ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยอึ๊งภากรณ์ เปิดเผยว่า ข้อมูลเครดิตบูโรที่ระบุเกี่ยวกับประชากรไทยเป็นหนี้มีประมาณ 25.2 ล้านคน หรือ 38% ของประชากรทั้งประเทศ และมีหนี้ในระบบเฉลี่ยคนละ 540,000 บาท ที่สำคัญ หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้อุปโภคบริโภคที่ 76 % ซึ่งเป็นหนี้อาจไม่ก่อให้เกิดรายได้ ในปัจจุบัน จะพบว่าคนไทยมีพฤติกรรมการเงินที่เน้นใช้ “วันนี้มาก่อนวันหน้า” ทำให้เห็นการเกิดหนี้เป็นวงกว้าง และเป็นหนี้ก้อนใหญ่ รวมถึงพฤติกรรมออมน้อย และนึกถึงการเกษียณมีไม่มากนัก
การศึกษาสถานการณ์หนี้ (Credit Risk) ในช่วง 1 ปีผ่านมา พบว่าคนไทยจำนวนมากมีหนี้ และกำลังมีปัญหาหนี้ มี 22% ของคนไทยที่มีหนี้ในระบบ มีหนี้เสีย และอีก 30% มีพฤติกรรมเสี่ยงเป็นหนี้เรื้อรังถัดมามี 43% ที่จ่ายตามงวดได้ปกติ ทำให้เห็นได้ว่า 46% เริ่มมีหนี้เกินศักยภาพ
กลุ่มลูกหนี้ในไทยสามารถแบ่งเป็น 6 กลุ่ม ตามพฤติกรรมชำระหนี้ และภาวะเกินศักยภาพ ได้แก่ 1.กลุ่ม Healthy จ่ายหนี้ได้ตามปกติ และมีหนี้ตามศักยภาพ มีเพียง 25% 2.Over Leverage จ่ายหนี้ได้ปกติ และเริ่มมีหนี้เกินศักยภาพ 20% 3.กลุ่ม At Risk หรือจ่ายหนี้น้อยสุ่มเสี่ยงเรื้อรัง แต่ยังมีศักยภาพพอในการชำระหนี้ มี 13%
กลุ่มที่ 4.Constrained เสี่ยงมีปัญหาหนี้เรื้อรัง และมีหนี้เกินศักยภาพ 25% 5.NPL หนี้เสีย แต่ยังคงมีศักยภาพในการชำระหนี้ มี 1% 6.Constrained NPL มีอย่างน้อย 1 สัญญาณเป็น NPL และมีหนี้เกินศักยภาพสูงถึง 16% ที่น่าสนใจ คือ ลูกหนี้ในกลุ่มที่ 4, 5 และ 6 นั้น เป็นกลุ่มที่มีปัญหาในการชำระหนี้ มีสัดส่วนรวมกัน 42%
ทั้งนี้ ปัญหาหนี้กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มอายุน้อยและมีรายได้น้อย ซึ่งยากที่จะแก้หนี้ได้ และสิ่งที่น่าสนใจ คือกลุ่มที่มีปัญหานั้นกระจายตัวอยู่ต่างจังหวัด และกลุ่มที่สามารถชำระหนี้ได้กระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯและปริมณฑล สะท้อนให้เห็นปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยอยู่กับคนในวงกว้าง