โตเกียว โชโกะ รีเสิร์ช ซึ่งเป็นสำนักวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มกราคมถึงมิถุนายน 2024 มีจำนวนธุรกิจเอกชนประกาศล้มละลายเป็นจำนวนมากถึง 4,931 แห่ง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2023 ส่งผลให้ยอดกิจการภาคเอกชนล้มละลายสูงสุดในรอบ 10 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา นอกจากนี้ จำนวนล้มละลายดังกล่าวนับเป็นการล้มละลายที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 นั้น มีจำนวนธุรกิจเอกชนประกาศล้มละลายเป็นจำนวนมากถึง 4,042 แห่ง ทำสถิติล้มละลายสูงสุดในรอบ 5 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ที่สำคัญ มีความเป็นไปได้สูงที่จำนวนธุรกิจจะล้มละลายเพิ่มสูงขึ้นเกิน 10,000 แห่งภายในสิ้นปี 2024 นี้
อย่างไรก็ตาม มูลค่าหนี้สินที่เกิดจากภาวะล้มละลายของภาคเอกชนในญี่ปุ่นในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2024 นี้ มีทั้งสิ้น 721,040 ล้านเยน หรือกว่า 173,176 ล้านบาท ซึ่งลดลง 22.8% เนื่องจาก กว่า 88.4% ของบริษัทที่ล้มละลายนั้นเป็นบริษัทขนาดเอสเอ็มอี หรือกิจการขนาดกลางและเล็กที่มีพนักงานน้อยกว่า 10 คน
สาเหตุที่ภาคเอกชนญี่ปุ่นต้องปิดกิจการและประกาศล้มละลายเพิ่มเป็นจำนวนมาก มาจากภาวะการขาดแคลนแรงงานทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งกระทบต่อการผลิตสินค้าและบริการ ทำให้สูญเสียโอกาสทางธุรกิจจำนวนมาก บริษัทเอกชนญี่ปุ่นที่ล้มละลายจากสาเหตุดังกล่าวนั้นมีจำนวน 145 แห่ง โดยพบว่าขาดแคลนแรงงานเพิ่มขึ้น 2.2 เท่า ทำสถิติจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่มีการสำรวจในปี 2013 ธุรกิจการก่อสร้างประกาศล้มละลายมากถึง 947 คดี เพิ่มขึ้น 20.6% สาเหตุจากกฎระเบียบการทำงานล่วงเวลาที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายดังกล่าวพุ่งสูงขึ้น ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน รวมถึงราคาของวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น
ภาวะเงินเฟ้อทรงตัวสูงต่อเนื่องมีผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการสูงต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะผลักภาระต้นทุนดังกล่าวด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้าก็ตาม โดยมีจำนวน 374 แห่ง หรือ 23.4% ที่มีค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่มีจำนวน 327 แห่งที่ไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ดอกเบี้ย 0% ให้กับรัฐบาลที่เยียวยาในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนบริษัทล้มละลายถึง 8,169 ราย ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน ปี 2009 หรือเมื่อ 15 ปีผ่านมา สาเหตุจากวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วโลก