ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ความต้องการชิ้นส่วนรถยนต์ประเภท OEM (Original Equipment Manufacturing) ที่ส่งเข้าสู่สายการผลิตรถยนต์ และมีส่วนแบ่งในยอดขายชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตในไทยมากถึงกว่า 3 ใน 4 ส่วนนี้มีแนวโน้มหดตัวในปี 2567 โดยยอดขายในประเทศคาดหดตัว 11.9% และยอดส่งออกหดตัว 2.9% หลังปริมาณการผลิตรถยนต์มีแนวโน้มหดตัวสูงจากทั้งในไทยและต่างประเทศ
นอกจากนี้ ส่วนชิ้นส่วน REM (Replacement Equipment Manufacturing) หรือชิ้นส่วนอะไหล่ที่ใช้ในการซ่อมบำรุงรถยนต์ ซึ่งมีส่วนแบ่งในยอดขายชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตในไทยอยู่ 1 ใน 4 ส่วนนั้น คาดว่าในปี 2567 นี้ ยอดขายจะขยายตัวได้ 6.4% สำหรับตลาดในประเทศตามปริมาณรถยนต์จดทะเบียนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนยอดส่งออกคาดขยายตัวน้อยกว่าที่ 2.0% หลังเผชิญปัญหาการแข่งขันจากชิ้นส่วนจีน
ประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในประเทศฐานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หลักแห่งหนึ่งของโลก จากการเป็นฐานประกอบรถยนต์มากกว่า 1.8 ล้านคันในปี 2566 ซึ่งสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก โดยอาศัยห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจร ตั้งแต่การเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบสำคัญหลายรายการ เช่น ยางและพลาสติก เป็นต้น ซึ่งจะนำมาผลิตเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ 2 กลุ่ม ได้แก่ ชิ้นส่วน OEM รองรับการผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วน REM รองรับตลาดซ่อมบำรุง
แนวโน้มอุปสงค์ชิ้นส่วนรถยนต์ไทยประเภท OEM ในปี 2567 คาดว่ายอดขายชิ้นส่วน OEM ไทยในประเทศโดยรวมมีแนวโน้มหดตัว 11.9% เหลือ 5.19 แสนล้านบาท จากปริมาณการผลิตรถยนต์ในไทยที่หดตัว การผลิตรถยนต์ในไทยปี 2567 คาดหดตัว 11.0% เหลือ 1.64 ล้านคัน หลังยอดขายรถในประเทศหดตัวสูง จากปัญหากำลังซื้อผู้บริโภคที่ชะลอลงส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น อีกทั้งการนำเข้ารถไฟฟ้า หรือ BEV ที่เพิ่มขึ้นจากโครงการ EV3.5 ยังทำให้ปริมาณรถที่ผลิตในไทยยิ่งลดลง และแม้จะมีการผลิตรถอีวีชดเชยจากโครงการ EV 3.0 เข้ามา แต่คาดว่าปริมาณจะยังน้อยมากไม่ถึง 20,000 คัน
นอกจากนี้ ชิ้นส่วนในตลาด OEM ไทยที่สามารถเข้าสายการผลิตรถอีวีได้อาจเหลือไม่ถึงครึ่งหนึ่งของที่ใช้ผลิตรถยนต์นั่งและรถปิกอัพในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ราว 60% และ 90% ตามลำดับด้วย ทำให้ความต้องการชิ้นส่วน OEM โดยรวมลดลง ด้านยอดส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ OEM ไทยไปต่างประเทศนั้น ในปี 2567 คาดว่าลดลง 2.9% เหลือ 2.19 แสนล้านบาท เนื่องจากผลจากปริมาณการผลิตรถยนต์ในตลาดส่งออกที่หดตัวลง
ตลาดส่งออกชิ้นส่วน OEM ไทย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนอื่น (ไม่รวมไทย) คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลง 11.2% เหลือ 2.18 ล้านคัน นำโดยอินโดนีเซียที่เจอปัญหายอดขายรถยนต์ในประเทศที่หดตัวสูงจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรถ ขณะที่เวียดนามก็เริ่มหันนำเข้ารถยนต์แทนการผลิตในประเทศมากขึ้น ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้มีส่วนแบ่งการผลิตรถยนต์ในอาเซียนอื่น(ไม่รวมไทย)สูงถึงราว 60% ทำให้การนำเข้าชิ้นส่วน OEM ไทยมีทิศทางที่ลดลงตาม
แนวโน้มอุปสงค์ชิ้นส่วนรถยนต์ไทยประเภท REM นั้น โดยเฉพาะยอดขายชิ้นส่วนรถยนต์ REM ไทยในประเทศในปี 2567 คาดว่า ยอดขายชิ้นส่วน REM ไทยในประเทศน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.4% สู่ 1.24 แสนล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักจากปริมาณรถยนต์สะสมบนถนนที่เพิ่มขึ้นในประเทศ รถยนต์จดทะเบียนสะสมในไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนคาดว่าในปี 2567 จะขึ้นไปสูงถึง 21.26 ล้านคัน โดยมีสัดส่วนของรถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 68% จากผลของภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ผู้บริโภคยืดอายุการใช้งานรถยนต์นานขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้ชิ้นส่วน REM เพิ่มสูงขึ้น
