จับตาเศรษฐกิจไทยปี 68 โตชะลอลง จากแรงหนุนส่งออก ท่องเที่ยวลดลง สงครามการค้าเริ่มส่งผลกระทบ ภาคการผลิตไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะเติบโตช้าลงกว่าปี 2567 เล็กน้อย ตามแรงหนุนท่องเที่ยว ส่งออกที่ลดลง ท่ามกลางความเสี่ยงสงครามการค้า การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน และภาคการผลิตไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวต่อ GDP เริ่มลดลง หลังจำนวนเข้าใกล้ระดับก่อนโควิด

ทั้งนี้ โมเมนตัมการเติบโตของการท่องเที่ยวปี 2568 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2567 ที่คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวรวมไว้ที่ 35.6 ล้านคน มาอยู่ที่ 37.5 ล้านคนในปี 2568 เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การแข่งขันระหว่างประเทศในการดึงนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการเดินทาง

การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเคยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2565-2567 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากกำลังซื้อที่ลดลง หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทิศทางสินเชื่อที่โตช้าลง ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการแจกเงิน 10,000 บาทในเฟสถัด ๆ ไปในวงเงินงบประมาณอีกราว 1.8 แสนล้านบาท คาดว่าจะส่งผลบวกต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนราว 0.2-0.3% ของ GDP

การใช้จ่ายภาครัฐในปี 2568 ได้แรงหนุนจากฐานที่ต่ำและการเบิกจ่ายต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2568 โดยกรอบงบลงทุนภาครัฐในปี 2568 เพิ่มขึ้น 7.8% และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นราว 2.0% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่คาดว่าอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนสำหรับปีงบประมาณ 2568 จะอยู่ที่ 75-80% สูงกว่า 65% ในปี 2567

การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับการหดตัวที่เกิดขึ้นในปี 2567 สอดคล้องกับมูลค่าโครงการลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนเม็ดเงินลงทุนในวัสดุอุปกรณ์ (Equipment) ให้เพิ่มขึ้น

การเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเกิดจากการย้ายการผลิตของจีน หลังจากการเกิดสงครามการค้ารอบแรก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงมาตรการภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งผลต่อการไหลเข้ามาของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในศูนย์ข้อมูล (Data Center) เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของ Data Center ทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม การไหลเข้ามาของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติในไทย ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะในการลงทุนการผลิตรถยนต์ EV ในไทย จากภาวะตลาดโลกที่เผชิญภาวะอุปสงค์ลดลง ท่ามกลางอุปทานสูง ส่งผลต่อการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้การเข้ามาลงทุนผลิตนถยนต์ EV ในไทยล่าช้าออกไป นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่สหรัฐฯ ปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในรายการที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้ากับไทยสูง หรือในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานของจีน ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนจริงของนักลงทุนต่างชาติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า สงครามการค้ารอบใหม่ จะมีผลสุทธิเป็นลบต่อเศรษฐกิจไทย โดยประเทศไทย เป็น 1 ใน 15 ประเทศที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้าด้วยสูงสุด มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้การส่งออกไทยในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ราว 2.5% แม้จะได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการเร่งนำเข้าสินค้าก่อนมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้า และวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม

สำหรับความคาดหวังต่อผลบวกจากสงครามการค้ารอบใหม่ ที่จะส่งผลต่อเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาเพิ่ม ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อนิคมอุตสาหกรรม อาคารสำนักงานนั้น ยังคงมีความไม่แน่นอน ต้องรอการวางกลยุทธ์ของซัพพลายเชนต่าง ๆ และจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคด้วย

ผลกระทบทางตรง: การส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ คาดว่าจะชะลอลง ซึ่งสินค้าไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากสุด คือ กลุ่มที่ไทยได้รับอานิงส์จากการเข้ามาลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตของจีนมายังไทยในสงครามการค้ารอบแรก อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โซลาร์เซลล์ และยางรถยนต์

ขณะเดียวกัน ไทยอาจถูกเรียกร้องให้นำเข้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น ในกลุ่มที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ น้อยเมื่อเทียบกับการนำเข้าจากโลก ยิ่งหากเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ มีความได้เปรียบในด้านการผลิต และมีการส่งออกไปยังตลาดโลกเป็นอันดับต้น ๆ เช่น ปิโตรเลียม อุปกรณ์การแพทย์ ตลอดจนสินค้าที่ไทยยังไม่ได้เปิดตลาดเต็มที่ เช่น งสินค้าเกษตร อาทิ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี เนื้อสัตว์ เป็นต้น

ผลกระทบทางอ้อม: การแข่งขันกับสินค้าจีน ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นการเข้ามาในไทยของสินค้าจีนที่มีข้อได้เปรียบด้านราคาอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งมาจากกำลังผลิตส่วนเกินของอุตสาหกรรมจีนที่มีมาก ส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มขึ้น และมีผลกลับมายังภาคผลิตของไทย อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก และเสื้อผ้า เป็นต้น

ทั้งนี้ หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนในอัตรา 60% ภาคการผลิตไทยคงจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติม ในขณะเดียวกัน สินค้าส่งออกไทยจะต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น จากการไหลเข้ามาของสินค้าจีนในตลาดภูมิภาค โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนรถยนต์ อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ คงขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา และขนาดการปรับขึ้นภาษี ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ และประเภทสินค้า

