นายณรินทร์ ชำนาญดู นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สบมท. เปิดเผยว่า เมื่อปี 2567 ผ่านไปนั้น ข้าราชการถูกดำเนินคดีฟ้องล้มละลายกว่า 7,000 คน ในปีปัจจุบัน พบว่าข้าราชการถูกฟ้องล้มละลายมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 14,000 คน หรือเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ในจำนวนนี้ปรากฏว่ามีข้าราชการครูถูกฟ้องล้มละลายรวมกว่า 5,000 คน หากข้าราชการถูกฟ้องล้มละลาย ก็จะถูกให้ออกจากราชการ ทำให้ไม่มีอาชีพ ส่งผลเกิดปัญหาต่าง ๆ สำหรับข้าราชการครูมีหลายคนที่เป็นหนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และติดหนี้กับสถาบันการเงินควบคู่กันด้วย
นายกสมาคม สบมท. กล่าวต่อไปว่า ตามกฎหมายสหกรณ์ ปี 2553 นั้น อนุญาตให้หักเงินเดือนเพื่อจ่ายหนี้ให้กับสหกรณ์โดยตรง จึงทำให้สหกรณ์ไม่ดำเนินการฟ้องร้องครูที่ติดหนี้ แต่เมื่อถูกหักเงิน ครูที่พบว่าเป็นหนี้หลายช่องทาง จึงไม่มีเงินเหลือพอที่จะคืนเงินให้กับสถาบันการเงินอื่นๆ จึงทำให้ถูกฟ้องล้มละลาย
ในขณะนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของ กระทรวงศึกษาธิการ จึงพยายามผลักดันกฏหมายว่าด้วยการช่วยเหลือข้าราชการในทุกสาขาอาชีพ ไม่ใช่แค่ข้าราชการครูเท่านั้น โดยเฉพาะสาเหตุที่ไม่ควรพิจารณาให้ออกจากราชการ เนื่องจากมองว่าการล้มละลายไม่ใช่การทุจริต จึงเป็นเพียงคดีแพ่ง ไม่ใช่เป็นคดีอาญา ข้าราชการที่ถูกฟ้องร้องจึงควรได้รับโอกาสในการทำงานต่อไป หากต้องออกจากราชการตามกฎหมายดังกล่าว จะเสียช่องทางการหารายได้ เท่ากับเป็นการสร้างภาระเพิ่มขึ้นอีก
ทั้งนี้ในปัจจุบันพบว่าข้าราชการที่ถูกให้ออกจากราชการมีจำนวนมาก เนื่องจากถูกฟ้องล้มละลาย ซึ่งตามกฏหมายระบุชัดเจนว่าไม่มีผลย้อนหลัง ดังนั้น เมื่อถูกให้ออกจากราชการแล้ว ไม่สามารถกลับมาเป็นข้าราชการได้อีกต่อไป