ชิ้นส่วน REM ไทยคาดว่าน่าจะมีส่วนแบ่งในตลาดสูงถึงมากกว่า 60% ส่วนที่เหลือคาดเป็นชิ้นส่วน REM นำเข้า โดยมีจีนเป็นประเทศส่งออกหลักมายังไทย ยอดส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ REM ไทยไปต่างประเทศนั้น คาดว่าขยายตัวเพิ่มเล็กน้อยที่ 2.0% สู่ 2.51 หมื่นล้านบาท หลังเจอการแข่งขันจากชิ้นส่วน REM จีนที่ส่งไปแข่งในตลาดส่งออกเดิมของไทยมากขึ้น
การส่งออกรถยนต์จากจีนที่เริ่มกินส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ส่งออกจากไทย โดยเฉพาะในตลาดหลักอย่างอาเซียนที่มากขึ้น จนในปีที่แล้วไทยเหลือส่วนแบ่งการนำเข้ารถยนต์ของตลาดอาเซียน(ไม่รวมไทย)เพียง 24.6% ซึ่งปัจจัยนี้มีผลทำให้ความต้องการใช้ชิ้นส่วน REM ไทยที่ส่งออกไปยังตลาดอาเซียนลดลงจนเหลือส่วนแบ่งเพียง 19.6% เช่นกัน สวนทางกับการนำเข้าจากจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนมีส่วนแบ่งถึง 25.1%
ผลกระทบต่อการส่งออกชิ้นส่วน REM ไทยในปี 2567 นี้ แม้จะยังไม่มาก เพราะยังมีความต้องการใช้จากรถยนต์เก่าที่เคยส่งออกจากไทยที่อยู่ในตลาดเหล่านั้นค่อนข้างมาก แต่ในอนาคตผลกระทบคาดว่าจะรุนแรงขึ้นหลังจีนมีแนวโน้มส่งออกรถยนต์ไปยังอีกหลายตลาดส่งออกของไทยมากขึ้น
สำหรับความเสี่ยงของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทย มี 3 ด้าน ดังนี้
- การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีรถยนต์ BEV ซึ่งกระทบโดยตรงต่อความต้องการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ใช้น้ำมันเมื่อการผลิต BEV น่าจะเริ่มกินส่วนแบ่งของรถยนต์ใช้น้ำมันอย่างรวดเร็วในอีก 1-2 ปีข้างหน้า
หลังค่ายรถที่เข้าร่วมโครงการ EV3.0 และ EV3.5 ต้องผลิตรถชดเชยการนำเข้าที่ปัจจุบันมีมากกว่า 1 แสนคัน นอกจากนี้ แม้จะมีชิ้นส่วนรถยนต์ไทยบางส่วนที่สามารถเข้าสายการผลิตรถอีวีได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าปริมาณชิ้นส่วนในที่ใช้ในการผลิตรถอีวีนั้นลดน้อยลงมาก และยังมีการนำชิ้นส่วนจากจีนมาผลิตเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งก็จะกระทบโดยตรงต่อชิ้นส่วนรถยนต์ไทย - การแข่งขันกับชิ้นส่วนส่งออกจากจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมากทั้งในประเทศและตลาดส่งออก โดยเป็นผลทั้งจากการเพิ่มกำลังการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของจีนอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ในจีนเอง ซึ่งต้องหาตลาดส่งออกเพื่อให้ผลิตได้ต้นทุนต่ำกว่ากับการที่รถยนต์ส่งออกจากจีนกำลังเผชิญปัญหาการกีดกันการค้าจากสหรัฐฯ สหภาพยุโรป แคนาดา ซึ่งอาจรวมถึงประเทศพันธมิตรอื่นในอนาคต ทำให้ทั้งรถยนต์จากจีนต้องหาตลาดส่งออกมากขึ้น ทั้งมายังไทยหรือตลาดส่งออกเดิมของไทย ซึ่งก็จะกระทบทั้งชิ้นส่วน OEM และ REM ในประเทศของไทยเอง หรือการจะส่งออกไปยังประเทศส่งออกหลักเดิมของไทยที่ลดลงจากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นมาก
- นโยบายรัฐที่อาจมีผลต่อความต้องการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ เช่น การกำจัดซาก หรือรถเก่าแลกรถใหม่ ที่อาจถูกนำมาพิจารณาใหม่ได้อีกในอนาคต เพื่อรักษายอดการผลิตรถยนต์ใหม่ในประเทศ โดยโครงการแม้จะช่วยดึงความต้องการชิ้นส่วน OEM เพิ่มขึ้นได้บ้าง แต่ความต้องการชิ้นส่วน REM ย่อมลดลงจากปริมาณรถเก่าที่หายไป อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาทั้งเรื่องงบประมาณ ประเภทรถที่จะสนับสนุนว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้ชิ้นส่วน OEM ในประเทศจริงหรือไม่ รวมถึงตลาดรถมือสอง