ค่าเงินบาท อ่อนค่าลงแรง ตามดอลลาร์แข็งค่า หลังจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐออกมาดี ฟันด์โฟลว์กดดัน

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.33 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก”จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  33.04 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.85-33.65 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.45 บาทต่อดอลลาร์  

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องและมีจังหวะอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว จนเข้าใกล้โซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 33.02-33.46 บาทต่อดอลลาร์) หลังทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างปรับตัวขึ้น จากรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ทั้งยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ที่เพิ่มขึ้นกว่า 2.54 แสนตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานก็ลดลงสู่ระดับ 4.1% ขณะที่อัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) ก็เร่งขึ้น +4.0%y/y ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่าง “เลิกคาดหวัง” การเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้และต้นปีหน้า พร้อมมองเฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยใกล้เคียงกับ Dot Plot ล่าสุด 

อย่างไรก็ดี เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่อง จนทะลุโซนแนวต้านสำคัญ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ หลังราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง อีกทั้งผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ 

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจค่อยเป็นค่อยไป หลังโมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์เริ่มชะลอลง แต่แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจยังคงกดดันเงินบาทอยู่ อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจยังได้แรงหนุน ตราบใดที่ราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นได้ ซึ่งต้องติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางและการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด 

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์อาจชะลอลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดได้เลิกคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ทว่าเงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนในช่วงตลาดกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง แต่หากอัตราเงินเฟ้อชะลอลงกว่าคาด ก็อาจกดดันเงินดอลลาร์ได้

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นตามการปรับลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด

ส่วนสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก (เฟดและECB) พร้อมระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของไทยและสหรัฐฯ

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles