บริษัท โรงพยาบาลวิมุต จำกัด เปิดเผยรายงาน ในปี 2566 สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เผยว่าประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15 ปีขึ้นไป) ทั้งสิ้น 58.92 ล้านคน และจากผลสำรวจของสถาบันวิจัยจีเอฟเค ยังพบว่าคนไทยมีชั่วโมงการทำงานสูงถึงสัปดาห์ละ 50.9 ชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่สัปดาห์ละ 40–44 ชั่วโมง โดยตัวเลขชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินค่าเฉลี่ยของคนไทยสะท้อนถึงความเสี่ยงในการล้มป่วยของด้วยโรคฮิตคนวัยทำงานหลายโรค ที่ล้วนมีปัจจัยจากไลฟ์สไตล์ที่ไม่สมดุล การพักผ่อนน้อย-ออกกำลังกายไม่เพียงพอ การรับประทานอาหารไม่เหมาะสม ความเครียด ฝุ่นและมลภาวะ รวมถึงการนั่งจ้องหน้าจอเป็นเวลานานติดต่อกัน
นพ.กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาท เผยสถิติโรคปวดศีรษะ ว่า “ผลสำรวจองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่าความชุกของโรคปวดศีรษะมีมากถึง 40% หมายความว่า ประชากรโลกราว 7 พันล้านคน มีคนปวดศีรษะถึง 3.1 พันล้านคน นอกจากนี้ ในจำนวนดังกล่าว เป็นโรคโมเกรนประมาณ 1 พันล้านคน โดย 15% ของผู้ปวดศีรษะรายงานว่าเป็นการปวดศีรษะรุนแรง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการอักเสบติดเชื้อ เนื้องอกในสมอง หรือมีเลือดออกในสมอง และสามารถนำไปสู่การเสียชีวิตหรือพิการได้หากไม่รีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย สำหรับกลุ่มคนวัยทำงาน ต้องเน้นย้ำว่าแม้สาเหตุส่วนใหญ่ของการ ปวดหัวจะมาจากความเครียดการพักผ่อนไม่เพียงพอ แต่ก็ยังมีปัจจัยกระตุ้นอีกมากมายที่ทำให้ปวดศีรษะ ไม่อยากให้ทำงานหนักจนละเลยสัญญาณเตือนของร่างกาย หากมีอาการปวดหัวเรื้อรังหรือปวดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะเมื่อปวดมากผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ทันที รวมถึงหากมีอาการร่วม อาทิ ชา แขนขาอ่อนแรง คลื่นไส้ ภาพเบลอ หน้าเบี้ยว หมดสติ ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด และที่สำคัญไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเด็ดขาด”
นายแพทย์กุลเทพ รัตนโกวิท อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร เล่าถึงสาเหตุของโรคกรดไหลย้อนและท้องผูกในกลุ่มคนทำงานว่า “โรคกรดไหลย้อนพบบ่อยมากในกลุ่มวัยทำงาน เพราะไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบทำให้กินอาหารไม่เป็นเวลา เคี้ยวไม่ละเอียด ความเครียดสะสม การกินของมันของทอด น้ำอัดลม รวมถึงแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ ก็ล้วนมีปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนทั้งสิ้น ในไทยผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนยุคนี้ โดยอาการที่เข้าข่ายกรดไหลย้อน รวมถึงแสบยอดอก กลืนลำบาก ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย หรือการขับถ่ายที่ไม่ปกติ เมื่อพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์ก่อนเกิดอาการแทรกซ้อนจนอาจอันตรายถึงชีวิตได้ สำหรับท้องผูกเป็นอาการที่พบบ่อยในคนไทยเช่นกัน จากการเร่งรีบ ไม่เข้าห้องน้ำ เข้าไม่เป็นเวลา หรือ ข้ามการขับถ่ายไป
โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 20–40 ปี พบว่าเป็นโรคท้องผูกถึงร้อยละ 57 และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัจจัยเรื่องการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำน้อย, การผ่าตัด อุบัติเหตุ หรือความเจ็บป่วยอื่นๆ รวมถึงภาวะเครียดก็ส่งผลต่อการขับถ่ายด้วย สิ่งที่น่ากังวลคือคนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเรื่องปกติและปล่อยทิ้งไว้จนอาการเรื้อรังและส่งผลต่อการใช้ชีวิต ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจส่งผลต่อความเสี่ยงถึงชีวิต ซึ่งจริงๆ แล้วทั้งสองโรคนี้สามารถดีขึ้นได้ด้วยความตั้งใจของผู้ป่วยในการหันมาปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์อย่างจริงจัง เพราะนอกจากจะหายจากโรคแล้วยังทำให้ไม่กลับไปเป็นซ้ำอีกด้วย”