นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ประเมินว่าช่วงวันแม่ปีนี้ ซึ่งอยู่ในช่วงวันหยุดต่อเนื่อง 3 วัน คือ เสาร์-อาทิตย์-จันทร์ 10-12 สิงหาคม จะมีเงินใช้จ่ายสะพัดประมาณ 10,855.85 ล้านบาท และขยายตัว 2.1% แม้จะกลับมาบวกจากปีก่อนที่มีการใช้จ่ายติดลบ 2.3% และมีมูลค่า 10,632.57 ล้านบาท แต่หากเป็นภาวะปกติที่คนไม่ได้กังวลเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และปัญหารุมเร้ามากในขณะนี้ การใช้จ่ายหยุดต่อ 3 วัน น่าจะทำให้ใช้จ่ายวันแม่ขยายตัวได้ 5% สะท้อนคนระมัดระวังการใช้สอย แต่ยังให้ความสำคัญการแสดงความกตัญญูกตเวที และความผูกพันกันในครอบครัว
ด้านนางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงวันแม่ โดยสำรวจประชาชน 1,285 ราย ระหว่างวันที่ 1-4 สิงหาคม 2567 พบว่า ในกลุ่มสำรวจ 54.5% มีบุตรแล้ว ส่วนใหญ่กว่า 80% มีบุตร 1-2 คน เริ่มมีมากขึ้นที่ไม่ได้พักอาศัยหรือดูแลลูก เพราะต้องทำงานต่างพื้นที่ อย่างไรก็ตาม กว่า 50% ยังให้ความสำคัญกับวันแม่ และเห็นความสำคัญต่อกิจกรรมในวันแม่ ซึ่งกว่า 60% มองว่าเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที และความผูกพันกันในครอบครัว จึงมีแผนที่จะไปพบปะและท่องเที่ยวรวมกัน โดยการใช้จ่ายในช่วงวันแม่ในปี 2567 กลุ่มสำรวจ 33.7% ระบุว่าใช้จ่ายไม่เปลี่ยนแปลง อีก 42% ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากราคาสินค้าสูงขึ้น เป็นวันพิเศษ และคาดเศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้น ขณะที่ 24.3% ต้องใช้จ่ายลดลง เพราะค่าครองชีพสูงขึ้น ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ต้องการประหยัดจากเศรษฐกิจไม่ดี เป็นหนี้มากขึ้น กังวลต่อความมั่นคงทางรายได้และยังไม่พร้อมใช้จ่ายในตอนนี้ รวมถึงมีรายได้ลดลง
สำหรับแผนการทำกิจกรรมในช่วงวันแม่ปีนี้ ส่วนใหญ่จะพาแม่ไปทานข้าว ไปทำกิจกรรมอื่นๆ นอกบ้าน พาไปทำบุญ พาไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดแบบไม่ค้างคืน พาไปสปาหรือนวด ขณะที่บางส่วนทำกิจกรรมกันในบ้านแม่ และอยู่บ้านกันเฉยๆ จำนวนน้อยสุดน่าจะเป็นพาไปต่างประเทศ สำหรับพฤติกรรมการเลือกซื้อของขวัญมอบให้แม่ ในกลุ่มที่ตั้งใช้ซื้อ อันดับแรก คือ ให้เงินสดและทองคำ มอบพวงมาลัย เครื่องดื่มบำรุงกำลัง เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย สลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น แหล่งซื้อจะซื้อผ่านออนไลน์มากขึ้น โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อการซื้อประชาชนมองเรื่องความน่าเชื่อถือและคุณภาพของสินค้า โดยระดับราคามีผลต่อการวางแผนการใช้จ่ายค่อนข้างสูง ซึ่งกลุ่มตัวอย่าง 38.1% ระบุว่าส่งผลมากต่อการตัดสินใจ อีก 36.3% ส่งผลปานกลาง อีก 15.4% ส่งผลน้อย และ 10.2% ไม่ส่งผลเลย