นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานหนี้สาธารณะ ตามมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 ส.ค. 67 สถานะหนี้สาธารณะคงค้าง อยู่ที่ 11,728,149 ล้านบาท หรือคิดเป็น 64.02% ของ GDP ซึ่งถือว่ายังอยู่ในกรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ที่กำหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกิน 70%
โดยยอดหนี้สาธารณะทั้ง 11.728 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย
- หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 9.78 ล้านล้านบาท คิดเป็น 53.39% ของ GDP
- หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) คิดเป็น 3.19% ของ GDP
- หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1.06 ล้านล้านบาท คิดเป็น 5.79% ของ GDP
- หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน โดยมีรัฐบาลค้ำประกัน 189,254 ล้านบาท คิดเป็น 1.03%
- หนี้หน่วยงานของรัฐ 112,694 ล้านบาท คิดเป็น 0.62%
ทั้งนี้ การกู้เงินของรัฐบาล แม้จะทำให้มีหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น แต่กลับมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการกู้เงินดังกล่าว จะถูกนำไปใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ วางรากฐานการพัฒนา สร้างรายได้ และเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่กระจายไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อกระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเศรษฐกิจของประเทศขยายตัว