เพียร์ (Pier) สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ้งภากรณ์ เปิดเผยว่า ผู้กู้กลับตัวที่เคยผิดนัดชำระหนี้มาก่อนและกลับมาจ่ายได้ตามปกติแล้ว ได้รับโอกาสมากน้อยเพียงใดในการได้สินเชื่อใหม่ เปรียบเทียบกับผู้กู้รายใหม่ที่ไม่เคยมีประวัติการกู้ในระบบมาก่อน?
ข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาที่ปล่อยใหม่ในปี 2566 ทั้งสินเชื่อธุรกิจจากข้อมูลที่ธนาคารพาณิชย์รายงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทย และสินเชื่อรายย่อยจากข้อมูลเครดิตบูโร แสดงให้เห็นว่าสถาบันการเงินยังให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กับลูกหนี้ที่กลับตัว โดยหากมามองสินเชื่อรายย่อย พบว่า การปล่อยสินเชื่อใหม่โดยรวมนั้นให้แก่ผู้กู้กลับตัว มากกว่าผู้กู้รายใหม่ที่ยังไม่เคยมีประวัติการกู้ในระบบ
โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค สินเชื่อจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ สินเชื่อเพื่อการเกษตร สินเชื่อเพื่อทำธุรกิจ (รวม Nano-finance) และสินเชื่ออื่น ๆ โดยในภาพรวม จากกลุ่มลูกหนี้กลับตัวทั้งหมด มี 34% ที่ได้สินเชื่อใหม่ในปี 2566 และสินเชื่อใหม่ที่ให้แก่ลูกหนี้กลับตัวมีทั้งให้กับลูกหนี้ที่กลับตัวมาไม่เกิน 1 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ในสินเชื่อเกษตรและสินเชื่ออื่นๆ และลูกหนี้ Non-bank เช่าซื้อ ส่วนธนาคารพาณิชย์และ Non-bank บัตรเครดิต ส่วนใหญ่ให้สินเชื่อใหม่กับกลุ่มลูกหนี้ที่ออกจาก NPL มาแล้วมากกว่า 3 ปี
ในขณะเดียวกัน สถาบันการเงินมีแนวโน้มปล่อยสินเชื่อธุรกิจให้แก่กลุ่มผู้กู้รายใหม่ในสัดส่วนบัญชีที่มากกว่าผู้กู้กลับตัว แต่ขนาดของสินเชื่อเฉลี่ยที่ให้แก่ผู้กู้กลับตัวนั้นสูงกว่ากลุ่มผู้กู้รายใหม่ประมาณ 3 เท่า โดยกลุ่มลูกหนี้กลับตัว ส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลากลับตัวโดยเฉลี่ยประมาณ 32 เดือนจึงได้สินเชื่อใหม่ เมื่อพิจารณาแยกตามขนาดธุรกิจ พบว่าสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ (Corp) สินเชื่อเปิดใหม่มีสัดส่วนให้แก่กลุ่มลูกหนี้กลับตัวมากกว่าผู้กู้รายใหม่ซึ่งแทบจะไม่มีเลย
ทั้งนี้ ผลข้างต้นแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลเครดิตที่ดี ที่ควรส่งเสริมให้ลูกหนี้ได้รับรู้ในวงกว้าง เพื่อผลักดัน credit culture ที่ดีของระบบการเงินไทย