นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุมกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAVG) ของธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้ว่าการธนาคารโลก 11 ประเทศสมาชิกเข้าร่วมประกอบด้วย ฟิจิ บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา มาเลเซีย เนปาล สิงคโปร์ ตองกา เวียดนาม และไทย และมีผู้ว่าการธนาคารกลางในฐานะผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศเข้าร่วม 13 ประเทศ ประกอบด้วย สมาชิก 11 ประเทศข้างต้น ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา
ที่ประชุมหารือเชิงนโยบายและการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาอาจเกิดขึ้นจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ และปัญหาด้านหนี้สาธารณะ รวมถึงการระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ต่างๆ ต่อไปในอนาคต การปรับสมดุลของการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐและการมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ การจัดการหนี้ และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล
นายเผ่าภูมิ ยกตัวอย่างนโยบายของประเทศไทย ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีของรัฐ ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและฐานข้อมูลขนาดใหญ่ การขยายฐานภาษีจากธุรกิจออนไลน์และดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ตามกรอบความร่วมมือของ OECD และยังเสนอแนวคิด การยกเว้นการลดหย่อนภาษีที่ไม่จำเป็นเพิ่มเติม เพื่อหารายได้เข้ารัฐ ผู้แทนจากธนาคารโลกและ IMF ให้ความเห็นว่าประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน มีบริบทและความท้าทายแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องมีการปรับความสมดุลด้านการคลังในระยะเวลาที่ต่างกันให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ
นายเผ่าภูมิ ยังได้หารือทวิภาคีกับนาง Manuella V. Ferro รองประธานธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจไทย ได้เน้นย้ำถึงเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย ตลอดจนนโยบายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและดิจิทัล โดยรองประธานธนาคารโลก ได้แสดงความเชื่อมั่นในพื้นฐานเศรษฐกิจไทย มองว่านโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการเงิน นโยบายสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ เพื่อส่งเสริมการออมสำหรับผู้สูงอายุ การเอื้อต่อการขยายตัวของการลงทุนจากต่างชาติ รองประธานธนาคารโลกแสดงความสนใจกับนโยบายสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ จึงเตรียมศึกษาตัวอย่างของประเทศไทย เพื่อขยายผลเพิ่มเติม ต่อไป
ขณะเดียวกันยังได้หารือทวิภาคีกับผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหารือถึงความร่วมมือระหว่าง JBIC และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โดยผู้ว่าการ JBIC ได้แสดงความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก และเชื่อมั่นว่านโยบายของภาครัฐจะเอื้อต่อการลงทุนเพื่อการพัฒนาสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและเศรษฐกิจสีเขียวในระยะยาว
โดยในระหว่างการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนกับนาง Kristalina Georgieva กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศเพื่อรับฟังรายงานเกี่ยวกับพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคอาเซียน โดยได้ประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.8 ในปี 2567 และจะขยายตัวร้อยละ 3.0 ในปี 2568 โดย IMF พร้อมสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน