ทรัมป์เอฟเฟคคาดชะลอเศรษฐกิจโลก 2 ปีติดตั้งแต่ 2025-2026 พลิกขยายตัวขึ้นในปี 2027 ตลาดเงินและดอกเบี้ยอาจตึงตัวมากขึ้น 

SCB EIC ได้วิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายทรัมป์2.0 ต่อเศรษฐกิจโลกโดยอาศัยสมมติฐานชุดนโยบายของสหรัฐฯ ตามการวิเคราะห์ล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในรายงาน World Economic Outlook (WEO) รอบเดือน ต.ค. 2024 มาใช้ในการคำนวณผลกระทบดังกล่าว สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกนั้น IMF (WEO Oct24) กำหนดสมมติฐานนโยบาย ทรัมป์ 2.0 และศึกษาผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกผ่าน 5 ช่องทาง คือ

(1) นโยบายขึ้นภาษีนำเข้า : สหรัฐฯ ยุโรป และจีน เพิ่มภาษีนำเข้าระหว่างกัน 10 pp. และสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น 10 pp. โดยประเทศอื่นจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าตอบโต้กลับอีกด้วย สินค้าที่ได้รับผลกระทบครอบคลุม 25% ของมูลค่าการค้าโลก คิดเป็นสัดส่วนกว่า 6% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก โดยจะเริ่มส่งผลลบต่อเศรษฐกิจโลกตั้งแต่กลางปี 2025 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลงรวม 0.3 pp.ในช่วงปี 2025-2030

(2) ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก :นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศต่าง ๆ จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม โดยการลงทุนในสหรัฐฯ และยุโรปจะลดลงราว 4% เทียบกับกรณีไม่มีนโยบายทรัมป์ชุดนี้ ขณะที่จีนและประเทศอื่น ๆ จะได้รับผลกระทบราวครึ่งหนึ่งของสหรัฐฯ สำหรับเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบทางลบตั้งแต่กลางปี 2025 และผลจะทยอยหมดไปในปี 2027

(3) นโยบายลดภาษี : สหรัฐฯ ต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษีนิติบุคคล หรือ Tax Cuts and Jobs Act (TCJA) ไปอีก 10 ปีจนถึงปี 2034 หลังมาตรการเดิมจะหมดอายุในช่วงกลางปี 2025 ซึ่งจะทำให้ภาษีเงินได้จากธุรกิจสหรัฐฯ ลดลงรวม 4% ของ GDP ในช่วงเวลาดังกล่าว ผลกระทบสุทธิต่อเศรษฐกิจโลกจะเป็นบวกรวม 0.1 pp. ในช่วงปี 2025-2030 ตามผลบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นสำคัญ แม้เศรษฐกิจประเทศอื่นจะได้รับผลกระทบทางลบ เพราะสูญเสียความสามารถในการแย่งชิงเม็ดเงินลงทุนโดยเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ

(4) นโยบายกีดกันผู้อพยพ : สหรัฐฯ และยุโรปมีแนวโน้มกีดกันผู้อพยพมากขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2025 ส่งผลให้กำลังแรงงานสหรัฐฯ และยูโรโซนลดลง 1% และ 0.75% ภายในปี 2030 ตามลำดับ เนื่องจากผู้อพยพเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปในช่วงที่ผ่านมา จึงส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจโลกรวม 0.2 pp. ในช่วงปี 2025-2030

(5) ภาวะการเงินโลกตึงตัวขึ้น : ภาวะการเงินโลกมีแนวโน้มตึงตัวขึ้น จากผลกระทบทางลบและความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะปรับสูงขึ้นตามเงินเฟ้อและหนี้ภาครัฐของประเทศต่าง ๆ ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมตราสารหนี้ภาครัฐและภาคเอกชนประเทศต่าง ๆ สูงขึ้น โดย (1) Sovereign premiums ในตลาดเกิดใหม่ (ยกเว้นจีน) เพิ่มขึ้น 50 bps (basis point) (2)Corporate premiums เพิ่มขึ้น 50 bps ในจีนและประเทศพัฒนาแล้ว และเพิ่มขึ้น 100 bps ในประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ และ (3) Term premiums เพิ่มขึ้น 40 bps ในสหรัฐฯ และ 25bps ในยูโรโซน ทั้งนี้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะเป็นลบแต่ผลจะเริ่มทยอยหมดไปในปี2028

จากผลศึกษาของ IMF ข้างต้น เศรษฐกิจโลกจะเริ่มได้รับผลลบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ตั้งแต่ปี 2025 หลังทยอยประกาศชุดนโยบาย เศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะเติบโตลดลง 0.8 pp. สำหรับปี 2026 จะลดลง 0.4 pp. แต่ในปี 2027 เศรษฐกิจโลกจะเติบโตเพิ่มขึ้น 0.2 pp. เทียบกับกรณีไม่มีนโยบายชุดนี้ ตามความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าที่ทยอยลดลงและปัจจัยฐานต่ำ หากพิจารณาผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจโลกในระยะปานกลางจะพบว่า ชุดนโยบายทรัมป์ 2.0 จะกดดันให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลงรวม 0.4 pp. เทียบกับกรณีไม่มีนโยบายชุดนี้ 

โดย SCB EIC ประเมินว่า ผลกระทบของนโยบายทรัมป์ต่อเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเป็นลบทั้งในปีหน้าและในระยะปานกลาง เนื่องจากโลกจะได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันและความผันผวนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยตรง ขณะที่ผลบวกของนโยบายลดภาษี TCJA จะเกิดขึ้นแค่ในสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อเงินเฟ้อโลกยังไม่แน่นอน

สำหรับผลกระทบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้น SCB EIC ประเมินว่า ผลกระทบสุทธิของนโยบายทรัมป์ 2.0 ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีหน้ามีแนวโน้มเป็นลบ แต่นโยบายยังมีความไม่ชัดเจนสูง ขึ้นกับผลสุทธิของความแตกต่างของระยะเวลาและขนาดของการใช้นโยบายที่จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ (เช่น นโยบายลดภาษี TCJA) และนโยบายที่จะเป็นผลลบเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ (เช่น การขึ้นภาษีนำเข้า การกีดกันผู้อพยพ) รวมถึงมาตรการตอบโต้ทางการค้าจากประเทศต่าง ๆ อีกทั้งชุดนโยบายยังมีไม่ความไม่แน่นอนในด้านระยะเวลาอยู่บ้าง ในเบื้องต้นประเมินว่าโดยนโยบายเหล่านี้จะมีแนวโน้มเริ่มทยอยส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตั้งแต่ในช่วงกลางปี 2025 

อย่างไรก็ดี ผลกระทบของนโยบายทรัมป์ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะปานกลางค่อนข้างชัดว่าจะเป็นลบ นอกจากนี้ ชุดนโยบายทรัมป์จะมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงขึ้นจนอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ยได้น้อยลงกว่าแนวโน้มเดิมที่เคยประเมินไว้ และส่งผลกดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่มเติม

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles