โรเบิร์ต วอลเทอร์ส (Robert Walters) ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลระดับโลก เปิดเผยแนวโน้มบุคลากรที่มีความสามารถ 7 ด้านในปี 2025 หรือ Talent Trends 2025 ของประเทศไทยที่กำลังถูกจับตามองอย่างมากในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 แนวโน้มสำคัญ ได้แก่ แนวโน้มการเติบสายงานอาชีพที่ไปแนวราบ มากกว่าต้องการเติบโตสูงขึ้นไประดับบนในองค์กร หรือ Career Lattices VS Ladder พนักงานคนไทยยุคใหม่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนสายงานในระดับขนาน หรือการเติบโตข้ามสายงานและการพัฒนาบนพื้นฐานของทักษะมากกว่าการเติบโตแบบไต่ระดับสูงขึ้นไปตามโครงสร้างองค์กรแบบดั้งเดิม ที่สำคัญ พนักงานถึง 29% มองไม่เห็นโอกาสเติบโตในการทำงานจากองค์กรที่อยู่ในปัจจุบัน มองการการเติบโตแบบไต่ลำดับขั้นมีอยู่เพียง 17% ที่ยังเป็นเส้นทางที่ตอบโจทย์คนบางกลุ่มในองค์กร
แนวโน้มอีกด้าน คือ คนพ้นเกษียณกลับเป็นที่ต้องการของตลาดจ้างงาน หรือ Un-retiring การจ้างผู้เกษียณอายุกลับมาทำงานในองค์กรอีกครั้งกำลังเกิดขึ้นในองค์กรไทย กระทรวงแรงงานมีแผนที่จะขยายอายุเกษียณของทั้งภาครัฐและเอกชนจาก 60 ปี เป็น 65 ปีในอนาคตอันใกล้ โดยพบว่า องค์กรมีความสนใจที่จะจ้างผู้เกษียณกลับมาทำงานมากขึ้น โดยไม่ใช่ในรูปแบบพนักงานประจำ แต่ในลักษณะงานชั่วคราว หรือโปรเจกต์ระยะสั้น ที่มีระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี
แนวโน้มนี้เป็นผลมาจากบริษัท หรือองค์กรมีความต้องการลดต้นทุน การขาดแคลนแรงงาน องค์กรจำนวนมากเริ่มเปิดรับการจ้างงานชั่วคราวมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เกษียณซึ่งมีทั้งประสบการณ์การทำงาน และทักษะชีวิตที่มีคุณค่า การกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานของคนเลยวัยเกษียณไม่เพียงเติมเต็มตำแหน่งว่างขององค์กร แต่ยังช่วยเสริมสร้างทีมข้ามรุ่นที่ประกอบด้วยพนักงานหลากหลายช่วงวัย นำมาซึ่งมุมมองที่หลากหลาย ช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการแก้ปัญหา การคิดเชิงนวัตกรรม และประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมได้อย่างชัดเจน