ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การศึกษาของไทยมีหลายประเด็นที่ภาครัฐคงต้องให้ความสำคัญในการวางแผนแก้ไขอย่างจริงจัง ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่นับวันจะสูงขึ้น เมื่อค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีชื่อเสียงจะมีการแข่งขันที่สูง หรือโรงเรียนที่มีหลักสูตรพิเศษอย่างภาษาต่างประเทศ หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้เกิดช่องว่างทางการศึกษามากขึ้น
คุณภาพการศึกษาของไทยที่ลดลง สะท้อนผ่านดัชนีการวัดความสามารถด้านความรู้ระดับประเทศหรือ PISA ซึ่งจะมีผลระยะยาวต่ออนาคตของบุตรหลาน และตลาดแรงงานไทย ด้านทัศนคติการเรียนต่อระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีลดลง จากผลสำรวจพบว่าผู้ปกครองเกือบครึ่ง (49% ของกลุ่มตัวอย่าง) เห็นด้วยกับบุตรหลานที่เริ่มมองว่าการเรียนจบปริญญาตรีหรือสูงกว่าไม่สำคัญต่อการสมัครงานในอนาคต ซึ่งส่วนใหญ่มองว่าอาชีพอิสระหาเงินได้มากกว่า และปัจจุบัน มีหลายคนที่ประสบความสำเร็จและสร้างรายได้จากการใช้เทคโนโลยี ในการสร้างรายได้จากการขายของออนไลน์ การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) และการสร้างรายได้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมีผลต่อตลาดแรงงานในระยะข้างหน้า
ดังนั้น เพื่อยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย ให้นักเรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้ที่เท่าเทียม และเตรียมทักษะความพร้อมให้กับนักเรียน ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้น อาทิ 1. การจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา 2. การพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไป 3. การยกระดับโรงเรียนอาชีวะศึกษาด้วยการเพิ่มงบประมาณในด้านการวิจัยและพัฒนา และ 4. การพัฒนาและยกระดับความรู้ใหม่ๆ (Upskill และ Reskill) ให้กับบุคลากรผู้สอน รวมถึงการเพิ่มบุคลากรครูผู้สอน