ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า สินเชื่อ บ้านในระบบสถาบันการเงินไทยยังชะลอตัวสอดคล้องกับภาวะอ่อนแอของตลาดที่อยู่อาศัยในภาพรวม ทั้งนี้ หากมองเฉพาะในระบบแบงก์ สินเชื่อบ้านระบบแบงก์เติบโตเพียง 0.8% เทียบช่วงเดียวกันในปีผ่านมา ในไตรมาส 2/2567 ซึ่งทำให้ภาพรวมในปี 2567 อาจเติบโตไม่เกิน 1.2% ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดในรอบ 23 ปี สถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวทั่วถึงมีผลกระทบต่อรายได้ภาคครัวเรือน และอาจทำให้สัดส่วน NPLs สินเชื่อบ้านในระบบแบงก์ปี 2567 ขยับสูงขึ้นกว่าระดับ 3.90% ต่อสินเชื่อรวม จากระดับ 3.71% ในไตรมาส 2/2567
นอกจากปัญหาคุณภาพหนี้แล้ว ในช่วงที่เหลือของปี 2567 อาจเห็นการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่เน้นกลุ่มรายได้กลาง-บนและตลาดรีไฟแนนซ์มากขึ้น และยังต้องติดตามมาตรการดูแลการก่อหนี้และแก้หนี้ยั่งยืนของทางการเพิ่มเติมซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อแนวโน้มสินเชื่อบ้านในระยะข้างหน้า
ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาสที่ 2/2567 ของระบบสถาบันการเงินไทย นำโดย สินเชื่อบ้านของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน ขยายตัว 3.4% จากระยะเดียวกันของปีก่อน เทียบช่วงเดียวกันในปีผ่านมา ซึ่งนับเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2545 ชะลอลงจากที่เติบโต 3.9% เทียบช่วงเดียวกันในปีผ่านมา ในไตรมาสแรกของปี 2567 และย้ำการชะลอตัวต่อเนื่องตลอด 6 ไตรมาสที่ผ่านมา หลังมาตรการผ่อนปรนในช่วงโควิด-19 ทยอยสิ้นสุดลง
การชะลอลงของยอดคงค้างสินเชื่อบ้านดังกล่าวเป็นผลจากฝั่งธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก (สินเชื่อบ้านระบบธนาคารพาณิชย์ เติบโต 0.8 เทียบช่วงเดียวกันในปีผ่านมา ในไตรมาส 2/2567 ชะลอลงจาก 1.0% เทียบช่วงเดียวกันในปีผ่านมา ในไตรมาส 1/2567) โดยสินเชื่อบ้านระบบธนาคารพาณิชย์ ที่ครองส่วนแบ่งประมาณ 55-56% ของตลาดสินเชื่อบ้านทั้งหมด ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา ท่ามกลางปัญหาอำนาจซื้อและรายได้ของภาคครัวเรือนที่ถดถอยลง สวนทางกับภาระหนี้สินของครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง จนทำให้สินเชื่อปล่อยใหม่ของธนาคารพาณิชย์หดตัวลึกทั้งในกลุ่มบ้านแนวราบและอาคารชุด
เป็นที่น่าสังเกตว่า มูลค่าสินเชื่อบ้านต่อบัญชีเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ อันสะท้อนถึงระดับรายได้ของผู้กู้ที่ขยับสูงขึ้น ซึ่งผู้กู้กลุ่มนี้มีความยืดหยุ่นต่อความเสี่ยงและผลกระทบจากปัจจัยแวดล้อมต่อรายได้และค่าครองชีพมากกว่า ขณะที่แม้สินเชื่อบ้านใหม่จะหดตัว แต่สินเชื่อบ้านใหม่เพื่อการรีไฟแนนซ์กลับเห็นอัตราการขยายตัวเป็นบวก ทำให้มีส่วนแบ่งตลาดต่อสินเชื่อบ้านใหม่ทั้งหมดเพิ่มขึ้นมาที่ 21.3% ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 เทียบกับ 13.6% ณ สิ้นปี 2563
มองออกไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ยอดคงค้างสินเชื่อบ้านที่ปล่อยโดยธนาคารพาณิชย์จะขยายตัวไม่เกิน 1.2% เทียบช่วงเดียวกันในปีผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตรายปีของสินเชื่อบ้านระบบแบงก์ที่ต่ำที่สุดในรอบ 23 ปี เนื่องจากปัญหาด้านรายได้และภาระหนี้สินสูงซึ่งกระทบความสามารถในการก่อหนี้ก้อนใหญ่ของครัวเรือน โดยเฉพาะตลาดใหม่อย่างเช่นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มจากหนี้ก้อนเล็กๆ และหนี้รถ จนทำให้โอกาสการก่อหนี้บ้านลดลง