นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการ รถไฟความเร็วสูง ไทย – จีน ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) โดยระบุว่า โครงการก่อสร้าง ไฮสปีดเทรน ระยะที่ 1 ปัจจุบันคืบหน้าไปแล้วกว่า 33.48% ตนได้กำชับให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เร่งรัดก่อสร้างและแก้ปัญหาอุปสรรคที่เหลืออยู่ใน 2 สัญญาสุดท้ายให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อผลักดันโครงการเปิดบริการในปี 2571
อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังมี 2 สัญญาที่ยังไม่สามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ ประกอบด้วย สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ–ดอนเมือง ซึ่งเป็นสัญญามีงานโยธาทับซ้อนกับโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ปัจจุบันทราบว่าทางคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) อยู่ระหว่างพิจารณาแก้ไขร่างสัญญา คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้ และทางเอกชนคู่สัญญาไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ยืนยันจะเป็นผู้ลงทุนงานโยธาส่วนนี้
ขณะเดียวกัน ร.ฟ.ท.ได้ดำเนินการปรับความเร็วการเดินรถ 1 สถานี ในช่วงสถานีดอนเมือง – สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อรองรับการใช้ระบบรถไฟความเร็วสูงของทั้งสองโครงการ เนื่องจากเดิมโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย–จีน จะใช้ความเร็วอยู่ที่ประมาณ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วที่มากกว่าไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน ดังนั้นจึงได้ข้อสรุปจะปรับลดความเร็วลงเหลือความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ส่วนสัญญา 4 – 5 ช่วงบ้านโพ – พระแก้ว ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้ลงนามสัญญาจ้างงานโยธา เนื่องจากติดปัญหาก่อสร้างพื้นที่สถานีอยุธยา ล่าสุด ร.ฟ.ท.ได้ส่งรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) ฉบับสมบูรณ์ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ไปยังองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาติดขัด เพราะสถานีที่จะก่อสร้างยังอยู่บนเส้นทางรถไฟเดิม ประกอบกับที่ผ่านมา สาเหตุของความไม่เข้าใจเนื่องจากได้ขาดการติดต่อจากยูเนสโกมาตั้งแต่ปี 2563 แต่ขณะนี้ได้ดำเนินการตามกระบวนการของยูเนสโกแล้ว โดยยืนยันว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน จะต้องมีสถานีรถไฟอยุธยา เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน ส่วนการยืนราคาของภาคเอกชนนั้น ก็ไม่มีปัญหาเช่นกัน โดยคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญากับเอกชนได้ภายในปีนี้
ขณะที่ ความคืบหน้าของ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา–หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ดำเนินการออกแบบและปรับแบบแล้วเสร็จ ซึ่งนำปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการก่อสร้างจุดตัดรถไฟ และผลกระทบการสัญจรของประชาชนมาปรับใช้ในการออกแบบโครงการนี้ สถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอมายังกระทรวงคมนาคม โดยคาดว่าจะเสนอขอความเห็นชอบไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายใน ก.ย. 2567 และจะสามารถเปิดประมูล พร้อมเริ่มกระบวนการก่อสร้างภายในปลายปีนี้ โดยใช้เวลาก่อสร้างราว 4 – 5 ปีแล้วเสร็จ เปิดให้บริการในปี 2572 ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้น จะพิจารณาที่มีความเหมาะสม ซึ่งจะต้องหารือกับสำนักงบประมาณก่อน