คลัง-แบงก์ชาติ เตรียมปล่อยมาตรการแก้หนี้ชุดใหญ่ เจาะแก้หนี้เสีย หนี้ครัวเรือน รวม 2.3 ล้านบัญชี รวม 1.31 ล้านล้านบาท

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการแก้หนี้ภาคครัวเรือนสำหรับหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ และหนี้กลุ่มเอสเอ็มอี จะแถลงในวันที่ 11 ธันวาคมนี้ ทางกระทรวงการคลังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหลายฝ่าย ไม่ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สถาบันการเงินเฉพาะกิจรัฐ สมาคมธนาคารไทย เป็นต้น โดยมาตรการที่จะประกาศออกมานั้นจะเป็นมาตรการชุดใหญ่กว่าที่คุยกันตอนแรก และครอบคลุมการแก้หนี้ของประชาชนได้มากขึ้น ส่วนจะมีการขยายการแก้หนี้ถึงบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลด้วยหรือไม่นั้น ขอให้ติดตามรายละเอียดในวันแถลงข่าว เบื้องต้นกลไกที่จะนำมาดำเนินการนั้น ยังคงเดิมที่เคยบอกไปก่อนหน้านี้ เช่น พักดอกเบี้ย 3 ปี จ่ายเฉพาะเงินต้น เป็นต้น ทั้งนี้ ได้ขยายใหญ่ให้ครอบคลุมมากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อมากขึ้น

โดย เวลา 14.00 น.ของวันที่ 11 ธันวาคม ที่ ธปท.นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง เป็นประธานงานเปิดตัวโครงการ คุณสู้ เราช่วย เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs มีนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และหนังสือแสดงเจตนารมณ์ ระหว่างกระทรวงการคลัง ธปท. สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ การแก้หนี้ครั้งนี้จะเป็นมาตรการแก้หนี้ภาคครัวเรือนในกลุ่มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของประชาชนที่สามารถฟื้นกลับมาเป็นหนี้ดีได้ (NPL) เฉพาะหนี้เกิดก่อนวันที่ 31 ตุลาคม 2567 รวม 2.3 ล้านบัญชี รวม 1.31 ล้านล้านบาท

แบ่งเป็น 1.หนี้ที่อยู่อาศัย จะเข้าไปช่วยในมูลหนี้ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย เป็นหนี้เอ็นพีแอลไม่เกิน 1 ปี 4.6 แสนบัญชี มูลหนี้ 4.8 แสนล้านบาท 2.หนี้รถยนต์ มูลหนี้ไม่เกิน 8 แสนบาท เป็นหนี้เอ็นพีแอล ไม่เกิน 1 ปี และแขวนดอกเบี้ย 1.4 ล้านบัญชี มูลหนี้ 3.7 แสนล้านบาท และ 3.หนี้เอสเอ็มอีขอสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ ยอดสินเชื่อไม่เกิน 3 ล้านบาท 4.3 แสนบัญชี มูลหนี้ 4.54 แสนล้านบาท

เบื้องต้น รูปแบบของมาตรการแก้หนี้ เช่น หากผู้เข้าร่วมมาตรการเป็นหนี้เสียสินเชื่อบ้าน ช่วง 3 ปีที่เข้าโครงการ สามารถเลือกชำระค่างวดแบบเต็มจำนวนเดิม หรือเลือกผ่อนครึ่งหนึ่งก็ได้ เงินที่ชำระมาจะนำไปตัดเงินต้น 100% และลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เหลือ 0.23% จากเดิม 0.46% เพื่อตั้งกองทุนสำหรับมาตรการแก้หนี้ ยืดเวลาใช้หนี้ไป ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles