นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกะทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการแก้ปัญหาอุตสาหกรรมประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากประกันโควิด เจอจ่ายจบ ภายหลังจากนำเรื่องหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกะทรงการคลัง โดยทางนายกฯ ได้มอบหมายให้ตนเป็นผู้ดูแลปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุมรับฟังข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) รวมถึงสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แล้ว
หลังจากมีการพูดคุยกับหน่วยงานกำกับมาแล้วหลายรอบ ในช่วงต้นปีจะมีการนัดประชุมร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย เพื่อรับทราบมุมมองจากภาคเอกชนเพิ่มเติม เพื่อเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากโควิดเจอจ่ายจบ และนำมาหาทางออกที่เหมาะสม โดยตั้งเป้าหมายจะให้ได้ข้อสรุปภายใน 1-2 เดือนนี้
อย่างไรก้ตามยอมรับว่าภาระหนี้สินของ กองทุนประกันวินาศภัย ที่ต้องเข้ามารับผิดชอบผู้ทำประกัน จากกรณีบริษัทประกันภัยที่ล้มไปก่อนหน้านี้เป็นวงเงินที่มาก ซึ่งล่าสุดได้รับรายงานอยู่ที่ 5.2 หมื่นล้านบาท และหากมีเพิกถอนใบอนุญาตบริษัทอื่นเข้ามาเพิ่มอีก ก็จะทำให้หนี้สินของกองทุนฯ พุ่งไปอีกเป็น 8-9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่เมื่อเทียบกับรายได้ของกองทุนฯ ที่เข้ามาเพียงปีละ 1,200 ล้านบาท และถ้าหักค่าใช้จ่ายไป ก็จะมีเงินไว้จ่ายแก่เจ้าหนี้ผู้เอาประกันเพียงปีละ 800-900 ล้านบาทเท่านั้น
ดังนั้น จึงมีการพูดคุยถึงแนวทางแก้ปัญหาอยู่หลายแนวทาง แต่ยังไม่ตกผลึกทั้งหมด เพราะอยากขอฟังข้อมูลให้ครบทั้งหมดก่อน โดยเฉพาะเรื่องแหล่งที่มาของเงิน ที่จะนำมาใช้จ่ายให้ผู้ทำประกันโควิดเจอจ่ายจบนั้นจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะทราบว่าตอนนี้ กระทรวงการคลังไม่สามารถเข้าไปค้ำประกันให้กับกองทุนฯ ในการเข้าไปขอกู้ได้ เพราะติดขัดเรื่องระเบียบบางประการ และหากจะให้กองทุนฯไปหากู้เอง โดยไม่มีคลังค้ำประกันก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงมาก จึงจะได้เงินเข้ามา
ส่วนแนวทางที่มีการเสนอว่าจะขอเรียกเก็บเงินสมทบจากบริษัทประกันวินาศภัย เข้ากองทุนฯเพิ่มนั้น ส่วนตัวมองว่าคงจะไม่ทำ เพราะล่าสุดเพิ่งมีการเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มจาก 0.25% เป็น 0.50% ซึ่งเต็มเพดานที่กฎหมายที่กำหนด หากจะเพิ่มมากไปกว่านั้นเป็น 2-2.5% ก็จะต้องมีการแก้กฎหมายใหม่อีกอาจต้องใช้เวลา และที่สำคัญการเก็บเงินสมทบเพิ่มดูจะไม่เป็นธรรมต่อบริษัทประกันภัยที่ทำธุรกิจมาปกติ ที่จะต้องมามีภาระเพิ่มจากปัญหาที่ไม่ได้ทำ