นอกจากนี้ ภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว ก็จะได้รับผลกระทบมากขึ้น หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงแรงกว่าคาด เนื่องจากไทยพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวจีนเป็นอันดับ 1 ของตลาดต่างชาติเที่ยวไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาคการผลิตไทยยังมีแนวโน้มอ่อนแอ จากประเด็นเชิงโครงสร้างภาคการผลิต ที่ผลิตสินค้าไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก โดย 10% ของ GDP ยังเป็นการผลิตที่อยู่ในอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ เครื่องหนัง พลาสติก วัสดุก่อสร้าง อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ซึ่งมีความสามารถทางการแข่งขันที่ลดน้อยถอยลงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และยังเผชิญต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ในขณะที่แนวโน้มข้างหน้าจะเจอการการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการเข้ามาของสินค้าจีนทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก จะยิ่งเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อภาคผลิตไทย

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ราว 0.7% ภายใต้สมมติฐาน ภาครัฐมีแนวโน้มจะยังคงราคาพลังงานในประเทศในระดับใกล้เคียงปี 2567 แม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง แต่ราคาขายปลีกพลังงานในประเทศ คงไม่ลดลงมากเท่ากับการลดลงของราคาพลังงานในตลาดโลก เนื่องจากภาระหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งราคาอาหารสด คาดว่าจะปรับสูงขึ้นตามฐานราคาเนื้อหมูที่อยู่ในระดับต่ำในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2567 หลังจากราคาเนื้อหมูทยอยพลิกกลับมาเป็นบวกในช่วงไตรมาส 4/2567

ขณะที่มาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568 มาอยู่ที่เฉลี่ย 355 บาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.9% คาดว่าจะส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นราว 0.08% อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อในปี 2568 ยังมีความเสี่ยงจากมาตรการภาครัฐ โดยเฉพาะนโยบายปฏิรูปภาษี

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในปี 2568 อีก 2 ครั้ง ลงมาอยู่ที่ราว 1.75% ณ สิ้นปี 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ รวมถึงความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่เผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น และมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายของ ธปท. ที่ 1-3% อย่างต่อเนื่อง

* หนี้ครัวเรือนชะลอตัว สินเชื่อแบงก์พาณิชย์โตช้า-โตต่ำต่อเนื่อง 4 ปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2568 คาดว่า อัตราการเติบโตของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน อาจชะลอลงต่อเนื่อง และทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ชะลอลงมาอยู่ในกรอบ 85.0-87.5% ในปี 2568 ซึ่งแม้จะต่ำลงจากกรอบประมาณการสำหรับปี 2567 ที่ 88.5-89.5% แต่ก็ยังคงสูงกว่าระดับยั่งยืนที่ 80.0% ต่อ GDP ตามการศึกษาของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS)

ด้านสถานการณ์สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (ระบบแบงก์ไทย) ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าในปี 2568 โดยภาพรวมสินเชื่อระบบแบงก์ไทย อาจเติบโตในระดับต่ำที่ประมาณ 0.6% แม้จะเป็นระดับที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับที่คาดว่า สินเชื่อจะปิดสิ้นปี 2567 ในแดนลบ หรือหดตัวลงประมาณ 1.8% แต่ก็คงต้องยอมรับว่า อัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ระดับดังกล่าว เป็นระดับที่ไม่สูง และต่ำกว่าอัตราการเติบโตของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Nominal GDP Growth) ติดต่อกันเป็นปีที่ 4

สะท้อนถึงผลกระทบจากความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ที่ไม่เพียงมีผลต่อการเบิกใช้สินเชื่อ และความสามารถในการกู้ยืมของทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน แต่ยังมีผลต่อการพิจารณาความเสี่ยงด้านเครดิต และการเฝ้าระวังดูแลปัญหาคุณภาพหนี้ในฝั่งของสถาบันการเงิน หลังจากที่ข้อมูลล่าสุดในไตรมาสที่ 3/2567 สะท้อนว่า สินเชื่อด้อยคุณภาพ (หรือ NPLs) และสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (หรือ Stage 2) ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2568 คาดว่าสินเชื่อธุรกิจ มีโอกาสฟื้นตัวได้ดีกว่าสินเชื่อรายย่อย โดยสินเชื่อธุรกิจในภาพรวม อาจพลิกจากที่หดตัวลงตลอดช่วงปี 2565-2567 มาขยายตัวที่ระดับประมาณ 1.5% ท่ามกลางอานิสงส์จากบรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐในปี 2568 ที่น่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าปี 2567 อย่างไรก็ดี แรงขับเคลื่อนของสินเชื่อธุรกิจ อาจเริ่มจากการทยอยเบิกใช้สินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน และสินเชื่อเพื่อการลงทุนของธุรกิจรายใหญ่ ขณะที่การฟื้นตัวของสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ยังคงอ่อนแอ ท่ามกลางข้อจำกัดในการฟื้นตัวของธุรกิจ เพราะต้องเผชิญปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งกำลังซื้อที่อ่อนแอ การแข่งขัน และการฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม

สำหรับสินเชื่อรายย่อยในระบบแบงก์ไทย คาดว่า สินเชื่อรายย่อยยังคงมีแนวโน้มที่จะหดตัวต่อเนื่องในปี 2568 โดยอาจหดตัวลงประมาณ 1.0% ต่อเนื่องจากที่คาดว่าจะหดตัวลงประมาณ 2.0% ในปี 2567 เนื่องจากกรอบการฟื้นตัวที่จำกัดของรายได้ในภาคครัวเรือน และภาระหนี้สินที่มีอยู่เดิม มีผลกระทบต่อความสามารถในการก่อหนี้ก้อนใหม่ โดยเฉพาะหนี้ที่มีวงเงินต่อสัญญาที่ค่อนข้างสูง เช่น หนี้บ้าน และหนี้รถยนต์

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles