลงจี 1/65 และแปลงจี 3/65 ซึ่งทั้ง 2 แปลงอยู่ใกล้กับโครงการของบริษัทซึ่งมีการดำเนินงานอยู่แล้ว จึงสามารถพัฒนาโครงการได้รวดเร็วขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานในอนาคต นอกจากนั้น ยังขยายฐานการเติบโตในประเทศมาเลเซียเพิ่มขึ้น จากการได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงใหม่เพิ่มเติมในแปลงสำรวจเอสเค 325 รวมทั้ง ยังสำรวจพบแหล่งปิโตรเลียมใหม่ 3 แหล่งนอกชายฝั่งซาราวัก จากหลุมสำรวจเชนด้า-1 หลุมสำรวจ บังสะวัน-1 และหลุมสำรวจบาบาด้อน-1 ซึ่งสามารถวางแผนเร่งรัดพัฒนาแหล่งที่ค้นพบในรูปแบบกลุ่ม (Cluster) เพื่อเริ่มการผลิตปิโตรเลียมได้อย่างรวดเร็วขึ้น
ในปี 2566 เป็นปีที่ ปตท.สผ. ได้เริ่มขยายการดำเนินงานไปสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด ตามแผนกลยุทธ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน โดยได้รับสิทธิพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ในแปลงสัมปทาน Z1-02 ในรัฐสุลต่านโอมาน และการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 25.5 ในโครงการ Seagreen Offshore Wind Farm ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสกอตแลนด์ โดยสามารถสร้างรายได้ให้บริษัทได้ทันที รวมถึง ได้เริ่มโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ “ลานแสงอรุณ” ที่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อนำไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการผลิตปิโตรเลียมที่โครงการเอส 1 เป็นการช่วยลดการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ปตท.สผ. ได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมประมาณ 2.47 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากปีฐาน 2563 ผ่านการบริหารจัดการในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีคาร์บอนต่ำ การจัดการหลุมผลิตที่เหมาะสม และจัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ
นอกจากนี้ ปตท.สผ. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อเข้าร่วมโครงการความร่วมมือด้านมีเทนของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ (The Oil & Gas Methane Partnership 2.0 หรือ OGMP 2.0) ภายใต้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และเข้าร่วมลงนามในกฎบัตรของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในการประชุม COP28 ร่วมกับ 52 บริษัทผู้ก่อตั้ง โดยตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซมีเทนและขจัดการปล่อยก๊าซส่วนเกิน ซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมในสภาวะการทำงานปกติให้ใกล้ศูนย์มากที่สุด ภายในปี 2573
สำหรับผลประกอบการด้านการเงินของปี 2566 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 315,216 ล้านบาท (เทียบเท่า9,057 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) ลดลงประมาณร้อย 6 เมื่อเทียบกับปี 2565 มีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 462,007 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 48.21 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลงประมาณร้อยละ 10 ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม บริษัทมีรายจ่ายจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (Non-operating items) ลดลง จึงส่งผลให้มีกำไรสุทธิในปี 2566 จำนวน 76,706 ล้านบาท โดย ประมาณร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิดังกล่าว มาจากโครงการที่ลงทุนในต่างประเทศ
กำไรสุทธิจากการดำเนินงานดังกล่าว เป็นส่วนสำคัญที่บริษัทจะนำมาใช้ในการลงทุนพัฒนาโครงการต่าง ๆ ตามแผนงานปี 2567 ซึ่งได้ตั้งงบประมาณไว้ที่ 230,194 ล้านบาท โดยมีแผนจะเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติจากโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ ปลาทอง สตูล และฟูนาน) ให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเมษายนนี้ พร้อมรักษากำลังการผลิตก๊าซฯ จากโครงการจี 2/61 (แหล่งบงกช) โครงการอาทิตย์ และโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย–มาเลเซีย รวมทั้ง จะเร่งการสำรวจปิโตรเลียมในไทยและต่างประเทศ รองรับการใช้พลังงานในอนาคต
โดยในปีนี้ ปตท.สผ. ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มการผลิตปิโตรเลียม อีกประมาณร้อยละ 9 มาอยู่ที่อัตรา 505,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน รองรับการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ปตท.สผ. ได้สำรองงบประมาณเพิ่มเติม (Provisional Budget) อีกจำนวน 67,822 ล้านบาท (เทียบเท่า 2,022 ล้านดอลลาร์ สรอ.) ในช่วง 5 ปี (2567 – 2571) เพื่อพัฒนาพลังงานสะอาดรูปแบบ ต่าง ๆ อีกด้วย
ในปี 2566 ที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้นำส่งรายได้ให้กับรัฐในรูปของภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่น ๆ ในปี 2566 จำนวน 54,280 ล้านบาท โดยเป็นส่วนหนึ่งเพื่อการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ ส่วนแบ่งของผลผลิตปิโตรเลียมจากโครงการจี 1/61 และจี 2/61 ซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ยังเป็นรายได้ทางตรงจากการผลิตปิโตรเลียมที่รัฐนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอีกส่วนหนึ่งด้วย
จากผลการดำเนินการดังกล่าว บริษัทได้อนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2566 ให้แก่ผู้ถือหุ้น ที่จำนวน 9.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิที่ร้อยละ 48.9 รวมเป็นเงินปันผลทั้งสิ้น 37,715 ล้านบาท ได้จ่ายสำหรับงวด 6 เดือนแรกไปแล้วในอัตรา 4.25 บาทต่อหุ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ส่วนที่เหลืออีก 5.25 บาทต่อหุ้น จะจ่ายในวันที่ 22 เมษายน 2567 ภายหลังได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2567 ซึ่งส่วนหนึ่งของเงินปันผลดังกล่าว จะถูกนำส่งให้กระทรวงการคลังผ่านการถือหุ้นในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ปตท.สผ. เพื่อการพัฒนาประเทศด้วยเช่นกัน