ค่ายรถเอ็มจีมองหนี้เสียรถยนต์ผ่านจุดสูงสุดแล้ว ตลาดรถยนต์ไทยอาจใช้เวลานาน 2 ปีฟื้นตัวกลับเต็ม 100% ในปี 2026 ดอกเบี้ยแบงก์ชาติลดลงมีผลระดับหนึ่ง แต่กลไกฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีผลสำคัญสุด

ค่ายรถเอ็มจีมอง หนี้เสียรถยนต์ ผ่านจุดสูงสุดแล้ว ตลาดรถยนต์ไทยอาจใช้เวลานาน 2 ปีฟื้นตัวกลับเต็ม 100% ในปี 2026 ดอกเบี้ยแบงก์ชาติลดลงมีผลระดับหนึ่ง แต่กลไกฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีผลสำคัญสุด

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า กรณีธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปีนั้น มีผลในระดับหนึ่งซึ่งไม่มากไม่น้อยต่อการที่ผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อรถยนต์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยอดขายภาพรวมตลาดรถยนต์ในไทยใน 8-9 เดือนแรกของปี 2567 นี้ ที่มียอดสะสมกว่า 400,000 คันนั้น อาจทำให้ช่วงที่เหลือของปีนี้มีความท้าทายอย่างมากในการที่จะมียอดขายทั้งตลาดเพิ่มอีกราว 200,000 คัน เพื่อเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ที่ 600,000 คัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของตลาดรถยนต์ในประเทศไทยโดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มีอยู่ 2 ปัจจัย ได้แก่ กลไกในการฟื้นภาวะเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ซึ่งน่าจะมีสัญญาณในช่วงไตรมาสที่ 4 นี้ โดยเป็นผลมาจากตลาดท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหลักสำคัญ ปัจจัยต่อมานั้น พบว่าภาวะหนี้เสียของตลาดรถยนต์ในไทยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ซึ่งสถาบันการเงินที่เคยใช้มาตรการเข้มข้นในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ อาจจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวลงบ้าง ขณะที่ภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ทางภาคเหนือของไทยนั้น จะส่งผลกระทบต่อทางจิตวิทยาเป็นหลัก ซึ่งมองว่าขณะนี้เหตุการณ์ดังกล่าวคลี่คลายลง และทยอยกลับสู่ภาวะปกติแล้ว

รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันตลาดรถยนต์ในภาพรวมของไทยตกต่ำลงเฉลี่ยราว 30% ดังนั้น หากตลาดรถยนต์ในไทยฟื้นตัวโดยกลไกของตลาดเอง อาจต้องใช้เวลาราว 2 ปีจากนี้ไป หรือจนถึงปี 2026 ที่ตลาดรถยนต์ในไทยจะมียอดขายในภาพรวมกลับไปอยู่ที่ระดับ 800,000 คัน ซึ่งเป็นภาวะปกติของตลาดรถยนต์ อย่างไรก็ตาม หากมีมาตรการความช่วยเหลือจากรัฐบาล อาจทำให้การฟื้นตัวของตลาดรถยนต์ในไทยกลับไปสู่ภาวะปกติเป็นไปได้เร็วขึ้น

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles