คมนาคมพร้อมลุยรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เร่งลงนามอีก 2 สัญญา ยัน ‘ซีพี’ พร้อมลงทุนพื้นที่ทับซ้อน

คมนาคมพร้อมลุย รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เร่งลงนามอีก 2 สัญญา ยัน 'ซีพี' พร้อมลงทุนพื้นที่ทับซ้อน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 1/2567 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 31 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 7–8 พ.ค. 2567 พร้อมระบุว่า การเข้าร่วมประชุมที่กรุงปักกิ่งครั้งนี้ จะรายงานความก้าวหน้าของโครงการ รวมทั้งยืนยันความพร้อมของรัฐบาลในการผลักดันโครงการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย

สำหรับประชุมครั้งนี้ได้หารือถึงความก้าวหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา ระยะทาง 250 กิโลเมตร โดยมีงานก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา จากทั้งหมด 14 สัญญา อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 10 สัญญา และรอลงนามสัญญาอีก 2 สัญญา ซึ่งมีความก้าวหน้าภาพรวม 32.31% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2571

ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย สำหรับการเชื่อมต่อโครงการสู่ สปป.ลาว ปัจจุบันฝ่ายไทยพร้อมดำเนินการลงทุน ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดของโครงการแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างรอเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2573

ปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง ยังติดปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็ว สูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมต่อสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่มซีพี ซึ่งเป็นเอกชนคู่สัญญาไฮสปีดสามสนามบิน โดยเอกชนยังคงยืนยันจะรับสร้างพื้นที่ทับซ้อนช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง โดยมีความคืบหน้าการเจรจาไปแล้ว 90% คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้

ส่วนสัญญา 4–5 ช่วงบ้านโพ – พระแก้ว ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้ลงนามสัญญาจ้างงานโยธา เพราะติดปัญหาก่อสร้างพื้นที่สถานีอยุธยา คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จะส่งรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม หรือ HIA ของแหล่งมรดกโลกนครสวรรค์และนครศรีอยุธยา เชื่อมโยงกับสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ไปยังองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) พร้อมสอบถามความเห็น หากสามารถลงนามสัญญาได้ก็จะดำเนินการทันที

ทั้งนี้จึงคาดว่ากระบวนการส่งมอบพื้นที่ที่เหลือ 2 สัญญานี้ จะแล้วเสร็จภายใน 2–3 เดือน และนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมของโครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างสองประเทศ ยกระดับความร่วมมือให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เสริมสร้างเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค รวมทั้งเชื่อมโยงการค้าการลงทุนระหว่างกัน ตลอดจนขยายเครือข่ายเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว เพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งและการเชื่อมโยงในภูมิภาคต่อไป

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles