ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปี 2567 คาดว่าตลาดโรงเรียนนานาชาติจะเติบโต 13% จากปีก่อนหน้า และมีมูลค่ามากกว่า 8 หมื่นล้านบาท จากจำนวนนักเรียนและโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าเล่าเรียนที่มีการปรับตัวสูงขึ้น โรงเรียนนานาชาติยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปสู่นอกกรุงเทพฯ มากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ที่จำกัดในเมืองหลวง และการแข่งขันของจำนวนโรงเรียนในกรุงเทพฯ ที่หนาแน่น
แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของนักเรียนโรงเรียนนานาชาติในไทยเกิดจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือการเพิ่มขึ้นของนักเรียนต่างชาติที่สอดคล้องกับจำนวนชาวต่างชาติในตำแหน่งผู้บริหารที่เข้ามาทำงานในไทย ที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 0.6% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ความนิยมในหลักสูตรการศึกษาต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยและทันการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเมื่อเทียบกับหลักสูตรไทย รวมไปถึงศักยภาพการลงทุนด้านการศึกษาของผู้ปกครองที่สูงขึ้น สะท้อนจากคาดการณ์จำนวนคนที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ฯ ในไทยจะเพิ่มขึ้น 24% ระหว่างปี 2566-2571 ยังเป็นปัจจัยหลักที่หนุนการเติบโตของจำนวนนักเรียน โรงเรียนนานาชาติ
แนวโน้มธุรกิจโรงเรียนนานาชาตินั้น การแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติ พบว่า โรงเรียนนานาชาติมีแนวโน้มขยายตัวสู่นอกกรุงเทพฯมากขึ้น ในช่วงปี 2555-2567 อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี ของจำนวนนักเรียนและจำนวนโรงเรียนนานาชาติที่ตั้งในภูมิภาคอื่นจะสูงกว่าของกรุงเทพฯ ถึง 4.3% และ 6.3% ตามลำดับ โดยพบว่า ด้านจำนวนนักเรียนนานาชาติมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในกรุงเทพอยู่ที่ 5.3% ขณะที่ตามต่างจังหวัดอยู่ที่ 9.6% สอดคล้องกับจำนวนโรงเรียนนานาชาติ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในกรุงเทพอยู่ที่ 2.4% ขณะที่ตามต่างจังหวัดอยู่ที่ 8.7%
การแข่งขันในธุรกิจโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มขึ้น และพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่จำกัดทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติต้องสำรวจตลาดใหม่ๆ ในหัวเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่ ระยอง และภูเก็ต เป็นต้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจใน 21 เมืองหลักได้เติบโตในอัตราที่สูงกว่ากรุงเทพฯ โดยในปี 2565 อัตราการเติบโต GDP ต่อหัวของ 21 เมืองหลักสูงกว่ากรุงเทพฯ ถึง 2% ซึ่งทำให้ตลาดนอกกรุงเทพฯ ดูน่าสนใจมากขึ้น
แนวโน้มนี้แสดงให้เห็นโอกาสขยายธุรกิจโรงเรียนนานาชาติไปยังพื้นที่นอกกรุงเทพฯ โดยเฉพาะภาคกลางและตะวันออก ซึ่งน่าจะเป็นตลาดศักยภาพ เพราะมีจำนวนวนครัวเรือนรายได้เกิน 100,000 บาทต่อเดือน รองจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยจำนวนครัวเรือนมีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป พบว่า กรุงเทพ-ปริมณฑล 201,649 บาท ภาคกลาง-ตะวันออก 113,082 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) 65,590 บาท ภาคใต้ 64,863 บาท และภาคเหนือ 63,005 บาท อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำนวนครัวเรือนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในแต่ละภูมิภาคมีจำนวนน้อยกว่ากรุงเทพฯ ทำให้ผู้ประกอบการอาจจะต้องปรับลดค่าเล่าเรียนให้สอดคล้องกับรายได้ผู้ปกครองที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
ตลาดโรงเรียนนานาชาติในไทยนั้น คาดว่าในปี 2567 มูลค่าตลาดโรงเรียนนานาชาติไทยจะเติบโตราวร้อยละ 13 จากปี 2566 แตะ 8.7 หมื่นล้านบาท โดยมีการเติบโตตั้งแต่ปี 2563 ที่ 57,000 ล้าน ปี 2564 ที่ 60,000 ล้าน ปี 2565 ที่ 66,000 ล้าน ปี 2566 ที่ 77,000 ล้าน รวมเติบโต 4 ปีติดกันก่อนถึงปีนี้
สำหรับความเสี่ยงของกิจการโรงเรียนนานาชาติ มีดังนี้ การเพิ่มขึ้นของค่าเล่าเรียนโรงเรียนนานาชาติอาจทำให้ผู้ปกครองพิจารณาส่งบุตรหลานไปศึกษาในต่างประเทศแทน เนื่องจากช่องว่างระหว่างค่าเล่าเรียนเริ่มลดลง ในปีการศึกษา 2567 ค่าเล่าเรียนเฉลี่ยต่อปีของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยอยู่ที่ 764,484 บาท ในขณะที่ค่าเล่าเรียนเฉลี่ยต่อปีของโรงเรียนประจำในนิวซีแลนด์อยู่ที่ประมาณ 1,150,208 บาท
โรงเรียนนานาชาติอาจเผชิญกับความท้าทายจากการแข่งขันกับโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยที่พัฒนาคุณภาพและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า ผู้ปกครองอาจตัดสินใจเปลี่ยนไปเลือกโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยที่มีการเปิดสอนโปรแกรมภาษาอังกฤษ และสอนหลายภาษา เช่น ไทย อังกฤษ และจีน เป็นต้น ซึ่งท้าทายจุดแข็งของโรงเรียนนานาชาติในด้านภาษา
การพัฒนาทางเทคโนโลยีทำให้การเรียนโฮมสคูลง่ายขึ้น และเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเรียนโฮมสคูลต่ำกว่าการเรียนในโรงเรียนนานาชาติ จึงอาจส่งผลกระทบต่อจำนวนนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติได้ โดยค่าใช้จ่ายในการสอบ GED (เทียบวุฒิมัธยมปลายของสหรัฐฯ) รวมกับค่ากวดวิชาแบบเรียนตัวต่อตัว 100 ชั่วโมง จะอยู่ที่ประมาณ 160,800 บาท