สภาอังสนา หรือ Angsana Council บริษัทเบน แอนด์ คัมพานี (Bain & Company) และธนาคารดีบีเอส ซึ่งเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศสิงคโปร์ ได้ร่วมกันเปิดเผยรายงานมีชื่อว่า Navigating High Winds: Southeast Asia Outlook หรือ การจับทิศทางปัจจัยท้าทายกับมุมมองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน พบว่า แนวโน้มของภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งในภาพรวม และแต่ละ 6 ประเทศชั้นนำในอาเซียนในช่วง 10 ปีข้างหน้า ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยอยู่ในระหว่าง 2024-2034 นั้น มีความแตกต่างชัดเจน
ในทศวรรษหน้าระหว่าง 2024-2034 นั้น เศรษฐกิจอาเซียนของ 6 ชาติชั้นนำนั้นจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีเฉลี่ยที่ระดับ 5.1% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในช่วงระหว่างปี 2020-2023 ที่เฉลี่ย 2.6% อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบย้อนหลังกับช่วงทศวรรษระหว่าง 2010-2019 พบว่า เศรษฐกิจของ 6 ชาติชั้นนำในอาเซียนขยายตัวเฉลี่ยต่ำกว่า 0.2% จากในช่วงยุคดังกล่าวที่เติบโตเฉลี่ยที่ระดับ 5.3%
เมื่อจัดอันดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้ง 6 ชาติชั้นนำอาเซียนโดยเฉลี่ยในทศวรรษหน้า พบว่า อันดับ 1 เวียดนาม 6.6% อันดับ 2 ฟิลิปปินส์ 6.1% อันดับ 3 อินโดนีเซีย 5.7% อันดับ 4 มาเลเซีย 4.5% อันดับ 5 ไทย 2.8% และอันดับสุดท้าย สิงคโปร์ 2.5% นั่นหมายถึงเศรษฐกิจประเทศไทยขยายตัวเฉลี่ยรั้งอันดับรองสุดท้าย ซึ่งอยู่อันดับ 5 สะท้อนถึงเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้ง 6 ประเทศที่ระดับ 5.1% มากถึงเกือบ 1.9 เท่า นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ในปัจจุบันขยายตัวเฉลี่ยต่ำกว่าเศรษฐกิจเวียดนามถึงกว่า 2.3 เท่า ซึ่งเวียดนามมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของอาเซียน นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังจะขยายตัวเฉลี่ยต่ำกว่าเศรษฐกิจมาเลเซียถึงกว่า 1.6 เท่า ซึ่งมาเลเซียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของอาเซียน
รายงานดังกล่าว ยังเปิดเผยให้เห็นว่า เส้นทางจาก 10 ปีที่ผ่านมาในช่วงระหว่างปี 2010-2019 หรือถึงก่อนเกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 อย่างเต็มรูปแบบในปี 2020 นั้น เศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตต่ำกว่าทั้งค่าเฉลี่ยการขยายตัวของทั้ง 6 ชาติ ซึ่งอยู่ที่ 5.3% แต่เศรษฐกิจไทยโตแค่ระดับ 3.6% ที่สำคัญในช่วงยุคทศวรรษนั้น เศรษฐกิจไทยเติบโตรั้งสุดท้ายใน 6 ชาติชั้นนำอีกด้วย โดยอันดับ 1 เวียดนาม 6.6% อันดับ 2 ฟิลิปปินส์ 6.4% อันดับ 3 อินโดนีเซีย 5.4% อันดับ 4 มาเลเซีย 5.4% อันดับ 5 สิงคโปร์ 5.0% และอันดับสุดท้ายที่ 6 ไทย 3.6%
ที่น่าสนใจที่สุด พบว่า เมื่อแยกภาวะเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ระหว่างปี 2020-2023 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดถึง 4 ปีนั้น เศรษฐกิจประเทศไทยเฉลี่ยเท่ากับศูนย์ ซึ่งเป็นเพียงประเทศเดียวใน 6 ชาติเศรษฐกิจชั้นนำที่มีตัวเลขจีดีพีเป็น 0 โดยอันดับ 1 เวียดนาม 4.6% อันดับ 2 อินโดนีเซีย 3.0% อันดับ 3 สิงคโปร์ 2.7% อันดับ 4 มาเลเซีย 2.5% อันดับ 5 ฟิลิปปินส์ 2.3% และอันดับสุดท้ายที่ 6 ไทย 0% ที่สำคัญ การเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจ 6 ชาติชั้นนำในอาเซียนอยู่ที่ระดับ 2.6% ขณะที่เศรษฐกิจไทยอยู่ที่ระดับ 0%
รายงานว่า Navigating High Winds: Southeast Asia Outlook หรือ การจับทิศทางปัจจัยท้าทายกับมุมมองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ระบุมุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจประเทศไทยว่า ในช่วงทศวรรษหน้านั้น เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมบริการการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ จะเป็น 2 แรงผลักดันสำคัญที่ต้องรักษาไว้ ด้านโครงสร้างพื้นฐานของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ความแข็งแรงของเอกชนในไทยนั้นมีกลุ่มบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่ที่เติบโตในระดับภูมิภาค เช่น ปตท. เอสซีจี ทียู(ไทยยูเนียน) เป็นต้น
แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายอย่างสูงของเศรษฐกิจประเทศไทยกลับมีหลายด้าน เช่น ความไม่มีเสถียรภาพ และความไม่แน่นอนการเมืองในประเทศ โครงสร้างประชากรของไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัยรวดเร็วและมีสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน การเกิดของประชากรลดลง สร้างผลกระทบไปยังกำลังซื้อภายในประเทศ และเกิดผลกระทบต่อหลายธุรกิจ