ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าดัชนี หุ้นไทย ปรับตัวลงเกือบตลอดสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายหลักๆ จากกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ โดยในช่วงแรกเผชิญแรงกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ตามทิศทางหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลง หลังมีรายงานข่าวเกี่ยวกับการเปิดตัวโมเดลปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของบริษัทจีนซึ่งมีต้นทุนที่ถูกกว่า รวมถึงแรงขายหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลขนาดใหญ่และหุ้นผู้ประกอบธุรกิจท่าอากาศยาน
โดยดัชนีหุ้นไทยขยับขึ้นสั้น ๆ ในเวลาต่อมาตามแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติก่อนจะร่วงลงตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ เนื่องจากไร้ปัจจัยใหม่ ๆ เข้ามากระตุ้นตลาด ประกอบกับผลการประชุมเฟดเป็นไปตามตลาดคาด โดยเฟดมีมติคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมพร้อมส่งสัญญาณไม่รีบลดดอกเบี้ย ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงลึกต่อเนื่องในช่วงปลายสัปดาห์สวนทางภาพรวมตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยแตะจุดต่ำสุดในรอบ 5 เดือนครึ่งที่ระดับ 1,310.72 จุด จากแรงขายหุ้นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่แห่งหนึ่ง หลังมีรายงานข่าวเกี่ยวกับการเจรจาเพื่อซื้อกิจการคืน อนึ่งสัปดาห์นี้หุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวขึ้นสวนทางภาพรวม โดยมีปัจจัยบวกจากการประกาศแผนซื้อคืนหุ้นของแบงก์แห่งหนึ่งในกลุ่ม D-SIBs รวมถึงแรงซื้อเพื่อหวังเงินปันผล
ในวันศุกร์ที่ 31 ม.ค. 2568 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,314.50 จุด ลดลง 2.92% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 35,612.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.73% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 2.72% มาปิดที่ระดับ 278.98 จุด
ส่วนในสัปดาห์นี้ (3-7 ก.พ. 68) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,300 และ 1,275 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,330 และ 1,345 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนม.ค. 2568 ของไทย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ผลประกอบการไตรมาส 4/2567 ของบจ.ไทย นโยบายของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ของสหรัฐฯ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตและการบริการ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงานเดือนม.ค. 2568 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ การประชุม BOE ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือนม.ค. 2568 ของญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนม.ค. 2568 และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนธ.ค. 2567 ของยูโรโซน